ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไพรมารีโหวต” กลไกเพิ่มส่วนร่วมประชาชน หรือ แค่พิธีกรรม เมื่ออำนาจสุดท้ายอยู่ที่ กก.บห.

“ไพรมารีโหวต” กลไกเพิ่มส่วนร่วมประชาชน หรือ แค่พิธีกรรม เมื่ออำนาจสุดท้ายอยู่ที่ กก.บห.

10 กรกฎาคม 2017


“มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง”

คือคำทำนาย ที่ พรรคการเมือง และ ผู้ปฏิบัติงานการเลือกตั้ง คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นกับ เลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่ว่างเว้นการเลือกตั้งทั่วไปมา 6 ปี

เพราะนอกจาก “กติกาใหม่” ที่พรรคการเมืองต้องปรับตัวเกือบทั้งหมดแล้ว ยังมีกลไกเพิ่มเติมในการ “คัดสรร” ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ผ่านการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote, Primary Election) ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งผ่านมติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย

กลไกคัดสรรผู้สมัครที่ออกแบบใหม่นี้มีเสียงสะท้อนว่า “ยุ่งยาก” และทุกพรรคการเมืองจะต้องเผชิญกับปัญหาไม่มากก็น้อย

แต่ทว่าแม้จะมีกระแสคัดค้านดังออกมาจากทั่วทุกสารทิศ กระนั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยืนยันหนักแน่นว่า “ไพรมารีโหวต” จะสามารถ “ตอบโจทย์” การปฏิรูปการเมืองได้ เพราะประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากมี “อำนาจ” ที่จะกำหนดผู้สมัคร ส.ส. ที่ดีและมีคุณภาพได้ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย 4 นาที” ในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและการพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ผู้ศึกษาระบบเลือกตั้ง มองว่า ระบบไพรมารีโหวต ตามร่าง พ.ร.ป.พรรรคการเมือง นี้ “ยากต่อการปฏิบัติ” และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคปั่นป่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใดก็ตาม

“พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครได้จะมีน้อยมาก เพราะต้องเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดไพรมารีโหวต เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่า พรรคที่มีความพร้อมแบบนี้จะไม่เจอกับปัญหา”

พร้อมยกตัวอย่างปัญหาทางเทคนิคที่พรรคการเมืองจะต้องเผชิญ เช่น พรรคเพื่อไทย อาจจะเจอกับปัญหาเรื่อง “สาขาพรรค” เพราะที่ผ่านมาใช้ระบบศูนย์ประสานงานของพรรค มากกว่าการตั้งสาขาพรรค ก็อาจจะต้องแก้ด้วยการปรับศูนย์ประสานงานให้เป็นสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก็สามารถทำได้

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีสาขาพรรคมาก แต่ก็จะเจอกับปัญหาอื่นแทน เช่นเดียวกับพรรคขนาดกลางและเล็ก ก็จะพบกับปัญหาเช่นกัน จนคาดว่าจะมีพรรคที่มีความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตไม่เกิน 5 พรรคการเมืองเท่านั้น

ทว่าในความเสียเปรียบของพรรคเก่า กลับเป็นความได้เปรียบของพรรคใหม่ ที่เกิดขึ้นเป็นการ “เฉพาะกิจ” หลังประกาศใช้ระบบใหม่นี้

โดยพรรคใหม่ที่ว่า จะต้องมี “ต้นทุน” หรือ “ฐานเสียง” อยู่ทั่วประเทศ เช่น “พรรคนายทุน” ที่เกิดจากการจับมือกันของบริษัทเอกชน ที่มีสาขาอยู่ทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเกณฑ์ลูกจ้างเข้ามาเป็นสมาชิก และสวมบท “โหวตเตอร์” ในขั้นตอนการเลือกตั้งขั้นต้นได้

รวมไปถึง “พรรคของส่วนราชการ” เช่น พรรคที่มีความความสัมพันธ์กับ “กองทัพ” และครอบครัวของกำลังพลในทุกพื้นที่ รวมไปถึง “พรรคของข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ที่มีเครือข่ายร่วมกันทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายนายกเทศมนตรี

“สมาชิกของพรรคเหล่านี้ จะถูกเกณฑ์มาทำหน้าที่ ตามกระบวนการไพรมารีโหวต เป็นการจัดตั้งมา จะไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ โดยตั้งตามอุดมการณ์ ต้องการนำเสนอตัวบุคคลใหม่ๆ เพื่อที่จะเดินตามเส้นทางการเมืองตามปกติ จะไม่สามารถเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้ทันเวลาอย่างแน่นอน”

“สติธร” ย้ำว่า การเลือกตั้งขั้นต้น จุดประสงค์หลัก คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่ “ส่วนร่วมแบบปลอมๆ”

เขายกตัวอย่างไพรมารีโหวตในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ในอังกฤษ ว่า กลไกเหล่านี้มาจากความต้องการของพรรคการเมือง เพื่อใช้ในการคัดสรรผู้สมัคร และเมื่อระบบไพรมารีโหวตแพร่หลายจนใช้กันไปในระดับประเทศ ทำให้ภาครัฐ หรือ กกต. เข้ามาร่วมสนับสนุนในการจัดเลือกตั้งขั้นต้น

แต่ในรูปแบบของไทย คือ การไปคิดแทนพรรค และไม่คำนึงถึงความพร้อม บังคับให้พรรคการเมืองทำตาม

“สติธร” ยังตั้งคำถามถึงการออกแบบกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งที่สุดท้ายแล้ว กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคเป็นผู้มี “อำนาจ” เคาะตัวผู้สมัคร ซึ่งอาจจะไม่ใช่บุคคลที่ได้รับชัยชนะจากสนามเลือกตั้งขั้นต้นมาแล้ว

“แม้ว่า กก.บห. จะต้องพิจารณาจากผู้ที่มีคะแนนสูงสุด ตามที่คณะกรรมการสรรหาส่งผลคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้งมาให้ แต่กฎหมายเขียนไว้ด้วยว่า ถ้า กก.บห. ไม่เห็นชอบ ก็สามารถแสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครที่ได้คะแนนในลำดับถัดไปได้ และหากเกิดกรณีที่ กก.บห. ไม่เห็นชอบอีก ให้ กก.บห. ประชุมร่วมกับคณะกรรมการสรรหา ซึ่งหากมติของที่ประชุมร่วมเห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครคนใด ก็เสนอให้ผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ถ้าที่ประชุมร่วมไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด กระบวนการคัดสรรผู้สมัครก็ต้องกลับไปในขั้นตอนเริ่มต้นอีกครั้ง จนกว่าจะได้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง”

นั่นหมายถึง “เสียงของประชาชน” ในกลไกไพรมารีโหวต ไม่มีผลผูกพันกับ กก.บห. ของพรรค

แตกต่างจากในต่างประเทศที่บางประเทศที่เขียนไว้ให้พรรคต้องส่งผู้สมัคร ที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่บางประเทศ กำหนดให้มติของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง รับรองผลการเลือกตั้งขั้นต้น แทนมติของ กก.บห. พรรค

“เงื่อนปม” เหล่านี้จึงอาจทำให้การเลือกตั้งขั้นต้นของไทยไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศได้ หรือการนำ “ไพรมารีโหวต” จะมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงตามที่หลายฝ่ายกังขา

ส่อง “ไพรมารีโหวต” ทั่วโลก ไขปม “สำเร็จ-ล้มเหลว”

งานวิจัยเรื่อง “ระบบการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง ทางเลือกและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย” ของสถาบันพระปกเกล้า โดย “สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการชำนาญการ สำนักวิจัยและการพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และ “ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาระบบคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผ่านระบบ “Primary Election” ในต่างประเทศ ที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบ “Primary Vote” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการเมืองไทยขณะนี้ โดยพบว่ามีทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จกับให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กับ ประเทศที่ล้มเหลว เพราะการแทรกแซง และผู้นำพรรคยังคงมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกผู้สมัครอยู่

สหรัฐอเมริกา: เจ้าแห่งต้นตำรับการเลือกตั้งขั้นต้น

การเลือกตั้งขั้นต้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากขบวนการปฏิรูปเพื่อความก้าวหน้า ในปี ค.ศ. 1990 ให้ใช้กระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคที่มีความโปร่งใสและเปิดกว้างมากขึ้น

โจทย์นี้ถูกประเดิมใช้ใน “ฟลอริดา” มลรัฐแรกที่บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อสรรหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคออกมาบังคับใช้ในปี ค.ศ.1901

ขณะที่มลรัฐ “วิสคอนซิน” เป็นมลรัฐแรกที่นำการเลือกตั้งขั้นต้นแบบเปิดมาใช้ในการเลือกผู้เสนอตัวเป็นตัวแทนพรรค แทนการประชุมสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง

หลังจากนั้นเพียง 5 ปี การเลือกตั้งขั้นต้นได้ถูกนำไปใช้ในมลรัฐอื่นๆ อย่างกว้างขวาง จนในที่สุดกลายเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปในการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองในแทบทุกมลรัฐ โดยแต่ละมลรัฐจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งขั้นต้นที่แตกต่างกันออกไป เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิในการอำนวยการเลือกตั้, บุคคลใดบ้างทีมีสิทธิเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น หรือแม้แต่งบประมาณที่นำมาใช้

ระบบการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสในนามพรรค ที่แต่ละมลรัฐใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นระบบเลือกตั้งแบบปิด (Closed Primaries) ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคือสมาชิกของพรรคการเมืองการเมืองนั้นๆ ที่มีสิทธิเข้าร่วมลงคะแนนเสียง หรือเป็นการหารือระหว่างสมาชิกวงใน (caucus) แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต้องการให้การเลือกตั้งขั้นต้นเป็นการแข่งขันภายในพรรคเพื่อหยั่งเสียงสมาชิกพรรคมากกว่าเปิดกว้างให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปเข้ามาร่วมลงคะแนน หรือที่เรียกว่า การเลือกตั้งขั้นต้นแบบเปิด (Open Primaries)

อังกฤษ: หยั่งเสียงประชาชนต่อผู้สมัครหน้าใหม่

การเลือกตั้งขั้นต้นในประเทศอังกฤษไม่ได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ในกฎหมาย แต่พรรคการเมืองเป็นผู้จัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นมาเอง โดยในช่วงที่แนวคิดถูกนำมาทดลองใช้นั้น เกิดจากการที่ “เดวิด คาเมรอน” หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ต้องการดูว่าผู้สมัครของพรรคมีคะแนนนิยมมากน้อยเพียงใด และใช้วิธีดังกล่าวกับการสรรหาผู้สมัครในบางเขตเท่านั้น โดยเน้นเขตที่ผู้สมัครเดิมถอนตัว ทำให้การเลือกตั้งขั้นต้นของอังกฤษจึงเป็นการสรรหาผู้สมัครที่มีศักยภาพ หรือหยั่งเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต่อผู้สมัครหน้าใหม่มากกว่าการแข่งขันชิงชัยเพื่อเป็นผู้สมัครในนามพรรค

ออสเตรเลีย: รักษาอำนาจการตัดสินใจตัวผู้สมัครให้เป็นเรื่องภายในพรรค มากกว่าการกระจายอำนาจออกไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

พรรคแรงงาน ได้เริ่มทดลองในปี ค.ศ. 2010 เพื่อคัดเลือกผู้สมัครสมาชิกมลรัฐวิกตอเรีย เขตคิลซีธ ได้กำหนดว่าการเลือกตั้งขั้นต้นพรรคสามารถโต้แย้งผลที่เกิดจากกระบวนการสรรหาดังกล่าวได้ และยังกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งขั้นต้น จะต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิกับพรรคและประกาศอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรค และจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้ง รวมถึงต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นด้วย ผลปรากฏว่ามีผู้มาลงคะแนนเสียงร้อยละ 0.4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ขณะเดียวกัน พรรคแห่งชาติ ได้จัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นในปีเดียวกัน ในเขตแทมเวิร์ธ มลรัฐนิวเซาท์เวลส์ แม้ว่าเงื่อนไขจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ได้เปิดกว้างในส่วนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงว่าจะเป็นใครก็ได้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีผู้มาร่วมออกเสียงประมาณร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

แคนาดา: พรรคส่วนกลางมีอิทธิพลต่อการเลือกแบบ Primary Election

พรรคการเมืองเริ่มจัดไพรมารีโหวตก่อนการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 1 เดือน เป็นระบบปิดคล้ายกับระบบคอคัสของสหรัฐอเมริกา แต่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด ผ่านการลงคะแนนหลายรอบจนกว่าจะได้ผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีส่วนที่คล้ายกับกรณีของออสเตรเลีย ที่พรรคส่วนกลางมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งขั้นต้นว่าจะรับรองผลการเลือกตั้งขั้นต้นหรือไม่ และสามารถแทรกแซงกระบวนการสรรหาตัวแทนได้อย่างชอบธรรม ซึ่งมีข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองส่วนกลางกำลังละเมิดเสรีภาพของพรรคการเมืองส่วนท้องถิ่น ผู้สมัคร และสมาชิกพรรคหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งขั้นต้นของแคนาดาไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย จึงถือเป็นเรื่องการจัดการภายในของพรรค ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของรัฐ หรือ กกต. จะไม่เข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการเลือกผู้สมัครของพรรคการเมือง

เม็กซิโก: กก.บห.พรรคเคาะครั้งสุดท้าย

พรรคการเมืองหลักใช้การเลือกตั้งภายในพรรคการเมือง โดยจัดให้มีการแข่งขันเลือกตั้งระหว่างผู้สมัคร แต่เป็นการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่ของพรรค อย่างไรก็ตามผลสรุปว่าจะส่งผู้สมัครรายใดนั้นขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะส่งผู้สมัครคนใดลงเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะไม่เป็นผู้ที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นก็ได้

ชิลี: ใช้ในการเลือกตั้งขั้นต้นทุกระดับ มีผลทางกฎหมาย

พรรคการเมืองใช้การเลือกตั้งขั้นต้นในการคัดเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งทุกระดับตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ใน ค.ศ. 2013 กำหนดให้การเลือกตั้งขั้นต้นมีผลทางกฎหมาย โดย พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตว่า เกิดขึ้นมากในการเลือกตั้งขั้นต้นของอเมริกาใต้ ทำให้มีลักษณะรวมศูนย์และเสริมสร้างอำนาจให้กับผู้นำพรรค เพราะผู้นำพรรคการเมืองยังคงต้องการมีบทบาทในการคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งอยู่ โดยมีบทบาทในการรับรองหรือไม่รับรองผลการเลือกตั้งขั้นต้นได้ ในขณะที่พรรคการเมืองส่วนกลางในสหรัฐฯ มักไม่ปฏิเสธผลการเลือกตั้งขั้นต้นที่จัดในระดับมลรัฐ