ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เด้ง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” พ้น กกต.- มติ ครม. อนุมัติ สินเชื่อคนจน เฟส 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 เด้ง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” พ้น กกต.- มติ ครม. อนุมัติ สินเชื่อคนจน เฟส 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

20 มีนาคม 2018


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยในวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2561 เรื่องให้กรรมการการเลือกตั้งยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ยุติการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เนื่องจากนายสมชัยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับกระบวนการและกําหนดการการเลือกตั้ง ด้วยถ้อยคําที่ไม่สมควร ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความสับสน อันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการจัดการการเลือกตั้งให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสมชัยได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ได้ลาออกจากการกรรมการการเลือกตั้งเสียก่อน ถือเป็นการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากตนเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และจะส่งผลต่อความถูกต้องและเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดํารงตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงไม่สมควรให้นายสมชัยปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้งต่อไป

ส่วนในที่ประชุม ครม. วันนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีอวยพรวันเกิดนายกรัฐมนตรี พร้อมขอให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง

ด้านนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณ ครม. ทุกคนที่ร่วมกันทำงาน และขอให้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ นำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป ส่วนของขวัญที่อยากได้จาก ครม. ขอให้ช่วยกันทำงานพัฒนาระบบราชการให้สุจริต โปร่งใส ไม่มีการทุจริต หากพบการทุจริตก็ขอให้กำจัดให้หมดสิ้น พร้อมมอบข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทำการวิจัยจนสามารถผลิตข้าวลดน้ำตาล หวานน้อย

ขู่พรรคการเมืองไม่ร่วมหารือ มิ.ย. นี้ – กำหนด “วันเลือกตั้ง” ไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่จะมีการเชิญนักการเมืองมาหารือ เพื่อสอบถามแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ว่า ใครจะมาหรือไม่มาก็แล้วแต่เขา แต่ถ้าไม่มาประชาชนจะว่าอย่างไร เพราะตนต้องการให้ประชาชนรับทราบรับรู้ด้วยว่ามีการพูดคุยอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

“ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปต้องการรู้นโยบายเขา เพียงแต่เขาจะต้องตอบคำถามของประชาชนให้ได้อย่างที่ประชาชนต้องการ เพราะทุกพรรคนั้นอาสาที่จะเข้ามาทำงานการเมืองให้กับประเทศ อันนี้ก็สุดแล้วแต่ ถ้ามาไม่ครบ หรือไม่มีอะไรพูดคุยกันเลย มันก็กำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้นั่นแหละ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่าการพูดคุยในเรื่องนโยบายพรรคนั้นจะเป็นการแทรกแซงพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนไม่ได้หมายความถึงนโยบายพรรค แต่เพียงจะถามว่าพรรคการเมืองจะแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตอย่างไร จะแก้ปัญหาการบุกรุกป่าได้อย่างไร คุยแบบนี้ ที่ผ่านมาตนชี้แจงการทำงานของตนตลอดและไม่เคยหวงห้ามเอาไปใช้ ส่วนนโยบายของรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมาตนก็ไม่ได้ทิ้งไปทั้งหมด อะไรที่สานต่อได้ก็ทำ อะไรที่มีปัญหาก็แก้ให้ถูกต้อง ต้องสานต่อกันแบบนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ต้องทำงานที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญไป

”ทำไม นโยบายพรรคนี่มันปิดลับกันมากหรือไง ท่านไปเปิดเผยของท่านภายหลังก็ได้ ผมก็ไม่ได้อยากรู้ ผมอยากจะถามว่าท่านจะทำสิ่งที่ผมทำต่อไปอย่างไร หากมีวิธีการอื่นก็ขอให้บอกมา ประชาชนจะรับได้ไหม ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลยแล้วเลือกกันออกมา มันต้องสร้างการรับรู้ …นโยบายพรรคไม่ใช่นโยบายที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนโยบายพรรคนั้นเขาทำเพื่อสนองตอบคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ นโยบายจำนำข้าวนั้นให้ใคร แล้วมีใครรับผิดชอบเรื่องปัญหางบประมาณแผ่นดินไหม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองไม่มาร่วมหารือด้วยจะไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่ไม่มา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มาแล้วจะคุยกับใคร หากพรรคการเมืองไม่มาในเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้มากที่สุด วันนี้มีพรรคการเมืองกี่พรรคที่เกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้มีอยู่ 40-60 พรรคแล้ว ตอนนี้คณะกรรมการการเลือกต้ัง (กกต.) จะรับรองทุกพรรคหรือไม่

“ใครอยากมาก็มา แต่ผมไม่เบี้ยวอยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเอง จะไปยากอะไรเล่า” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โยน สนช. ส่งร่าง พ.ร.ป. ให้ศาล รธน. วินิจฉัย – ย้ำ ไม่กระทบโรดแมป

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เป็นขั้นตอนทางกฎหมาย สามารถกระทำได้เพราะเขามีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ไม่อย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่มีงานทำ ฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังมีข้อห่วงใย ข้อกังวล ก็ให้ศาลเขาตอบให้ชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ระมัดระวัง ผมก็ระมัดระวังอยู่แล้ว ไม่มีผลกระทบในเรื่องของโรดแมปการเลือกตั้ง

ต่อคำถามกรณีสังคมมองถึงความรับผิดชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณากฎหมายที่ปล่อยผ่านร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “พออย่างนี้มาก็บอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบในภาพรวม พอเขาเห็นชอบร่วมกันมาเลยก็บอกว่าเขาไปก้าวล่วง ไปใช้อำนาจสั่งไปทำให้ผ่าน อะไรแบบนี้ คือทั้งสองทาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นเรื่องของ สนช. เพราะกฎหมายนี้ยังไม่ได้ส่งกลับมาที่ตนเลย อย่ามาโยนให้รัฐบาล ในเมื่อท่านยังมีปัญหากันอยู่ก็ต้องแก้ที่ท่าน ถ้ามันไม่จำเป็น ตนจะส่งทำไม ในเมื่อมอบหมายความรับผิดชอบไปแล้วก็ให้ไปทำกันตรงโน้น ไม่เช่นนั้นจะเสียหายกว่าที่จะได้อะไรกลับมา ในเมื่อวันนี้ สนช. ยังเห็นไม่ตรงกัน

เมื่อถามว่า แสดงว่า สนับสนุนให้ทั้ง 2 ฉบับส่งตีความใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เห็น สนช. ส่งฉบับเดียวไม่ใช่หรือ

เมื่อถามย้ำว่า ควรส่งทั้ง 2 ฉบับหรือไม่เพื่อกันปัญหาในอนาคต พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่มีหรอก ฉบับ ส.ส. ไม่น่าจะมีปัญหา”

ส่วนเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่จะขอจดทะเบียนตั้งพรรคนั้น พล.อ. ประยุทธ์ เห็นว่า ต้องไปดูกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งตนให้ความสนใจกับพรรคทุกพรรค แต่ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องพิจารณาเอาเองและเป็นเรื่องของกฎหมาย

ชี้รัฐบาลตรวจสอบทุจริตตลอด แต่คนไม่สนใจ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นในหลายโครงการ ว่า รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบมาโดยตลอด อยากจะให้มองว่าไม่ใช่ปัญหาแย่ลงหรือเพิ่มขึ้นหรือดีขึ้น แต่ยังไม่รู้ทั้งหมด เพราะว่ากลไกในการทุจริตมีมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็อยากให้เปรียบเทียบดูว่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในช่วงรัฐบาลนี้ทำมากน้อยเพียงใด ถึงแม้จะมีอยู่แต่ก็มีการดำเนินการต่อเนื่องไป

“คดีต่างๆ หลายคดีมีข้อยุติออกมา มีการพิจารณาใหม่ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นคดีที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งสิ้น แต่ไม่ได้รับความสนใจ ก็มีการตรวจสอบจนมีผลสำเร็จหลายราย มีการหลบหนีไปหลายราย ไปเปรียบเทียบกันนี้ สำหรับของกระทรวง 2-3 กระทรวง เบื้องต้นได้สั่งการให้ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องพ้นจากหน้าที่ไปก่อน พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ทั้งในระดับกระทรวง และในระดับของ ป.ป.ท. ก็ลงไปตรวจสอบทั้งสองทาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงกองทุนต่างๆ ที่ต้องมีการจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เกิดประโยชน์ที่แท้จริง สามารถกำหนดผลสัมฤทธิ์ได้ และมีการติดตาม ซึ่งตนก็ติดตามอยู่ทุกวัน กองทุนต่างๆ นั้นกำลังจัดระเบียบอยู่ทั้งหมด ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่ทำอะไรเลย ก็ทำทุกอย่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นกลไกภายใน ซึ่งทุกคนต้องหารือร่วมกันอะไรร่วมกัน แต่การตัดสินใจดำเนินการใดๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง บางครั้งก็ดำเนินการไม่ได้ เหมือนกฎหมายที่บางทีออกมายังใช้ไม่ได้ เพราะคนยังไม่พร้อม กฎหมายนี้ต้องใช้ในระยะยาวรองรับวันข้างหน้าจะได้ไม่ต้องแก้ไขบ่อย ถึงเวลาจะมีการผ่อนผัน มีการใช้กฎหมายพิเศษไปบ้าง เพื่อให้เวลาในการเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายใหญ่ที่ผ่านออกมาแล้ว

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

อนุมัติสินเชื่อคนจนเฟส 2 วงเงิน 10,000 ล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 วัตถุประสงค์ คือ ให้สินเชื่อแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว เช่น หนี้นอกระบบ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เป็นต้น โดยต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์ หนี้ในระบบวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ให้วงเงินให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนที่มีการประกอบอาชีพและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อให้ยื่นขอสินเชื่อและจัดทำนิติกรรมสัญญาภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.85 ต่อเดือน หลักประกันต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ จะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก โดยสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้ แต่จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ อย่างไรก็ดี โดยที่สินเชื่อลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดเงื่อนไขในการชดเชยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan: NPL) ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ให้ธนาคารออมสินไว้ไม่เกินร้อยละ 40 คิดเป็นวงเงินประมาณไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หรือตามที่เกิดขึ้นจริง

อนึ่ง เดิม ครม. เคยอนุมัติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน วงเงินแห่งละ 5,000 ล้านบาท รวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งรายงานล่าสุด ณ วันที่ 29 มกราคม 2561 ระบุว่าขณะนี้ได้ใช้จ่ายไปแล้ว 99.06% ของวงเงิน มีผู้ขอกู้ 223,644 ราย และเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 0.41% ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ครม. มีมติให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาทเพิ่มเติม ในครั้งนี้จึงเป็นการอนุมัติในส่วนของธนาคารออมสินเพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท รวมทั้งโครงการมีการอนุมัติวงเงินแล้ว 30,000 ล้านบาท

ปรับแผนบริหารหนี้ภาครัฐปี 61 วงเงินรวม 95,736 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีการปรับวงเงินเพิ่ม 85,906 ล้านบาท จาก 1.502 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินรวม 1.588 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติ ครม. ภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้น 9,830 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 161,433 ล้านบาท เป็น 171,263 ล้านบาท รวมแล้วภายหลังการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะจะมียอดหนี้รวม 1.760 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 95,736.53 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากปรับปรุง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 42.8% ของจีดีพี จากเดิมที่ระดับ 42.7% ส่วนหนึ่งเนื่องจากจีดีพีในปัจจุบันมีการฟื้นตัวเช่นกัน ขณะที่ภาระหนี้ต่องบประมาณปรับลดลงจาก 9% ของงบประมาณเหลือ 8.6%

ยกเว้ยค่าธรรมเนียมวีซ่า 21 ประเทศ – เพิ่มรายได้ท่องเที่ยวกว่า 3 แสนล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. รับทราบการรายงานผลการประเมินความคุ้มค่าและภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจากการดำเนินการมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 สิงหาคม 2560 รวมระยะเวลา 6 เดือน สรุปว่ามีนักท่องเที่ยวของ 21 ประเทศเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 6,069,878 คน ขยายตัว 4.46% และคิดเป็น 34.97% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 303,143 ล้านบาท

การยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราดังกล่าวทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 7,190.96 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 47,553 ล้านบาท และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำการสำรวจพบว่า 55% ระบุว่ามาตรการนี้มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย และ 56% ระบุว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงท่องเที่ยวฯ ประเมินแล้วว่าปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวมีการปรับตัวดีขึ้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการนี้ต่อไป

อนุมัติแหล่งเงิน 3 โครงการ แก้ราคายางพาราตกต่ำ

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติ 3 โครงการตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2/2560 สืบเนื่องจากโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ดังนี้ 1) โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจากเกษตรกรชาวสวนยาง และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐ โดยในส่วนงบประมาณในการหมุนเวียนรับซื้อยางพาราภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ จำนวน 12,000 ล้านบาทของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) วงเงิน 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกองทุนพัฒนายางพารา วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการหมุนเวียนรับซื้อยางตามมติ กยท. ไปก่อน ทั้งนี้ หากไม่เพียงพอจะขออนุมัติให้ใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการวงเงินไม่เกิน 150 ล้านบาท ให้ กยท. จัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

2) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) ในส่วนค่าเบี้ยประกัน ในอัตรา 0.36% ต่อปี จำนวน 36 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 108 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามรายจ่ายจริงที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ค่าบริหารโครงการ อัตรา 0.14% ต่อปี จำนวน 14 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินไม่เกิน 42 ล้านบาท ให้ กยท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท) ในส่วนการชดเชยดอกเบี้ยของภาครัฐไม่เกิน 3% ต่อปี กรอบวงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท ให้ กยท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามรายจ่ายจริงที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยขอให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษา และแนะนำวิธีการคำนวณการชดเชยดอกเบี้ย โดยไม่รวมรายจ่ายชำระต้นเงินกู้และไม่รวมถึงการชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ค่าบริหารโครงการ วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ กยท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

อนุมัติ 257 ล้านบาท ติดเครื่อง EDC เพิ่ม 20,000 เครื่อง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวางเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน 257,53 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวางเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 10,000 เครื่อง และร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 10,000 เครื่อง

อนึ่ง เดิม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ส่วนหนึ่งอนุมัติวงเงิน 112.98 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งและใช้งานเครื่อง EDC 4,200 เครื่อง ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2561 มีมติอนุมัติค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 288.34 ล้านบาท ติดตั้งเครื่อง EDC อีก 22,121 เครื่อง รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง EDC รวมการอนุมัติในวันนี้เป็นวงเงิน 643.35 ล้านบาท จำนวน 46,321 เครื่อง (เครื่องละ 13,000 บาท)

ไฟเขียว 6 สมาคม 18 บริษัท รับซื้อถั่วเหลืองใน ปท.

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติกรอบการบริหารการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2561 ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ให้เปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามา เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อบริโภค และกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 2561-2563 โดยกำหนดให้ผู้ใช้สิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ โดยให้ 6 สมาคมและ 18 บริษัท รับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศทั้งหมดในราคาไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำตามชั้นคุณภาพที่กำหนด ดังนี้

ถั่วเหลืองประเภทสกัดน้ำมัน ราคา ณ ที่นาอยู่ที่ 17.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 18.25 บาท ต่อกิโลกรัม

ถั่งเหลืองอาหารสัตว์ ราคา ณ ที่นาอยู่ที่ 17.75 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 18.50 บาทต่อกิโลกรัม
ถั่วเหลืองที่ใช้แปรรูปอาหารสำหรับมนุษย์ ราคา ณ ที่นาอยู่ที่ 19.75 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 20.50 บาทต่อกิโลกรัม

นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าตามกรอบขององค์การการค้าโลก ซึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา-ซ้าย)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เห็นชอบแก้ ป.วิ.อาญา คุ้มครองสิทธิ์ประชาชนมากขึ้น

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. .… ในส่วนของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวและการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญาให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ

  1. แก้ไขหลักเกณฑ์ในการเรียกประกันและหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยขยายเพดานอัตราโทษห้าปีขึ้นไปเป็นสิบปีขึ้นไป
  2. กรณีบุคคลที่ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวหากมีการหลบหนี ให้ศาลมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาล ดำเนินการแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ดำเนินการจับผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือถ้ามีเหตุจำเป็นก็ให้เจ้าพนักงานศาลมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง
  3. การพิจารณาพิพากษาคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ กำหนดให้ศาลสามารถมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ก่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องได้ หากเห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิ์ฟ้องโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย โดยโจทก์จะยื่นฟ้องคดีนั้นอีกไม่ได้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากส่วนราชการว่าควรจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนที่ศาลจะนำมาใช้ ซึ่งจะมีการนำข้อสังเกตส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

อนุมัติแผน “เช่า” เครื่องติดตามตัวนักโทษแทน “จัดซื้อ”

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบคำขอผูกพันงบประมาณโครงการการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับติดตามตัวผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติ (ปีงบประมาณ 2562-2563) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

“ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดซื้อจำนวน 3,000 เครื่อง แต่กระทรวงยุติธรรมขอเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการจัดซื้อจำนวน 3,000 เครื่อง ในระยะเวลา 1 ปี เป็นการเช่าพร้อมระบบควบคุมการทำงาน เป็นจำนวน 4,000 เครื่อง ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เป็นระยะเวลา 30 เดือน ซึ่งข้อดีของการเช่าจะทำให้รัฐมีอุปกรณ์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง และมีอุปกรณ์ที่ใหม่ใช้อยู่ในระบบอยู่เสมอไม่ขาดตอน และไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณสำหรับบำรุงรักษาอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐได้จำนวนมาก” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

เห็นชอบ ร่างความตกลงปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ

พ.อ. อธิสิทธิ์  กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างความตกลงในการดำเนินการร่วมกันของสหประชาชาติกับรัฐสมาชิกต่อปัญหาการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก เป็นผู้แทนลงนาม

โดยสหประชาชาติได้จัดทำร่างเอกสารความตกลง และได้เชิญชวนสมาชิกให้มาลงนามในเรื่องการละเมิดทางเพศ ปัจจุบันมีสมาชิกลงนามแล้ว 58 ประเทศ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งสหประชาชาติมีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ จัดมาตรการรับผิดชอบ และตรวจสอบได้ พัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน การดำเนินการมาตราการสืบสวนที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของผู้ถูกกระทำ

“หน้าที่ของรัฐสมาชิกนั้น จะสนับสนุน ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ให้ความร่วมมือสหประชาชาติในการป้องกัน มีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรที่เข้าร่วมการปฏิบัติการของสหประชาชาติเป็นผู้ที่คัดกรองมาแล้ว และมาตรการด้านการรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ รวมถึงมีอิสระ ไม่มีการแทรกแซง ละเอียดถี่ถ้วนทันการ และโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ร่างความตกลงดังกล่าวไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

คสช. ถก กม.ประมง – เร่งจัดทำรายงานเรือหายเสร็จก่อน 4 เม.ย. นี้

พ.อ. วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เปิดเผยภายหลังการประชุม คสช. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง เนื่องจากมีคำสั่งของ คสช. 3 ฉบับ ในเรื่องนี้ ซึ่งอาจมีบางอย่างซ้ำซ้อนกัน ขณะเดียวกัน ได้เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ดังนั้น ที่ประชุมจึงพิจารณาให้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับใหม่ เพื่อของดเว้นและยกเลิกบางข้อในคำสั่ง คสช. ฉบับเดิม

ขณะที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) เพื่อจัดทำรายงานเรื่องความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายว่าขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ที่คณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาไทยในวันที่ 4 เมษายน 2561 นี้

“ทางการไทยต้องส่งให้ดูก่อนว่าสิ่งที่ทำในช่วงปิดท้ายมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเรือที่หายไป จมหรือขายให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ที่ออกไปนอกน่านน้ำได้ บางทีจมไป 30-40 ปีแล้วไม่มีหลักฐาน ต้องหาการรับรอง เช่น จากสมาคมประมง การประมงพื้นบ้าน ที่ขอให้ทีมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จ.ระนอง ช่วยให้ทำละเอียด และการเร่งรัดคดีให้เร็วขึ้น อย่างคดีอาญาให้ศาลตั้งทีมขึ้นมาเป็นการเฉพาะเรื่องเลย ซึ่งตนได้สั่งทำให้เสร็จเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ แล้วส่งให้ตนดูเพื่อปรับแก้ได้ทัน” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

ไฟเขียว “ภคพงศ์” นั่งเก้าอี้ “ผู้ว่า รฟม.”

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ตั้งนายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

อ่าน มติ ครม. วันที่ 20 มีนาคม 2561ที่นี่