ข่าวดี! สำหรับนักเรียน นักศีกษา ที่กำลังจะกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อศึกษาต่อทั้งในระดับปริญญาตรี และอาชีวศึกษาระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 (5 ปีการศึกษา) หากเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นที่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และวิชาชีพสาขาขาดแคลน เมื่อเรียนจบจะได้รับการพิจารณาปรับลดเงินต้น 30 – 50% และจ่ายดอกเบี้ยไม่เกิน 0.5% ต่อปี (ปกติคิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี)
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ผ่าน กยศ. โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษา เห็นความสำคัญของสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย 1)อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2)อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3)อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ 3 อุตสาหกรรมหลัก สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (3 โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์
โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2562 – ปีการศึกษา 2566) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
-
1.โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับปริญญาตรี โดยผู้กู้ยืมเงินที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นนิสิตและนักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษา หรือ กำลังจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนด กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.5 และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30
-
2.โครงการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ในระดับอาชีวศึกษา โดยผู้กู้ยืมเงินที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนด กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.5 และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50
“กรณีผู้กู้ยืมเงินไม่สำเร็จการศึกษา หรือ สำเร็จการศึกษาไม่ตรงตามสาขาที่กำหนดไว้ หรือ ผิดนัดชำระหนี้ จะไม่ได้รับส่วนลดเงินต้น และจะต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ กยศ. กำหนด โดย กยศ. จะพิจารณา กำหนดสถานศึกษาและสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม คาดว่าจะมีนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 150,000 คน โดยรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาชดเชยให้กับกยศ. ประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท”นายลวรณ กล่าว