ในต้นเดือนกรกฎาคมปี 2556 ช่วงนั้นมีคดีดังๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายคดีอาทิ ข่าวทุจริตจำนำข้าว ข่าวรถหรู ข่าวเณรคำ และข่าวสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ต่างเป็นคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ รวมทั้ง“คดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)”เป็นหนึ่งในประเด็นข่าวใหญ่ที่ถูกส่งขึ้นมาแย่งชิงพื้นที่ข่าวกับคดีสำคัญๆในขณะนั้นด้วย
โดยคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น รับจดหมายร้องเรียนว่ามีผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรในหลายพื้นที่ใช้อำนาจหน้าที่คืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จให้กับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ต่อจากนั้นวันที่ 21 มิถุนายน 2556 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการสรรพากรที่เข้าไปพัวพันกับขบวนการโกง VAT ให้ได้ข้อสรุปภายใน 60 วัน
วันที่ 22 สิงหาคม 2556 กระทรวงการคลัง แถลงข่าว “สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น” พบข้าราชการกรมสรรพากรทั้งหมด 18 ราย คืน VAT เป็นเท็จให้กับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็ก โดยแบ่งเป็นข้าราชการสรรพากรซี 9 จำนวน 4 ราย และระดับปฏิบัติการ หรือต่ำกว่าซี 9 อีก 14 ราย จากนั้นนายอารีพงศ์ได้ดำเนินการดังนี้ 1) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการซี 9 2) ส่งเรื่องให้อธิบดีกรมสรรพากรสอบวินัยข้าราชการระดับปฏิบัติการ 14 ราย 3) สรุปผลสอบข้อเท็จจริงพร้อมรายชื่อข้าราชการ 18 ราย ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขยายผลการสอบสวน
เวลาผ่านไป 6 เดือน ปรากฏว่า การดำเนินคดีกับข้าราชการสรรพากร 18 ราย ที่พัวพันกับขบวนการโกง VAT ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทำหนังสือถึงนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าคดีโกง VAT ว่า “คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา โดยอัยการมีความเห็นให้สั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 5 ราย ส่วนข้าราชการกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องคดีโกง VAT พนักงานสอบสวนของดีเอสไอสรุปสำนวนการสอบส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว สรุปว่ายังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้หนึ่งผู้ใดมีส่วนร่วม หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว หากในอนาคตพบว่ามีข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปเกี่ยวข้อง กรณีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้น ทางอีเอสไอจึงส่งสำเนารายงานผลการสอบสวนไปให้ ป.ป.ช. โดยที่ดีเอสไอไม่ได้มีการชี้มูลหรือกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใด”
“สำหรับข้าราชการกรมสรรพากรทั้ง 18 รายที่ถูกกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย นายรังสรรค์สอบถามความคืบหน้าของคดีกับคณะกรรมการสอบวินัยทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรมแล้ว คาดว่าจะสรุปผลการสอบสวนเร็วๆ นี้” แหล่งข่าวกล่าว