หลังจากที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนซึ่งปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นครั้งแรก โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินงานใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การโอนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตามที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน 5 ปี รวมถึงแนวทางการขอรับทุนประเดิมและเงินอุดหนุน ปีงบประมาณ 2561-2562 โดยให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เพื่อให้ทันต่อการเริ่มดำเนินงานของกองทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2561 นี้
พลอากาศเอก ประจิน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของกองทุนนั้นต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เกี่ยวกับการจัดตั้งและแนวทางในการดําเนินงานของกองทุน กสศ. อย่างเคร่งครัด และรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงทิศทางการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยต้องไม่ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสมทบเงินเดิม เพิ่มเติมสิทธิ์ใหม่ ให้เกิดความเสมอภาค เน้นช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด – 3 ปี จำนวน 770,000 คน กลุ่มเด็กอนุบาล จำนวน 610,000 คน กลุ่มนักเรียนประถม-มัธยมต้น จำนวน 1,800,000 คน กลุ่มนักเรียน ม.ปลาย/ปวช. จำนวน 360,000 คน กลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา จำนวน 670,000 คน กลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไป จำนวน 150,000 คน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ
“วิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ยั่งยืนมีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ต้องปฏิรูประบบให้ได้ ภารกิจเร่งด่วนสำคัญในช่วงปีงบประมาณ 2561 กองทุน กสศ. จึงให้น้ำหนักกับการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data ของกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา มากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมข้อมูลความยากจนและด้อยโอกาสของครอบครัว สถานศึกษาในทุกมิติ รองรับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐทั้ง 6 กระทรวง (ศธ., มท., สธ., พม., กค., รง.) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ ช่วยเหลือถูกคน ตรงจุด โปร่งใสตรวจสอบได้อย่างเต็มที่”
หลังจากนี้คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนชุดใหม่ จำนวน 17 คน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยล่าสุดทราบว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้นำเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ก็จะสามารถพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของกองทุน รวมถึงระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จต่อไป คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้ กองทุนจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ
ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า กอปศ. ได้เสนอร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 3 ฉบับ ให้แก่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อทราบและดำเนินการใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561
“กอปศ. คาดหวังจะเห็นกองทุนเริ่มทำงานได้โดยเร็วภายในปีงบประมาณ 2561 เพราะในขั้นตอนกว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ กอปศ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ต่างเห็นตรงกันว่า กองทุนจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศได้เพราะเป็นการแก้ไปถึงต้นเหตุของปัญหา ณ วันนี้กฎหมายให้อำนาจมาแล้ว มีความจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนับสนุนให้กองทุนสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และกลไกที่เกื้อหนุนให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว แน่นอนว่าในอนาคต การหาช่องทางระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ในระยะแรก รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนสามารถแสดงศักยภาพขององค์กรซึ่งจะนำมาสู่ความน่าเชื่อถือในการทำงานต่อไป”
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคนที่หนึ่ง กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการพร้อมทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะโอนงบประมาณและเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะที่ผ่านมา สสค. ซึ่งตอนนี้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสำนักงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีผลการทำงานวิจัยร่วมกับ สพฐ. เรื่องการคัดกรอง นักเรียนยากจนที่ช่วยให้ สพฐ. สามารถคัดกรองและจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนได้เป็นรายบุคคลได้สำเร็จ โดยนอกจากงบประมาณในส่วนนี้ สกศ. ควรมีแผนงานในการระดมทุนที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ไม่ให้ทับซ้อนกับงบประมาณของประเทศในส่วนอื่น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ศธ. และ กสศ. จะหารือร่วมกันถึงแนวทางการขยายขอบเขตความร่วมมือต่อไปในอนาคต