ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางหลักเกณฑ์ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง เช็คยอดเก้าอี้ส.ส.หาย พรรคไหนอ่วมสุด

กางหลักเกณฑ์ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง เช็คยอดเก้าอี้ส.ส.หาย พรรคไหนอ่วมสุด

28 กันยายน 2018


กติกาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำนวนส.ส.เขตในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2562 หายออกจากสนามไป 25 คน

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ150 คน จากเดิมที่ส.ส.เขตมีจำนวน 375 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ได้กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 อันถือเป็นปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้ง โดยมีจำนวนราษฎร 66,188,503 คน คิดเป็นเฉลี่ยส.ส.1 คน เท่ากับ จำนวนราษฎร 189,110 คน

เมื่อเทียบกับจำนวนส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมี 23 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง โดยแบ่งตามรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีที่นั่งส.ส.เขตลดลงมากที่สุด คือ 10 คน ใน 10 จังหวัด จากเดิมมีส.ส. 126 คน เหลือ 116 คน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดที่มีส.ส.ลดลง ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ มีส.ส.จำนวน 6 คน ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2554 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่เดิมเป็นของพรรคเพื่อไทย(พท.)ทั้งหมด ปัจจุบันเขตเลือกตั้งลดลง ทำให้พื้นที่นี้มีส.ส.เหลือ เหลือ 5 คน , จ.ชัยภูมิ จากเดิมมีส.ส. 7 คน เป็นพื้นที่เดิมเป็นของพรรคภูมิใจไทย(ภท.) 1 ที่นั่ง ที่เหลือ 6 ที่นั่งเป็นของพท. โดยถูกลดจำนวน ส.ส.เหลือ 6 คน, จ.นครราชสีมา เดิมมีส.ส. 15 คน เป็นพื้นที่ที่มีส่วนแบ่งที่นั่งส.ส.จากหลายพรรคการเมือง เป็นของพรรคชาติพัฒนา(ชพน.) 3 ที่นั่ง พท.8 ที่นั่ง และ ภท. 3 ที่นั่ง ปัจจุบันส.ส.เหลือ 14 ที่นั่ง

จ.บุรีรัมย์ จากเดิม 9 คน เป็นพื้นที่เดิมเป็นของภท. 7 ที่นั่ง และพท. 2 ที่นั่ง ปัจจุบันเหลือ 8 คน , จ.ร้อยเอ็ด 8 คน พท.เป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมด ถูกปรับลดเหลือส.ส. 7 คน , จ.เลย เดิมมีส.ส. 4 คน เป็นของพท.ทั้งหมด ถูกปรับลดจำนวนส.ส. เหลือ 3 คน , จ.สกลนคร เดิมมีส.ส. 7 คน เป็นของพท.ยกจังหวัด ถูกปรับลดเหลือ 6 คน , จ.สุรินทร์ เดิมมีส.ส. 8 คน มีภท.สอดแทรกได้ 1 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นของพท.ทั้งหมด ถูกปรับลดเหลือ 7 คน , จ.อุดรธานี เดิมมีส.ส. 9 คน เป็นพื้นที่ของพท.ยกจังหวัด ปรับลดเหลือ 8 คน และจ.อุบลราชธานี เดิมมีส.ส. 11 คนเป็นพื้นที่ส่วนแบ่งของหลายพรรคการเมือง โดยเป็นของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) 3 ที่นั่ง พท.7 ที่นั่ง และ พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) 1 ที่นั่ง ปรับเหลือส.ส. 10 คน

ภาคเหนือ

ส.ส.ลดลง 3 คน จากเดิม 36 คน เหลือ 33 คน โดยจังหวัดที่มีส.ส.ลดจำนวน คือ จ.เชียงใหม่ จากเดิมมี 10 คน เป็นพื้นที่ของพท.ทั้งหมด ลดเหลือ 9 คน , เช่นเดียวกับ จ.แพร่ ที่จากเดิมมีส.ส. 3 คนเป็นของพท.ทั้งหมด ลดเหลือ 2 คน และ จ.อุตรดิตถ์ จากเดิมมีส.ส. 3 คน พท.ยกจังหวัด ลดเหลือ 2 คน

ภาคใต้

ส.ส.ลดลง 3 คน จากเดิมมีส.ส. 53 คน เหลือ 50 คน โดยจังหวัดที่มีส.ส.ลดลง คือ จ.กระบี่ เดิมมี 3 คน พื้นที่ของปชป.ยกจังหวัด ถูกปรับลดเหลือส.ส. 2 คน , เช่นเดียวกับ จ.ตรัง ที่มีส.ส. 4 คน เป็นที่นั่งของปชป.ทั้งหมด ลดเหลือ 3 คน และ จ.นครศรีธรรมราช 9 คน เป็นพื้นที่ของปชป.ทั้งหมด ลดเหลือ 8 คน

ภาคกลาง

ส.ส.ลดลง 6 คน จากเดิมมีส.ส. 82 คน เหลือ 76 คน ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ เดิมมี 6 คน เป็นของปชป. 1 คน พท.5 คน ลดเหลือ 5 คน , จ.นนทบุรี เดิมมีส.ส. 7 คน (แบ่งเขตปี 2557) ลดเหลือ 6 คน(เท่ากับที่นั่งเดิมในการเลือกตั้งปี2554) โดยพท.เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมทั้งหมด , จ.พระนครศรีอยุธยา 5 คน เป็นของพท.4 ที่นั่ง ชทพ. 1ที่นั่ง ลดเหลือ 4 คน , จ. สุพรรณบุรี 5 คน เป็นของชทพ. 4 ที่นั่ง พท. 1 ที่นั่ง ลดเหลือ 4 คน , จ.อ่างทอง 2 คน เป็นของชทพ.ทั้งหมด ลดเหลือ 1 คน และ จ.สระบุรี 4 คน เป็นของปชป. 1 คน ภท. 1 คน และ พท. 2 คน ลดเหลือ 3 คน

กรุงเทพมหานคร ลดลง 3 คน จากเดิม 33 คน เหลือ 30 คน เป็นพื้นที่ของปชป. 24 คน พท. 9 คน

แม้จำนวนที่หายไปของส.ส.เขตทั้ง 25 คน ดูเหมือนจะไม่สำคัญในมุมมองของคนทั่วไป แต่กระนั้นถือเป็น “เรื่องใหญ่” ของพรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเฉือนเก้าอี้ในพื้นที่ที่ได้รับชัยชนะแบบพับสนามถึง 8 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จำนวนส.ส.ที่่ได้ส.ส.ยกจังหวัดหายไป 3 คน

ยังไม่นับรวมกับการแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้นจากการสอดแทรกของ “ผู้เล่นหน้าเก่า” ในนามของพรรคการเมืองใหม่ในหลายพื้นที่ รวมไปถึง “ทางเลือกใหม่” จากคนหน้าใหม่ที่จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้น

นอกจากนี้ “ทุกเสียง” ที่เลือกส.ส.เขต ยังมีผลผูกผันกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เพราะต้องนำไปคำนวนจำนวนส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค

บรรดา “ขาใหญ่” พรรคการเมือง จึงออกมา “ดักคอ” การ “ขีดเส้น” แบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.ว่าต้องเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ไม่ให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

โดยขณะนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการออกแบบเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ ตามที่ระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งพ.ศ. 2561 กำหนดไว้ โดยระบุ ให้ผอ.กกต.ประจำจังหวัดพิจารณาแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตที่ใกล้เคียงกัน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ให้รวมอำเภอต่างๆเป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แต่ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกทั้งตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยก หรือ รวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้

อย่างไรก็ตามหากการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกัน หรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่มีราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้สะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุดแทน

โดยหลังจากได้เขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบแล้ว ผอ.กกต.ประจำจังหวัด จะต้องนำไปปิดประกาศเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัด และ พรรคการเมือง ซึ่งจะต้องแสดงรายละเอียดต่างๆ รวมถึงเหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตด้วย

จากนั้นหลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น ภายใน 3 วันให้ผอ.กกต.จังหวัด นำความเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน ประกอบการพิจารณาการแบ่งเขตเลอกตั้งของจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง และเสนอผลการพิจารณา โดยจะต้องรวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อย 3 รูปแบบ โดยจัดเรียงลำดับตามความเหมาะสมเสนอต่อกกต.ชุดใหญ่พิจารณา

ดังนั้นในขั้นสุดท้ายจึงอยู่ที่กกต.ชุดใหญ่ ว่าจะสามารถพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตใน 77 จังหวัดอย่างไร ให้เป็นไปตาม “เสียง” ที่ประชาชน และ พรรคการเมืองสะท้อนมา โดยยึดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้เขตเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับของทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งที่เรียกว่า “free and fair”