ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช.แจง 15 คดีมหากาพย์ เล็งปิดจ็อบคดี “โรลส์รอยซ์ – ปาล์มอินโดฯ” ในปีนี้

ป.ป.ช.แจง 15 คดีมหากาพย์ เล็งปิดจ็อบคดี “โรลส์รอยซ์ – ปาล์มอินโดฯ” ในปีนี้

14 มิถุนายน 2021


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เลขาธิการ ป.ป.ช.แจงความคืบหน้า 15 คดีมหากาพย์ เตรียมสรุปสำนวนคดี “โรลส์รอยซ์” เดือนหน้า – “ปาล์มอินโดฯ” ภายในเดือน ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงความคืบหน้า 15 คดีสำคัญของป.ป.ช.ผ่านระบบ Zoom ว่า เริ่มจากคดีแรก คือ คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศปี 2556 คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนเสร็จไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า “ไม่มีมูล ให้เรื่องนี้ตกไป”

คดีที่ 2 คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

คดีที่ 3 คดีทุจริตโครงการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝ่ายแมว) คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ส่วนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีการรับรองมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ หลังจากรับรองมติที่ประชุมเสร็จเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้จะมอบหมายให้โฆษก ป.ป.ช.แถลงข่าวในรายละเอียดของคดีนี้ รวมทั้งชี้แจงเหตุผลถึงกรณีที่นักการเมืองไม่ถูกชี้มูลความผิด

คดีที่ 4 คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563

คดีที่ 5 คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ภาค2 คดีนี้มีนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 71 ราย และป.ป.ช.ได้มีการไต่สวนสอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 90 ราย คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา แต่อาจจะล่าช้าไปเล็กน้อยเนื่องจากว่ามีผู้ถูกกล่าวหาและพยานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2565

คดีที่ 6 คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 87 ราย พยานประมาณ 75 ราย ทาง ป.ป.ช.ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว คาดว่าคดีนี้จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2565 เช่นเดียวกับคดีข้าว

คดีที่ 7 คดีเงินทอนวัด ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทยอยแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอิสาน รวมคดีทั้งสิ้น 98 คดี ในจำนวนนี้ทำเสร็จแล้ว 52 คดี ที่เหลือ 46 คดี ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 แต่เนื่องจากในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด – 19 จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานของ ป.ป.ช. ทำให้คดีล่าช้ากว่าที่กำหนดในแผนงานอยู่ประมาณ 5 คดี แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนกันยายน 2564

คดีที่ 8 คดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่า 6 คดีนี้มีทั้งหมด 33 คดี สรุปสำนวนเสร็จแล้ว 7 คดี ที่เหลืออีก 26 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564

คดีที่ 9 คดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอล คดีนี้มีทั้งหมด 28 คดี เสร็จแล้ว 7 คดี เหลืออีก 21 คดี มีผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งหมด 85 ราย ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาแล้ว และได้แจ้งให้ ป.ป.ช.เรียกผู้ถูกกล่าวหามารายงานตัว

คดีที่ 10 คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง (รถหรู) คดีนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแล้วอยู่ในขั้นตอนสืบพยาน

คดีที่ 11 คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดิน เพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย คดีนี้เป็นคดีมหากาพย์ที่สาธารณชนให้ความสนใจ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาในเบื้องต้น 9 ราย ต่อมาในระหว่างที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน ก็พบว่ามีพนักงานบริษัทเอกชนร่วมกระทำความผิดด้วยอีก 7 ราย รวมแล้วคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 16 ราย ซึ่งความคืบหน้าของคดีนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลการไต่สวน แต่เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ถูกร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.สะดุดไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 แน่นอน

คดีที่ 12 คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777-200 ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “คดีโรลส์-รอยซ์” คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 25 ราย ซึ่งคดีนี้เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นนาน แต่เมื่อก็มีผู้มาร้องเรียน ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

คดีที่ 13 คดีทุจริตการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขารวด-ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 29 ราย ขณะนี้ได้มีการสรุปสำนวนคดีเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564

คดีที่ 14 คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินตำบลเขากะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 24 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปสำนวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.พยามสรุปสำนวนให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ และเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเดือนกรกฎาคม 2564

คดีที่ 15 คดีทุจริตการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียนและป่าเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา คดีนี้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ราย ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้สรุปสำนวนเสร็จเรียบร้อยและถูกบรรจุในวาระที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตที่สำคัญในปี 2561 ได้แก่ คดีโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ติดตั้งโคมไฟประดับตกแต่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร หรือ “Motif of light” ,คดีเงินทอนวัด ซึ่งเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557-2558 แต่ ป.ป.ช.มาชี้มูลความผิดเมื่อปี 2561 , คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจค้นหายาเสพติด อัลฟ่า 6 ของสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก , คดีก่อสร้างอาคารสถานีและโครงสร้างเหล็กติดระบบเรดาร์ปฐมภูมิ ณ บริเวณท่าอากาศยานหัวหินของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย

ปี 2562 ก็จะมีคดีทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่ง (โรงพัก) , คดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 163 แห่ง (แฟลตตำรวจ) ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดนักการเมืองที่เกี่ยวข้องไปแล้ว , คดีเงินทอนวัด , คดีทุจริตก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล และคดีทุจริตเรียกรับเงินของผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2560

ส่วนปี 2563 ก็จะมีคดีการทุจริตเรียกรับเงินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช , คดีการจัดจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศแก่สาธารณะชน และภายใต้ชื่อโครงการ “Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020” คดีนี้ได้มีการชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนแล้วตามที่ได้แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้ , คดีการใช้สถานะ หรือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเค้าไปก้าวก่าย แทรกแซง แต่งตั้ง โยกย้าย นายถวิน เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ , คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา , คดีการอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบ , คดีการจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน(care set) ให้กับผู้สูงอายุสูงเกินจริงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน , คดีการละเว้นไม่อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และคดีการจัดซื้อพัสดุโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลการบินพร้อมอุปกรณ์ในเครื่องบินโดยมิชอบของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดนี้เป็นผลงานการปราบปรามทุจริตในช่วง 3 ปีทีผ่านมา

ผลงานด้านการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ในปี 2561 ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย แบ่งเป็น กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีเท็จส่งไป 372 คดี และกรณีร่ำรวยผิดปกติ 1 คดี มูลค่า 896.5 ล้านบาท (กรณีนายเกษม นิมมลรัตน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่)

ปี 2562 ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย แบ่งเป็นกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชี หรือ ยื่นบัญชีเท็จ 47 คดี และกรณีร่ำรวยผิดปกติ 1 คดี มูลค่า 216 ล้านบาท คือ กรณีนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานประพุทธศาสนาแห่งชาติ

ปี 2563 ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย แบ่งเป็นกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชี หรือ ยื่นบัญชีเท็จ 22 คดี และกรณีร่ำรวยผิดปกติ 4 คดี มูลค่า 746.6 ล้านบาท ได้แก่ กรณีนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 575.1 ล้านบาท , พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ ผู้บังคับการกองพลาธิการ และสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 166.4 ล้านบาท , นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส 4.9 ล้านบาท และนายสมพงษ์ ธรรมเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลลำพญา 91,179 บาท

ผลงานด้านการป้องกันการทุจริต ได้แก่ การเสนอมาตรการ ความเห็น ข้อเสนแนะ เพื่อป้องกันการทุจริต ตามมาตรา 32 จำนวน 10 มาตรการ , การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม ความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , การประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) , การสนับสนุนให้ประชาชน และหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามมาตรา 33 และการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ตามมาตรา 35 เช่น โครงการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , ท่าอากาศยานภูเก็ต , ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมคดีทั้งหมดในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2564) มีเรื่องร้องเรียน หรือ เรื่องกล่าวหาที่เข้ามาใหม่ทั้งสิ้น 4,920 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 1,403 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ประมาณ 8,000-9,000 คดี ซึ่งตามกฎหมายของป.ป.ช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 โดยคาดว่าดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายประมาณ 90% แต่เนื่องจากขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด อาจมีบางคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจเข้ามาให้การได้ อาจมีล่าช้าอะไรไปบ้าง แต่ก็จะพยายามให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 หรือภายในเดือนกันยายน 2564

อ่าน ความคืบหน้า 15 คดีสำคัญ-ผลงานของป.ป.ช.ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพิ่มเติม