วันที่ 25 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำสั่งอายัดทองคำมูลค่า 179 ล้านบาท ของนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ตามข้อเสนอของนายภักดี โพธิศิริ ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับขบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเท็จ 4.3 พันล้านบาท นอกจากทองคำแล้ว นายสาธิตยังมีทรัพย์สินอื่นๆคิดเป็นมูลค่ารวม 600 ล้านบาท ไม่ได้แสดงรายการในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินส่ง ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้งน.ส.สุภา ปิยะจิตติ (ก่อนมาเป็นกรรมการป.ป.ช.เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง)เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน อดีตอธิบดีกรมสรรพากรร่ำรวยผิดปกติ โดยจะเชิญนายสาธิตมาชี้แจงข้อกล่าวหาและคาดว่าสรุปสำนวนการสอบเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ สรุปผลสอบว่ามีข้าราชการสรรพากรต่ำกว่าซี 9 เกี่ยวข้องกับขบวนการโกง VAT แค่ 18 คน ขณะนั้นไม่มีชื่อนายสาธิต จึงส่งสรุปสำนวนคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เท่านั้น ไม่ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามารับทำคดีนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และไปติดตรวจทรัพย์สินมูลค่า 600 ล้านบาทที่นายสาธิตซุกซ้อนไว้ตามที่ต่างๆ มาได้อย่างไร
หากย้อนกลับไปดูที่มาของคดีนี้ เริ่มจากนายถนอมศักดิ์ แก้วละออ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง (ตส.) เปรียบเสมือนตำรวจกองปราบของกรมสรรพากร ไปสุ่มตรวจกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กในหลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขอคืน VAT ผิดปกติ ณ ขณะนั้นคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท จึงทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบเบื้องต้นเสนออธิบดีกรมสรรพากรวันที่ 20 มีนาคม 2556 เพื่อพิจารณาและสั่งการ ปรากฏว่านายสาธิต สั่งให้ ตส. ยุติการตรวจสอบภาษีกลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกับสรรพากรภาค 5 ที่กำลังตรวจสอบผู้ส่งออกกลุ่มนี้ เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ภายในกรมสรรพากร
ช่วงต้นปี 2556 มีข้าราชการกรมสรรพากรกลุ่มหนึ่งที่รักความเป็นธรรม ทำจดหมายร้องเรียนพร้อมกับแนบหลักฐาน โดยสรุปผลการตรวจสอบภาษีกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กของ ตส. ร้องเรียนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตหลายแห่ง อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, รองปลัดกระทรวงการคลัง, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้หน่วยงานเหล่านี้เข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากรหลายคนเข้าไปเอื้อประโยชน์ในการคืน VAT ให้กลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง
จากนั้น กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีโกง VAT มูลค่า 4.3 พันล้านบาท 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการที่เข้าไปมีส่วนร่วมรู้เห็นกับขบวนการโกง VAT และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ
หลังจากกระทรวงการคลังสรุปผลสอบข้อเท็จจริงเสร็จเรียบร้อย นายประสิทธิ์ นำสรุปผลการสอบสวนส่งให้ DSI ไปขยายผลการสอบสวน จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงทำหนังสือประสานไปยัง DSI ขอสรุปสำนวนคดีและรายชื่อข้าราชการสรรพากร 18 คนที่เกี่ยวข้องคดีนี้ นำมาทำการตรวจสอบเส้นทางเงินเพื่อสืบค้นผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการโกงภาษีของชาติ เบื้องต้นพบข้าราชการซี 9 กรมสรรพากร 2 ราย คือ นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ 27 และนายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ (ชื่อเดิมนายศุภกิจ ริยะการ) อดีตข้าราชการ ซี 9 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (เขตบางรัก) พัวพันขบวนการโกง VAT คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้ง 2 พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสุวัฒน์และครอบครัวมูลค่า 19 ล้านบาท ฐานร่ำรวยผิดปกติ
ขณะที่กระทรวงการคลังเร่งสรุปผลสอบวินัยข้าราชการสรรพากร 18 คน ส่งให้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง) ที่มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ลงโทษทางวินัย วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มีคำสั่ง “ไล่ออก” นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ (ชื่อเดิมนายศุภกิจ ริยะการ) เป็นรายแรก พร้อมกับออกคำสั่งให้ นายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร ออกจากราชการ จากนั้น ที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง วันที่ 22 มิถุนายน 2558มีคำสั่ง “ไล่ออก” นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ นักวิชาการเชี่ยวชาญ สำนักงานสรรพากรภาค 7 และนายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานี โดยไม่ได้รับเงินบำนาญ เป็นชุดที่ 2
ก่อนหน้านี้นายสมหมายเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า “เคยเรียกอดีตอธิบดีกรมสรรพากรมาสอบถาม สรุปว่าผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติคืน VAT คือสรรพากรพื้นที่ โดยที่อธิบดีกรมสรรพากรไม่ได้ลงนามอนุมัติ ผมก็อยากทราบเหมือนกันว่ามีข้าราชการคนไหนเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการโกง VATบ้าง”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า “หากนายสาธิตไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ นายสมหมายจะได้เรียกตัวมาใช้งาน เนื่องจากนายสาธิตเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังที่มีความรู้และประสบการณ์ชนิดที่เรียกว่าหาตัวจับได้ยาก”
ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างบุคคลากรในกระทรวงการคลังมีการเปลี่ยนแปลง ภายหลังนายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เสียชีวิต ทำให้ตำแหน่งซี 10 กระทรวงการคลังว่าง 2 ตำแหน่ง มีกระแสข่าวโยกย้ายซี 10 กระทรวงการคลังปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2558 พร้อมกับมีกระแสข่าวลือกันไปกันมา จนถึงขั้นเด้งปลัดกระทรวงการคลังที่กำลังจะเกษียณในเดือนกันยายน 2558 ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับย้ายอธิบดีกรมบัญชีกลางกลับมานั่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการ เพื่อเปิดทางให้นายสาธิตกลับมานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมจัดเก็บรายได้อีกครั้ง
แต่แล้วความพยายามในการผลักดันนายสาธิตกลับกรมสรรพากรเป็นอันต้องยุติ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 สั่งพักงานข้าราชการ 45 คน ปรากฏว่ามีชื่อนายสาธิต รังคสิริ รวมอยู่ด้วย กระแสข่าวโยกย้ายซี 10 กระทรวงการคลัง เป็นอันต้องปิดฉากลง และคาดว่านายสมหมาย ภาษี จะเสนอโผโยกย้ายซี 10 กระทรวงการคลังให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติเดือนสิงหาคม 2558นี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง เพื่อลงโทษทางวินัยข้าราชการสรรพากรที่เข้าไปพัวพันคดีโกง VAT แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายสมหมายแจ้งกับอธิบดีในสังกัดกระทรวงการคลังที่เข้าร่วมประชุมว่า “ก่อนที่ผมจะเดินลงมาประชุม อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ มีข้าราชการสรรพากรหนึ่งในผู้กล่าวหาพัวพันคดีโกง VAT มายืนดักรอผมอยู่ที่หน้าห้องทำงาน ชั้น 3 กระทรวงการคลัง หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีโกง VAT สารภาพผิดกับผมทุกประเด็นที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการโกง VAT ซึ่งตนและผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีกหลายคนได้เดินทางไปให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. และเนื่องจากคณะอนุกรรมการไต่สวนรับปากว่าจะกันไว้เป็นพยานได้รับการลดหย่อนโทษอาญา ตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงตัดสินใจแจ้งเบาะแส โดยให้ไปตรวจสอบเส้นทางเดินเงินตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการฉ้อโกงภาษีของรัฐครั้งนี้ จึงมาขอให้ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ลดหย่อนโทษทางวินัย”
ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมาสารภาพผิดกับนายสมหมาย ตามกฎ ก.พ. คดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง ต้องไล่ออกสถานเดียว สุดท้ายที่ประชุม อ.ก.พ. จึงมีมติให้ไล่ออกข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด และสั่งให้กรมสรรพากรดำเนินคดีทางแพ่งด้วย
ล่าสุด นายสมหมาย ภาษี ยอมรับว่า ขณะนี้ทราบตัวการที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้แล้ว แต่ตอนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ปลัดกระทรวงการคลังนำสรุปผลการสืบสวนคดีนี้มารายงานให้ตนรับทราบไม่มีชื่อบุคคลระดับอธิบดีเข้าไปเกี่ยวข้อง ต่อมา DSI และ ป.ป.ช. นำสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังไปขยายผลการสอบสวนเพิ่มเติม ขณะนี้คงต้องรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. ส่งมาเมื่อไหร่ ตนก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที
“สาธิต รังคสิริ” เส้นทางชีวิตที่พลิกผัน
ปูมหลังนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ฟื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดแพร่ เกิดในตระกูลดัง มีพี่ชายเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายสาธิตจบมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Atlanta
กลับจากเมืองนอก นายสาธิตเข้ารับราชการครั้งแรกที่กองนโยบายและแผนภาษี กรมสรรพากร โดยมี ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการกองฯ และนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล เป็นหัวหน้าส่วน
ขณะนั้น ประเทศไทยมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากระบบภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม นายสาธิตได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาหาแนวทางในการนำระบบภาษี VAT มาใช้แทนภาษีการค้า นายสาธิตจึงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอย่างดี และจากการที่นายสาธิตจบการศึกษาจากต่างประเทศ ทุกครั้งที่ประเทศไทยมีการเจรจาภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ ก็ต้องมีนายสาธิตร่วมคณะเดินทางไปด้วย
นอกจากรับราชการเป็นงานหลักแล้ว นายสาธิตยังมีรายได้พิเศษจากการรับงานบรรยายเทคนิคการวางแผนภาษีให้กับบริษัท ห้างร้านต่างๆ รวมทั้งเขียนตำรา 108 กลวิธีในการหลบเลี่ยงภาษี เป็นอาชีพเสริมเรื่อยมา จนมาถึงปี 2536 นายสาธิตและเพื่อนร่วมกันก่อตั้งบริษัท บางกอก เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยนายสาธิตมานั่งเป็นกรรมการบริษัทเต็มตัวเมื่อปี 2538 ทำธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษากฎหมายและวางแผนภาษีอากร สร้างเนื้อสร้างตัว จนนายสาธิตมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง
นายสาธิตได้รับการสนับสนุนที่ดีจากฝ่ายการเมือง ทำให้อาชีพรับราชการของนายสาธิตเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 นายสาธิตได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงการคลังแค่ 3 เดือน วันที่ 1 ตุลาคม 2552 นายสาธิตได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมสรรพากร หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ถือเป็นช่วงขาลงของนายสาธิต
ต้นปี 2556 มีจดหมายร้องเรียนร่อนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบหลายแห่ง กล่าวหานายสาธิตมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่เอื้อประโยชน์กลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กที่ขอคืน VAT มากผิดปกติ วันที่ 26 มิถุนายน 2556 กระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สรุปผลการสอบสวนไม่มีชื่อนายสาธิตเกี่ยวข้องกับขบวนการโกง VAT แต่ ครม. มีมติวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ย้ายนายสาธิตกลับมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง นายสาธิตสามารถประคองตัวผ่านพ้นมาได้ จนกระทั่งมาถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ ใช้ ม.44 สั่งพักราชการนายสาธิต และ ป.ป.ช. ตรวจพบนายสาธิตร่ำรวยผิดปกติ จึงมีคำสั่งอายัดทองคำมูลค่า 179 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558