ThaiPublica > คอลัมน์ > เกรด 2.00 ของ กยศ. กับ Moral Hazard

เกรด 2.00 ของ กยศ. กับ Moral Hazard

3 มีนาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

บางครั้งความตั้งใจดีก็ไม่เป็นผลดังตั้งใจหากแต่เป็นไปในทางตรงข้ามด้วยซ้ำ เช่น “พ่อแม่รังแกฉัน” (เลี้ยงดูลูกดังไข่ในหินจนพึ่งตนเองไม่ได้) รถมีประกันภัยชนิดครอบคลุมทุกอย่างทำให้ ขับรถอย่างสุ่มเสี่ยง ให้เงินช่วยเหลือแรงงานยามว่างงานจนสบายไม่คิดจะทำงาน ฯลฯ ตัวอย่างหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดผลในลักษณะเดียวกันก็คือเงื่อนไขของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้

เศรษฐศาสตร์มีคำศัพท์เฉพาะกรณีข้างต้นโดยเรียกว่า Moral Hazard (อันตรายอันเกิดจากศีลธรรม) ขอขยายความด้วยตัวอย่างเรื่องวินัยเด็ก เราเคยเห็นพ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกตอนเป็นเด็กอย่างสบาย ๆ กลัวลูกลำบาก ปล่อยให้ตื่นสาย อยากทำอะไรก็ปล่อยให้ทำตามใจ ดังนั้นจึงเติบโตมาอย่างที่เรียกว่า ‘ขาดวินัย’ เราพอมองเห็นชะตากรรมของเด็กเหล่านี้ตอนเป็นผู้ใหญ่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

ในทางตรงกันข้ามหากยอมให้ลูกลำบากบ้าง ต้องฝืนใจตนเองใน 10 ปีแรกของชีวิต เขาก็จะสบายไปตลอดชีวิตที่เหลือ แต่ถ้าสบายอย่างไร้วินัยตอนต้นชีวิตแล้วก็จะลำบากไปตลอดชีวิต

Moral Hazard เกิดขึ้นในกรณีของ กยศ. เมื่อมีประกาศออกมาเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาว่าจะให้กู้อีกแต่จะเข้มงวดเงื่อนไขการกู้ยืมโดยผู้กู้ยืมทั้งระดับมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 จึงจะกู้ได้ หลักเกณฑ์นี้ใช้กับผู้กู้ยืมรายใหม่และผู้กู้ยืมรายเก่าด้วยเพื่อเป็นการ “คัดกรองผู้กู้ยืม” ให้ได้คนมีคุณภาพสูงขึ้น การเลิกเรียนกลางคันจะได้น้อยลง หนี้เสียจะได้ลดลง อีกทั้งเข้าใจว่ามุ่งบีบให้ผู้กู้ยืมตั้งใจเรียนเพื่อจะได้เรียนจบอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้สถาบันการศึกษาจะได้ยกมาตรฐานตนเองให้สูงขึ้นด้วยเมื่อเด็กตั้งใจเรียนและมีคะแนนเฉลี่ยสูง

ที่มาภาพ : http://www.debatingeurope.eu/wp-content/uploads/2013/12/student-loans2.jpg
ที่มาภาพ : http://www.debatingeurope.eu/wp-content/uploads/2013/12/student-loans2.jpg

ก่อนที่จะชี้ให้เห็นว่ากรณีนี้เป็น Moral Hazard และจะเกิดปัญหาขึ้นอย่างไร ขอท้าวความเรื่องราวของ กยศ. สักเล็กน้อย

กยศ. เป็นไอเดียของคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยประกาศเป็นกฎหมายในช่วงรัฐบาลนายกฯ ชวน หลีกภัย แต่เริ่มมีการใช้กันในสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ใน พ.ศ. 2542 ความตั้งใจก็คือต้องการช่วยให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ขาดทุนทรัพย์ได้มีโอกาสศึกษาในระดับสูงขึ้น ผลปรากฏว่า กยศ. ได้รับความนิยมมาก แต่ปัญหาหนักอกก็คือหนี้เสีย

สรุปเงื่อนไขการกู้ยืมก็คือครอบครัวต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 200,000 บาท สามารถกู้ยืมได้ทั้งค่าเล่าเรียน (สูงสุด 50,000 ถึง 70,000 บาท ต่อปีแล้วแต่สาขา) และค่าใช้จ่ายส่วนตัว (เดือนละ 2,200 บาท) หรือกู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ละสถาบันการศึกษาจะได้รับการจัดสรรจำนวนทุนกู้ยืมในแต่ละปี

อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมร้อยละ 1.5 ผ่อนได้สูงสุด 15 ปี มีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เสมือนได้เปล่า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ อย่างไรก็ดี ผู้กู้ยืมต้องขอกู้ยืมใหม่ทุกปี (กู้ยืมเลื่อนชั้นปี)

ตรงจุดนี้แหละที่เป็นปัญหา กล่าวคือ กยศ. ประกาศเงื่อนไขให้มีผลทันทีว่าผู้กู้ยืมต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.0 จึงจะกู้ปีใหม่นี้ได้ ไม่ว่าตอนนี้ได้กู้ยืมแล้วและกำลังเรียนชั้นมัธยมปลายปีที่ 4 ขึ้น 5 หรือเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ขึ้นปี 2 หรือขึ้นปีใด หรือกู้ใหม่เอี่ยมก็ตาม

ผลที่เกิดขึ้นมีหลายประการจนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเกิดการเคลื่อนไหวไม่พอใจในหมู่นักเรียนและนักศึกษาจนที่ประชุมอธิการบดี (สมาคมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐ) และ สสอท. (สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย) ได้ยื่นหนังสือต่อ กยศ. ขอให้ทบทวนเงื่อนไขที่ ‘หวังดี’ นี้

ผู้เขียนเห็นว่าเงื่อนไขนี้จะมิได้ช่วย ‘คัดกรองผู้กู้ยืม’ ได้ดีขึ้นดังตั้งใจ มิได้ทำให้หนี้เสียส่วนหนึ่งอันเกิดจากการเลิกเรียนกลางคันลดน้อยลง ไม่ทำให้นักศึกษาตั้งใจเรียนมากขึ้น และสถาบันการศึกษาจะไม่มีมาตรฐานสูงขึ้นจนทำให้คุณภาพการศึกษาอุดมศึกษาดีขึ้น กล่าวคือจะเกิดผลในทางตรงกันข้าม

เมื่อนักศึกษาเกรดต่ำเผชิญหน้ากับการ ‘ต้องสู้’ เพื่อให้ได้คะแนนเฉลี่ยสะสมสูงกว่า 2.00 เพื่อให้สามารถกู้ยืมได้ในปีการศึกษาหน้าคือกลางปี 2558 คาดเดาได้ว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งจะช่วยนักศึกษาให้มีเกรดสูงขึ้น ‘อย่างจงใจ’ (‘เกรดเฟ้อ’ เหมือนที่ได้ ‘เฟ้อ’ มาแล้วของชั้นมัธยมปลายเมื่อครั้งมีการเอามาใช้ประกอบคะแนนแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย และครั้งนี้ก็จะ ‘เฟ้อ’ อีกเพราะผู้กู้รายใหม่จากชั้นมัธยมปลายก็ต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมเกิน 2.0 เช่นกัน) มหาวิทยาลัยไทยนั้นมีความอัศจรรย์สามารถเสกเงินหายได้ เรื่องแค่นี้นั้นเป็นเรื่องเล็กมาก

วิชามารทั้งหลายจะถูกขุดขึ้นมาใช้ในภาค 2 ของปีการศึกษา 2557 หรือขณะนี้เพื่อไม่ให้สูญเสียนักศึกษาของตน และใช้กันอย่างยั่งยืนในปีต่อ ๆ ไปเพื่อช่วยนักศึกษา การกระทำเยี่ยงนี้จะเกิดขึ้นแน่นอนหากใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) ช่วยวิเคราะห์

กฎเกณฑ์ใหม่จะช่วยคัดกรองนักศึกษาได้อย่างไร เพราะพวกที่ได้กู้ไปแล้วได้ถูก‘คัดกรอง’ รอบแรกไปแล้ว ถ้าจะ ‘คัดกรอง’ แบบนี้อีกก็เปรียบเสมือนการ ‘คัดออก’ มากกว่า

เมื่อปล่อยเกรดก็จะเกิดบัณฑิต ‘สุก ๆ ดิบ ๆ’ ที่เป็นผลพวงจากการช่วยนักศึกษา เขาจะมีงานทำจนสามารถผ่อนชำระได้อย่างไร คุณภาพสถานศึกษาและคุณภาพของการศึกษาของชาติก็จะไม่ดีขึ้น และหนี้เสียก็อาจหนักขึ้นด้วยซ้ำเพราะต้องถูกออกกลางคัน นี่คือกรณีของ Moral Hazard คือตั้งใจดีแต่ผลเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ผลเสียของประกาศนี้ที่สำคัญก็คือ

(1) ไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาที่ปกติก็ไม่ค่อยมีเงินจนต้องมากู้อยู่แล้ว เพราะประกาศมีผลทันทีกับนักศึกษาที่อยู่ในระบบการกู้อยู่แล้ว (เช่น ขณะนี้เรียนอยู่ปี 1 และจะขอกู้ยืมอีกเมื่อเลื่อนขึ้นปี 2) ควรบอกเขาตั้งแต่ก่อนกู้ครั้งแรกจึงจะเหมาะสม

(2) นักศึกษาในสาขาเรียนยากกับสาขาเรียนง่ายก็จะถูกกระทำอย่างไม่เท่าเทียมกัน นักศึกษาจึงมีทางโน้มเลือกเรียนสาขาสังคมที่เรียนง่ายกว่า และล้นประเทศอยู่แล้ว

(3) มหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานไม่ยอมช่วยนักศึกษาให้มีเกรดถึง 2.00 ด้วยวิชามาร ในสายตานักศึกษาก็จะเป็นมหาวิทยาลัยใจยักษ์ และเมื่อถูกแรงกดดันมากขึ้นก็มีทางโน้มสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิชามารในที่สุดเพื่อรักษาจำนวนนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบาทว์เช่นนี้ก็จะมีจำนวนมากขึ้นโดยปริยาย

กล่าวโดยสรุปก็คือความตั้งใจดีก็จะไม่เป็นผลดังหวัง และจะทำให้หนี้เสียสูงขึ้น ประการสำคัญคือไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาที่อยู่ในระบบกู้อยู่แล้วเพราะไม่ได้บอกเขาก่อน ถ้าหากยังต้องการเงื่อนไข 2.00 ก็ควรใช้กับผู้กู้ยืมรายใหม่เท่านั้นแต่ก็จะมีข้อเสียอีกหลายประการ

เกิดมาจนก็แย่อยู่แล้ว ยังจะถูกกระทำที่ไม่เป็นธรรมอีก อย่าซ้ำเติมเขาเลยครับ นักเรียนเรียนดีแต่ยากจนนั้นมีน้อยมาก เขาได้เรียนมาถึงตรงนี้ก็เก่งมากแล้ว ปล่อยให้ลูกหลานเขาได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากบ้างเถอะ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 มี.ค. 2558