ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เด้ง! ศุลกากร 12 คน ตั้ง กก. สอบเก็บภาษี “แม่ค้าพรีออเดอร์” หิ้วสินค้าแบรนด์เนมนำเข้า ต่ำเกินจริง

เด้ง! ศุลกากร 12 คน ตั้ง กก. สอบเก็บภาษี “แม่ค้าพรีออเดอร์” หิ้วสินค้าแบรนด์เนมนำเข้า ต่ำเกินจริง

5 มีนาคม 2018


สืบเนื่องมาจากปัจจุบันมีผู้ค้าจำนวนมากนำเข้า “สินค้าแบรนด์เนม” หลากหลายชนิด ไม่ว่ากระเป๋า รองเท้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอาง โดยใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์เป็นช่องทางในการจำหน่าย และเปิดให้บรรดาลูกค้าและบรรดา “เซเลบ” ทั้งหลาย สั่งจองซื้อสินค้าล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า “พรีออเดอร์” ขนสินค้าแบรนด์เนมผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งรายการสินค้าส่วนใหญ่ได้เสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมที่นำเข้าและเสียภาษีถูกต้อง

จากสถิติการนำเข้าสินค้าแบรนด์ของกรมศุลกากร พบว่า ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 มีตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประเทศผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ สั่งสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,538.55 ล้านบาท เสียภาษีนำเข้าที่อัตรา 30% ของมูลค่า และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ให้กรมศุลกากร รวมเป็นเงิน 707.28 ล้านบาท ขณะที่ผู้ค้าอื่นๆที่ไปหิ้วสินค้าจากต่างประเทศมาขาย ไม่มีต้นทุนค่าภาษี และไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของการบริหารสต็อกสินค้า เพราะเป็นการขายแบบพรีออเดอร์ ขนเข้ามาตามใบสั่งจอง

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ช่วงปี 2559 “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เคยทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตามท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งเข้มงวดกวดขันกับผู้ที่ลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศทำหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมศุลกากรขอให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด แต่กลับปล่อยให้มีผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร
ที่มาภาพ: www.mof.go.th/

ต่อมาในช่วงต้นปี 2560 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร มีคำสั่งลับแต่งตั้ง “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลการซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์เนมจากร้านค้าออนไลน์ที่ต้องสงสัยว่ามีการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมมาขายในลักษณะพรีออเดอร์มาวิเคราะห์ โดยเฉพาะช่วงเวลานัดส่งมอบสินค้า พร้อมกับการตรวจค้นข้อมูลสถิติการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีความถี่ผิดปกติ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ถึงเดือนมกราคม 2561 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาในการจ่าย “อากรปากระวาง” (การจัดเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าอากาศยานหรือด่านศุลกากรประจำช่องตรวจ “มีของต้องสำแดง”) เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถจำแนกผู้โดยสารออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

    1. กลุ่มผู้เดินทางชาวไทยที่มีความถี่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยต่อเดือนสูง โดยมีจุดหมายปลายทาง ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น หรือ บางเดือนมีข้อมูลการเดินทางตลอดทั้งเดือน
    2. กลุ่มผู้เดินทางที่มีความถี่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่เดินทางเกือบทุกเดือน โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร
    3. กลุ่มผู้เดินทางชาวจีนที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง มีการเดินทางเกือบทุกเดือน
    4. กลุ่มผู้เดินทางชาวอินเดียและชาวศรีลังกา ที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง มีการเดินทางเกือบทุกเดือนและมีการจ่าย “อากรปากระวาง” ทุกครั้งที่เดินทางเข้ามา

จากการตรวจสอบและประมวลผลข้อมูลระบบการสำรองที่นั่ง กับบันทึกการเดินทางของผู้โดยสาร (Passenger Name Record: PNR) ในรูปแบบของ Big data นำมาสู่การจับกุมผู้โดยสาร 3 ราย ที่เดินทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกระเป๋าเดินทาง 7 ใบ เดินผ่านช่องแดง เพื่อสำแดงรายการสินค้าและชำระค่าอากรปากระวางคนละ 8,000 บาท รวม 3 คน เป็นเงิน 24,000 บาท

หลังจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรออกใบเสร็จรับเงินค่าอากรปากระวางให้เรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารทั้ง 3 เข็นกระเป๋าออกจากช่องแดง มุ่งหน้าไปยังอาคารที่จอดรถ ปรากฏว่า “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” เข้าตรวจค้นกระเป๋าทั้ง 7 ใบ บริเวณห้องโถงประตูทางออกที่ 3 ชั้น 3 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พบสินค้าประเภทกระเป๋า ผ้าพันคอ ยี่ห้อ Longchamp, Gucci, Louis Vuitton, Coach และรองเท้ายี่ห้อ Adidas รวมทั้งสิ้น 329 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านบาท ประเมินอากรที่ต้องชำระประมาณ 300,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรรับชำระอากรปากระวางจากผู้ต้องหาทั้ง 3 รายเพียง 24,000 บาท หรือประมาณ 8% ของภาษีปากระวางที่ต้องชำระให้กับรัฐ

“หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” จึงอายัดสินค้าทั้งหมดเป็นของกลาง นำส่งให้สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดำเนินการตามกฎหมายศุลกากร และนำตัวผู้ต้องหา 3 รายส่งสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป กรมศุลกากรจึงสั่งให้สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำเรื่องชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด

ต่อมา สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำรายงานชี้แจงต่อกรมศุลกากรว่า ได้มีการตรวจสอบสินค้าแบรนด์เนมทั้งหมดแล้วเป็นสินค้าที่ซื้อจากร้าน Outlet ซึ่งได้รับส่วนลดกว่า 50% เนื่องจากเป็นสินค้าตกรุ่น รวมมูลค่า 100,000 บาท จึงเป็นการคำนวณภาษีที่มีความสมเหตุสมผลและถูกต้องแล้ว

ขณะที่กรมศุลกากรมีความเห็นว่า หากนำสินค้าทั้ง 327 ชิ้น มาเปรียบเทียบกับสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อและรุ่นเดียวกันที่วางจำหน่ายบนสื่อออนไลน์ พบว่าแต่ละชิ้นมีราคามากกว่า 5,000 บาท จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่สินค้า 327 ชิ้นจะมีมูลค่ารวม 100,000 บาท หรือเฉลี่ย 300 บาทต่อชิ้น ตามที่สำแดงแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ต้องหาทั้ง 3 รายได้นำใบเสร็จที่ซื้อสินค้ามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อเสียภาษีปากระวางเพียง 73 ชิ้น จากจำนวนของกลางทั้งหมด 327 ชิ้น รวมมูลค่าสินค้าตามใบเสร็จ 8,608.08 ยูโร หรือประมาณ 300,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ที่ได้รับส่วนลดจากร้านค้าและหักภาษีมูลค่าเพิ่มจากต่างประเทศ (Tax Refund) ที่ได้รับคืนแล้ว โดยสินค้าทั้ง 73 ชิ้นที่ปรากฏตามใบเสร็จมีมูลค่ารวมมากกว่าราคารวมที่สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิชี้แจงต่อกรมศุลกากร และเมื่อนำของกลางอีก 254 ชิ้น (ไม่มีใบเสร็จ) มาคำนวณมูลค่าตามราคาของที่เหมือนกัน และของที่คล้ายกัน (กระบวนการพิสูจน์ราคา) ที่มีใบเสร็จจากร้านค้า ปรากฏว่าของที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายลักลอบนำเข้ามามีมูลค่ารวมภาษีอากรที่ต้องชำระ 1.4 ล้านบาท

ผลจากการจับกุมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการลักลอบนำสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง โดยเก็บภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงเพียง 7-8% ของภาษีที่ต้องชำระ และมีการสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ ทางกรมศุลกากรจึงรายงานเรื่องนี้ต่อ “คณะกรรมการจริยธรรม” รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล และสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและออกใบเสร็จภาษีปากระวางให้กับผู้โดยสารที่เดินทางผิดปกติ และเข้าช่องแดง (มีสินค้าที่ต้องสำแดง) เพื่อจ่ายค่าภาษีปากระวางต่ำกว่าความเป็นจริง จำนวน 12 คน ออกจากสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริง หากพบการกระทำในเชิงทุจริตให้เสนอกระทรวงการคลังและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป