ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ร้องอธิบดีกรมศุลฯ สอบ “นายตรวจไปรษณียภัณฑ์” รับสินบน “คุณนายหมู” เจ้าแม่แบรนด์เนม

ร้องอธิบดีกรมศุลฯ สอบ “นายตรวจไปรษณียภัณฑ์” รับสินบน “คุณนายหมู” เจ้าแม่แบรนด์เนม

7 มีนาคม 2018


นอกจากกรณีการจับกุม “แม่ค้า พรีออเดอร์” 3 ราย ขน “สินค้าแบรนด์เนม” 327 ชิ้น มูลค่า 1.1 ล้านบาท จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เดินผ่านช่องแดง (มีของต้องสำแดง) สนามบินสุวรรณภูมิ สำแดงราคาสินค้ารวม 1 แสนบาท เสีย “ภาษีปากระวาง” แค่ 24,000 บาท ต่ำกว่าความเป็นจริง 92% ของภาษีปากระวางที่ต้องชำระประมาณ 300,000 บาท และด้วยหลักฐานภาพถ่ายของกลาง ใบเสร็จรับเงินจากการซื้อสินค้าที่ประเทศฝรั่งเศส ข้อมูล “Big Data” และภาพถ่ายวีดีโอจากกล้องวงจรปิดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ต้องลงนามในคำสั่งกรมศุลกากรที่ 63/2561 ย้ายเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกจากพื้นที่ พร้อมแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

ที่สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือที่เรียกว่า “ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บรรดา “แม่ค้าพรีออเดอร์” ใช้ในการสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีหนังสือร้องเรียนทำถึงอธิบดีกรมศุลกากร, ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.), ผู้อำนวยการส่วนบริการไปรษณีย์แจ้งวัฒนะ และสื่อมวลชน กล่าวหาเจ้าหน้าที่ศุลกากรกลุ่มหนึ่งในสังกัดส่วนบริการไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.) เกี่ยวข้องกับการรับสินบน หรือ “เงินใต้โต๊ะ” จากผู้นำเข้ารายใหญ่ ชื่อ “คุณนายหมู” เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าแบรนด์เนม กระเป๋า รองเท้า นาฬิกาแบรนด์ดัง และสินค้าที่สั่งซื้อผ่านออนไลน์ของคุณนายหมู โดยตีราคาสินค้าแบบเหมารวม เหมือนกับผู้นำเข้าทั่วไป ส่วนผู้นำเข้ารายอื่นๆ ถูกตรวจสอบและประเมินราคาสินค้าอย่างเข้มงวด ล่าสุดนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบส่งให้อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณา (อ่านรายละเอียดเอกสารแนบด้านล่าง)

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าหลังจากกรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กรมสรรพากรเตรียมส่งร่างกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อเสนอ ครม. ต่อไป โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ 1. หากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกราย 2. ธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้า และการโอนเงิน หากเกิดขึ้นในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร โดยยึดโดเมนเป็นหลัก 3. ยกเลิก การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท

“ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 10,000 บาท แต่ผู้ขายใช้เทคนิคแตกบิลออกเป็น 10 ใบ ใบละ 1,000 บาท เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายการ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม ก็ต้องยกเลิก การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์มีอัตราการเติบโตสูงมาก จากปี 2559 มีอัตราการขยายตัว 10% ปี 2560 เพิ่มเป็น 17% มีผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากรแล้ว 3 แสนราย ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ขณะนี้กฎหหมายไทยยังไม่สามารถตามไปเก็บภาษีได้” นายประสงค์กล่าว