ThaiPublica > เกาะกระแส > คิดก่อนค้ำ ระบุหนี้ กยศ. ยอดผู้ค้ำ 2.5 ล้านราย เป็นพ่อ – แม่ 85% ญาติ 14% ครูแค่ 0.17%

คิดก่อนค้ำ ระบุหนี้ กยศ. ยอดผู้ค้ำ 2.5 ล้านราย เป็นพ่อ – แม่ 85% ญาติ 14% ครูแค่ 0.17%

31 กรกฎาคม 2018


คิดก่อนค้ำ บทเรียน “ครูวิภา บานเย็น” กรณีค้ำประกันเงินกู้ให้ลูกศิษย์ที่ไม่มาชำระหนี้คืน กยศ. กำลังบานปลาย เพราะนอกจากครูวิภาแล้ว ยังมีครูผู้ค้ำประกันรายอื่นๆ ถูกดำเนินคดี บางรายถูกฟ้องล้มละลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมบังคับคดีและราชกิจจานุเบกษา ไม่พบข้อมูลว่าคุณครูรายดังกล่าวถูกศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลด้านผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมจากระบบ e-Studentloan ระหว่างปีการศึกษา 2551-2560 มีผู้ค้ำประกันทั้งหมด 2,548,086 ราย แบ่งเป็น มารดาบิดา 85% ญาติพี่น้อง 14% และครูอาจารย์ 0.17%

ส่วนความคืบหน้าของคดีครูวิภา บานเย็น นายชัยณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้เหลือลูกศิษย์ที่ครูวิภาค้ำประกันและอาจถูกบังคับคดีจำนวน 17 ราย ในจำนวนนี้มี 5 รายได้มาปิดบัญชีเงินกู้เรียบร้อยแล้ว และอีก 3 รายขอชำระบางส่วน ส่วนที่เหลืออีก 9 รายทยอยติดต่อเข้ามา เชื่อว่าจะสามารถติดตามหนี้ได้ทั้งหมด โดยจะไม่มีการบังคับคดี

  • คิดก่อนค้ำประกัน บทเรียน “ครูวิภา บานเย็น” – ล่าสุด กยศ. เพิกถอนคำสั่ง “ยึดทรัพย์”
  • สำหรับกรณีที่ข่าวแจ้งว่ามีผู้กู้บางรายที่ครูวิภาค้ำประกันเป็นข้าราชการ แต่ทำไมจึงไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ กยศ. ขอชี้แจงว่า สำหรับผู้กู้ตามข่าวที่อยู่ระหว่างบังคับคดี และยังมีภาระหนี้สินกับ กยศ. นั้น กยศ. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่ถือครองข้อมูลแล้ว ไม่พบว่าบุคคลตามข่าวเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนแต่อย่างใด ส่วนผู้กู้รายที่สามารถดำเนินการบังคับคดีได้นั้น เนื่องจาก กยศ. ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นอกจากผู้ค้ำประกันที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น กยศ. จึงได้ดำเนินการยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน

    ที่ผ่านมา กยศ. ได้มีมาตรการในการติดตามหนี้สินจากผู้กู้ยืม โดยขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีวิธีการส่งหนังสือแจ้งภาระหนี้ครั้งแรกให้ผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกทราบเพื่อไปชำระหนี้ และส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้กู้ยืมทุกรายที่ครบกำหนดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไปเพื่อไปชำระหนี้

    หากผู้กู้ยืมผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง กยศ. จะดำเนินการส่งหนังสือติดตามทวงถามหนี้ค้างไปยังผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ ส่ง SMS หรือข้อความเสียง (สำหรับรายที่ กยศ. มีหมายเลขโทรศัพท์) รวมถึงติดตามหนี้ทางโทรศัพท์เพื่อเจรจาให้ลูกหนี้ชำระหนี้

    หากมีการติดตามทวงถามโดยวิธีการต่างๆ แล้ว ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ จนผู้กู้มีหนี้ค้างชำระหลายงวด กยศ. จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน โดยยื่นฟ้องผู้กู้ยืมต่อศาลที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน

    ทั้งนี้ เมื่อถึงวันนัดพิจารณา หากผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมาศาล กยศ. จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โอกาสในการผ่อนชำระหนี้ต่อไปอีกเป็นเวลา 9 ปี และหากผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่มาศาล ศาลจะดำเนินการสืบพยานและมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว กยศ. จะดำเนินการติดตามให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันชำระหนี้ หากผู้กู้และผู้ค้ำประกันขอผ่อนชำระหนี้ กยศ. จะพิจารณาให้โอกาสในการผ่อนชำระ แต่หากยังไม่ชำระหนี้ กยศ. จะดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

    สำหรับขั้นตอนในการบังคับคดี กยศ. จะขอศาลในการส่งคำบังคับไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยจะสืบหาทรัพย์สินที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และขอหมายบังคับคดีต่อศาลเพื่อส่งให้กรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน เพื่อนำมาขายทอดตลาดต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ทาง กยศ. ได้ประสานงานกับกรมบังคับคดีในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ตามคำพิพาษาที่ถูกยึดทรัพย์ผ่อนชำระหนี้ได้อีกภายในระยะไม่เกินสามปี หรือภายในระยะเวลาที่ กยศ. และลูกหนี้ตกลงกัน เพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้ และงดการขายทอดตลาดไว้ก่อน เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้น กยศ. จะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์สินดังกล่าว

    ปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ กยศ. มีอำนาจขอข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้ กยศ. สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเพื่อให้ติดตามหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ กยศ. มีอำนาจในการแจ้งหักเงินเดือนของผู้กู้ผ่านองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนของข้าราชการกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรกแล้ว และจะดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดในลำดับถัดไป โดยในส่วนของภาคเอกชนจะเริ่มดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนในต้นปีหน้าเป็นต้นไป

    ส่วนผู้กู้ยืมที่ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้รับเงินเดือนผ่านนายจ้าง กยศ. จะดำเนินการติดตามหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ และติดตามโดยวิธีการอื่นๆ ในมาตรฐานเดียวกับที่สถาบันการเงินทั่วไป เพื่อให้ได้เงินกลับคืนสู่กองทุนและนำไปใช้หมุนเวียนในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษารุ่นหลังต่อไป