ThaiPublica > เกาะกระแส > ว่าด้วยกฎหมายพรรคการเมือง2560 สิ่งที่ “พรรคการเมือง” ต้องเดินตาม พร้อมกฎเหล็กสกัด กลุ่มทุน-ผู้มีบารมีนอกพรรค

ว่าด้วยกฎหมายพรรคการเมือง2560 สิ่งที่ “พรรคการเมือง” ต้องเดินตาม พร้อมกฎเหล็กสกัด กลุ่มทุน-ผู้มีบารมีนอกพรรค

19 ตุลาคม 2017


ปี่กลองการเมือง ได้เริ่มส่งเสียงขึ้นอีกครั้งหลังจากอยู่ในภาวะแห่งความเงียบงันมานาน 4 ปี

การประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 พร้อมจ่อปลดล็อกพรรคการเมือง ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำให้สนามการเมืองกลับมาคึกคัก

ด้วยเหตุเพราะกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้พรรคการเมืองอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจนิ่งเฉยได้

เพราะหากไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองนั้นๆ จะตกขบวนไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ทันในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560

พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม

พรรคการเมืองจำนวน 69 พรรค เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

บทเฉพาะกาล ได้กำหนดให้พรรคการเมืองเหล่านี้ที่เป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน ยังคงเป็นกรรมการการบริหารพรรคการเมือง และให้ถือว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีสมาชิกพรรคตามที่ปรากฏในทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมตามที่ได้แจ้งไว้ต่อนายทะเบียน โดยต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเป็นกรอบเวลาไว้ดังนี้

ดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่บังคับใช้

พรรคการเมืองจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างจากที่ปรากฏในทะเบียนสมาชิกของพรรคการเมือง โดยให้นายทะเบียนรับทราบภายใน 90 วัน ดำเนินการภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่บังคับใช้

พรรคการเมืองที่มีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกครบ 500 คนภายใน 180 วัน

จัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบ ในกรณีที่พรรคการเมืองมีเงินหรือทรัพย์สินอยู่แล้ว จะกันเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แยกไว้เป็นทุนประเดิมก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบพร้อมด้วยหลักฐานการกันเงินในระยะเวลาที่กำหนด

จัดให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีที่ พ.ร.บ. นี้บังคับใช้ใน 180 วัน และให้พรรคการเมืองแจ้งให้คณะกรรมการทราบ ทั้งนี้ หากยังค้างค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีก่อนๆ อยู่จำนวนเท่าไรให้เป็นอันพับไป แต่ภายใน 1 ปี พรรคการเมืองจะต้องจัดให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนเป็น 10,000 คน ภายใน 4 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้ เมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี ให้สมาชิกที่ไม่ได้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลง

ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง สำหรับปีแรกที่ พ.ร.บ. นี้บังคับใช้ พรรคการเมืองจะเรียกเก็บต่ำกว่าอัตราที่กำหนด (100 บาท) ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท

จัดให้มีการประชุมใหญ่ เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ และเลือกหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารพรรค ตามข้อบังคับของพรรคการเมืองที่แก้ไขใหม่ โดยการประชุมใหญ่นั้นจะต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 4 สาขา และมีสมาชิกของพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 250 คนเข้าร่วมประชุม โดยมีสิทธิลงคะแนนเสียงในการแก้ไขข้อบังคับพรรคและเลือกหัวหน้าพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคด้วย

จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองให้ครบถ้วน ในกรณีที่มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองโดยชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับเดิม ให้ถือว่าเป็นการจัดตั้งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ และให้แจ้งหนังสือยืนยันให้นายทะเบียนรับทราบ

ทั้งนี้พรรคการเมืองสามารถยื่นขอขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้ แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี หากพรรคการเมืองยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่ได้รับการขยายแล้ว ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป นอกจากนี้ ในระหว่างที่พรรคการเมืองยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบถ้วนนั้น พรรคการเมืองนั้นๆ ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ รวมถึงไม่สามารถรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองได้

สำหรับการพิจารณาขยายระยะเวลาตามที่พรรคการเมืองยื่นคำร้องมานั้น ให้นายทะเบียนที่มีอำนาจพิจารณาขยายเวลาได้ แต่ในกรณีที่นายทะเบียนไม่อนุญาต ให้เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ สามารถส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 จำนวน 70 พรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิก 2,895,954 คน มีสาขาพรรคการเมือง 175 สาขา รองลงมาคือ พรรคมหาชน สมาชิก 1,181,015 คน สาขาพรรค 5 สาขา, พรรคภูมิใจไทย มีสมาชิก 153,087 คน สาขาพรรค 5 สาขา, พรรคเพื่อไทย มีสมาชิก 134,834 คน มีสาขาพรรค 5 สาขา, พรรคประชากรไทย มีสมาชิก 69,852 คน สาขาพรรค 8 สาขา, และพรรคชาติพัฒนา มีสมาชิก 19,575 คน สาขาพรรค 4 สาขา

ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ พรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกมากย่อมบริหารจัดการยากมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการดำเนินการจัดเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เช่น ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ หากใน 4 ปี สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่กว่า 2.8 ล้านคนจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองไม่ครบจะส่งผลให้สมาชิกในส่วนนั้นๆ สิ้นสุดสมาชิกภาพลง

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยที่มีฐานสมาชิกจากพรรคไทยรักไทยกว่า 14 ล้านคน ได้ปรับเปลี่ยนแนวความคิดเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง หลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันมีเพียง 1.3 แสนคนเท่านั้น

ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีจำนวนสมาชิกไม่ถึง 500 คน ซึ่งตามข้อมูลพรรคการเมืองระบุว่ามีถึง 20 พรรคนั้น พรรคการเมืองเหล่านี้จะต้องดำเนินการให้มีสมาชิกพรรค 500 คน และเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 180 วัน นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองบางพรรคมีสิทธิที่จะล้มหายตายจากไปจากสารบบพรรคการเมืองไทย หากไม่สามารถหาสมาชิกและค่าบำรุงพรรคได้ตามที่กฎหมายกำหนด

พรรคการเมืองใหม่

กฎหมายกำหนดให้บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน จำนวน 500 คน มาร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง โดยบุคคลจำนวนนี้จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีข้อความดังต่อไปนี้ 1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด กรณีมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี 3. ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 4. อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 5. ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่น

โดยพรรคการเมืองจะต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ที่มาจากผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทนุประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

ทั้งนี้ ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องประชุมร่วมกันโดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน เพื่อกำหนดชื่อ ชื่อย่อ เครื่องหมายพรรคการเมือง คำประกาศอุดมการณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับ รวมทั้งเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองในทุกตำแหน่ง ซึ่งการประชุมจะต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และมติต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม

โดยหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียน พร้อมแนบหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อบังคับพรรคการเมือง ที่มีรายการต่างๆ เช่น มาตรฐานจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรค โดยมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องเทียบเคียงได้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ และการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง

รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท ทั้งนี้พรรคการเมืองอาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น บุคคลไม่น้อยกว่า 50 คน สามารถที่จะยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนไว้ก่อน แล้วดำเนินการรวบรวมผู้จัดตั้งพรรคการเมืองให้ได้ครบจำนวน 500 คนก็ได้ แต่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน จัดตั้งพรรคการเมืองภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับแจ้ง ไม่เช่นนั้นคำขอเป็นอันสิ้นผล

การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง

ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องดำเนินการต่อไปนี้

ดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี

จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา หรือ 4 สาขาภาคทั่วประเทศ โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 500 คนขึ้นไป และสาขาพรรคการเมืองนั้นๆ จะต้องมีคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองซึ่งประกอบไปด้วยหัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคไม่น้อยกว่า 7 คน

ทั้งนี้ ให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ในจังหวัดที่พรรคการเมืองนั้นๆ มีสมาชิกเกิน 100 คน และเป็นจังหวัดที่ไม่ได้ตั้งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสาขาของพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่นั้นๆ

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ส.ส.เขต

พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น โดยผู้สมัครจะต้องได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงด้วย

พรรคการเมืองต้องจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา และหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 4 สาขาที่มาจากภาคที่ต่างกัน ซึ่งพรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไว้ล่วงหน้าก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ได้

โดยการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองนั้นจะต้องใช้รูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ“ไพรมารีโหวต” โดยคณะกรรมการสรรหาต้องกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกได้รับทราบ จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง และส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้ง ก่อนที่จะจัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา โดยการประชุมสาขาพรรคจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ขณะที่การประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนได้ 1 คน และนำรายชื่อของผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกให้คณะกรรมการสรรหา ส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณาให้ความเห็นชอบ

หากกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบรายชื่อตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอนั้น ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่ส่งมาทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติเห็นชอบ แต่ถ้าที่ประชุมร่วมกันมีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด ให้มีการสรรหาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเปิดรับสมัคร

ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ให้กรรมการบริหารพรรค หัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เสนอรายชื่อ ต่อคณะกรรมการสรรหา จากนั้นตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 รายชื่อ โดยคำนึงถึงสัดส่วนของภูมิภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ก่อนที่จะส่งบัญชีรายชื่อไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

จากนั้นให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยสมาชิก 1 คน ลงคะแนนเลือกได้ไม่เกิน 15 รายชื่อ โดยการประชุมสาขาพรรคจะต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ส่วนตัวแทนประจำจังหวัดจะต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน และส่งคะแนนที่ได้ไปยังคณะกรรมการสรรหา เพื่อเรียงลำดับผลรวมของคะแนนทั้งหมด ซึ่งในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ในลำดับที่ 1 ส่งรายชื่อให้กรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ หากกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบให้ดำเนินการสรรหาใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องเตรียมการและปรับให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ แม้ว่าจะมีเค้าลางของความยุ่งยาก เพื่อที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

กฎเหล็กกฎหมายพรรคการเมือง
สกัด กลุ่มทุน-ผู้มีบารมีนอกพรรค

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ คือ ให้การเมืองเป็นสถาบันการเมืองมากขึ้น โดยขัดขวาง “กลุ่มทุน” และ “ผู้มีบารมีนอกพรรค” แทรกแซงการดำเนินกิจการของพรรคดังที่เกิดขึ้นในอดีต โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องดังนี้

ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียกรับ หรือยอมจะรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือในหน่วยงานของรัฐ

สำหรับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น กฎหมายระบุว่า ห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้ามาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือออกเสียงลงคะแนนในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

รวมไปถึง ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

บทบัญญัติดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองต่างเป็นกังวลกับคำว่า “ควบคุม ครอบงำ ชี้นำ” ว่านิยามของคำเหล่านี้เป็นการตีความกว้างหรือแคบมากน้อยเพียงใด เพราะบทลงโทษของการกระทำดังกล่าวถึงขั้นยุบพรรค

นอกจากนี้ ในส่วนรายได้ของพรรคการเมืองนั้น ได้กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งวัตถุประสงค์การบริจาค และแจ้งให้นายทะเบียนรับทราบด้วย

บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้พรรคการเมืองมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีไม่ได้ ขณะที่นิติบุคคล หากบริจาคให้พรรคการเมืองเกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่และผู้ถือหุ้นรับทราบด้วย

และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเกินกว่า 1 หมื่นบาทต่อวัน โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ในการเลือกตั้งต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายใน 7 วัน

ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย, นิติบุคคลต่างประเทศ, นิติบุคคลที่มีผู้ถือสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ 49, คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ รวมถึงวัด บริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้กับพรรคการเมือง หรือเข้าร่วมการระดมทุนของพรรค

พรรคการเมืองจะสิ้นสภาพเมื่อ…

ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ในหลายกรณี เช่น มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคการเมืองดําเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน

ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก

จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด นอกราชอาณาจักร

รับบริจาค เพื่อกระทําการหรือสนับสนุนการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

กระทําการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทําการอันเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับ แต่งตั้ง ให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือตําแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รับเงินบริจาค จากผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย, นิติบุคคลต่างประเทศ, นิติบุคคลที่มีผู้ถือสัญชาติไทยไม่ถึงร้อยละ 49, คณะบุคคลหรือนิติบุคคล ที่ได้รับทุนหรือเงินอุดหนุนจากต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกและสาขาพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดกัน หรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน

หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุด 2 มีนาคม 2561