ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปลัด 3 กระทรวงลงมติร่วมเบรก DSI ดำเนินคดี บ.ต่างชาติเลี่ยงภาษี กรณีซื้อ “คอนเดนเสท” JDA ขาย IRPC

ปลัด 3 กระทรวงลงมติร่วมเบรก DSI ดำเนินคดี บ.ต่างชาติเลี่ยงภาษี กรณีซื้อ “คอนเดนเสท” JDA ขาย IRPC

2 ตุลาคม 2017


สืบเนื่องมาจากกฎหมายศุลกากรไม่ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้แนวทางการปฏิบัติในบางกรณีต้องมีการตีความ นอกจากประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด แล้ว ยังมีกรณีพิพาทระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กับบริษัทต่างชาติ 2 รายที่ประมูลซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ “คอนเดนเสท” ที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area: MTJDA) โดย DSI ตรวจสอบพบมีการโอนกรรมสิทธิ์ในคอนเดนเสทหลายครั้ง และมีการส่งออกต่างประเทศ ก่อนนำเข้ากลับมาขายให้กับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)

นอกจากนี้ DSI ได้ตรวจสอบหลักฐานใบขนสินค้าขาเข้า พบว่าไม่ได้แจ้งแหล่งที่มาของสินค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ร่วมกับเจ้าพนักงานอัยการ ตั้งแต่ปี 2557 และได้เรียกบริษัทต่างชาติ 1 ราย มารับทราบข้อกล่าวหาสำแดงเท็จ มีความผิดตามมาตรา 99 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ส่วนอีกรายขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 กระทรวงพลังงานได้นำประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 8/2560 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ เพื่อหาข้อยุติและแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันหาข้อยุติและพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีขาออกจากการขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “Condensate” ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้จัดการประชุมร่วม 3 กระทรวง ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ในการประชุมร่วมกับนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาหาข้อยุติ 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรขาออกจากการขาย Condensate และประเด็นแนวปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับ “ก๊าซธรรมชาติ” ส่วนของมาเลเซียที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มีสาระสำคัญดังนี้

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน (ขวา)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 ข้อ 16 (1) (ก) กำหนดให้ อัตราอากรขาออกที่จะต้องจ่ายโดยผู้ได้รับสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนแบ่งของผู้ได้รับสัญญาในน้ำมันดิบส่วนที่เป็นกำไรที่ขายนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียให้เป็นร้อยละ 10%” (เก็บอากรขาออก 10% ของกำไรจากการขาย) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้นำก๊าซธรรมชาติเหลวที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียมาใช้ประโยชน์ในประเทศทั้งสอง

แต่ในทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นจะใช้วิธีการประมูลแข่งขันเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด โดยผู้เข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมัน (ซึ่งอาจจดทะเบียนในประเทศที่ 3) แม้ว่าในที่สุดก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าวจะนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร

อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับทราบว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้ได้รับสัญญาในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ หลีกเลี่ยงอากรขาออก โดยเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเซียมาให้ปากคำ ทำให้คณะกรรมการองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (ฝ่ายมาเลเซีย) แสดงความกังวลใจอย่างมาก ซึ่งเกรงว่าอาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้

นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร แจ้งต่อที่ประชุมร่วม 3 กระทรวงว่า ตามข้อ 16 (1) (ก) ของความตกลงระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ต่อมาไทยและมาเลเซียได้ออกกฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการทำความตกลงดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายศุลกากรของมาเลเซียกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “Contractors with tha MTJA are exempted from payment of export duty on crude petroleum and condensates produced in and exported from the JDA to Malaysia and Thailand” (ผู้รับสัญญาจะได้รับยกเว้นอากรขาออกสำหรับก๊าซธรรมชาติเหลวที่ส่งจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯ มายังประเทศไทยและมาเลเซีย) ทั้งนี้ การตีความความตกลงระหว่างประเทศจะต้องเป็นการตีความร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งประเทศมาเลเซียก็ได้มีการออกกฎหมาย และถือปฏิบัติเช่นเดียวกันกับประเทศไทยมาโดยตลอด

อธิบดีกรมศุลฯ ยันเก็บภาษีขาออก ดูปลายทางเป็นหลัก-ไม่ได้ดูกรรมสิทธิ์

นอกจากนี้ ในการประชุมศุลกากรร่วมไทย-มาเลเซีย (JCC) ครั้งที่ 18 ศุลกากรมาเลเซียได้กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันมาเลเซียจัดเก็บอากรขาออกฯ โดยพิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก (Physical Movement) หากปลายทางระบุว่าเป็นประเทศไทยหรือมาเลเซีย ก็จะไม่มีการเก็บอากรขาออก ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประเทศที่มีร่วมกัน ไม่พิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ต่างๆ โดยกรณีการขายก๊าซธรรมชาติเหลวจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯ อาจมีการโอนกรรมสิทธิ์หลายครั้ง แต่หากสินค้าส่งเข้าประเทศไทยหรือมาเลเซีย กรมศุลกากรตีความว่าไม่เข้าข่ายส่งออกไปนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียกลับมาที่ประเทศที่ 3 แต่อย่างใด”

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

ทั้งนี้นางกฤติกาได้กล่าวว่าก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมได้มีการหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และผู้แทนสำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากร ได้ยืนยันโดยวาจาว่า “จัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก”

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นว่า เนื่องจากกรมศุลกากรเป็นเจ้าของกฎหมาย ดังนั้น จึงควรยึดหลักการตามตีความของกรมศุลกากรเป็นหลัก และการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการใดๆ ก่อนที่กรมศุลกากรจะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

DSI พบถ่ายโอนกรรมสิทธิ์-ส่ง ตปท.-ก่อนนำเข้ามาขาย IRPC

ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ประเด็นดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงต้องดำเนินการรับเรื่องและดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า การขายก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าวมีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบริษัทต่างชาติก่อนที่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) จะรับซื้อเป็นรายสุดท้ายและส่งก๊าซธรรมชาติเหลวเข้าไทย นอกจากนี้ยังตรวจพบว่า ในใบขนสินค้าไม่ได้สำแดงที่มาของสินค้า ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมองว่าเป็นการแสดงพิกัดที่จะหลีกเลี่ยงภาษี

สั่งกรมศุลฯ ทำหนังสือยืนยันวิธีเก็บภาษีขาออกเป็นลายลักษณ์อักษร

สรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรขาออกฯ นี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้กรมสอบสวนคดีพิเศษชะลอการสอบปากคำคดีความดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะขอส่งข้อมูลเพิ่มเติมจากการสอบสวนให้กรมศุลกากรใช้ประกอบการพิจารณาตีความภายใน 1 สัปดาห์ และขอให้กรมศุลกากรพิจารณายืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 สัปดาห์

ประเด็นที่ 2 เรื่องแนวปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับ “ก๊าซธรรมชาติ” ส่วนของมาเลเซียที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯ

นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร นำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องพิธีการศุลกากรสำหรับ “ก๊าซธรรมชาติ” ในส่วนของมาเลเซียที่ได้จากแหล่งที่มีการผลิตร่วมกันว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับและไม่สามารถจัดเป็นก๊าซผ่านแดน (Transit Gas) เพื่อยกเว้นภาษีได้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในส่วนของมาเลเซียจะถูกส่งเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะส่งกลับไปยังประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ นางกฤติกายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการศุลกากรร่วมไทย-มาเลเซีย (JCC) ครั้งที่ 19 ศุลกากรไทยเสนอให้จดทะเบียนจัดตั้งโรงแยกก๊าซให้เป็นเขตปลอดอากร (Free Zone) ทั้งนี้ เพื่อให้ก๊าซธรรมชาติในส่วนของมาเลเซียที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซพร้อมกับก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายศุลกากรไทยได้

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง Free Zone เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องพิธีการศุลกากรเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในส่วนของพิธีการจัดเก็บภาษีของสรรพากรได้

ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรมศุลกากรไม่มีความประสงค์ที่จะจัดเก็บภาษีจากประเทศมาเลเซีย ดังนั้นจึงขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากรสำหรับก๊าซธรรมชาติในส่วนของมาเลเซียดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย เป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าวผ่านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

สรุปผลการพิจารณาในประเด็นนี้ ที่ประชุมร่วม 3 กระทรวง ขอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียในการยกร่างหนังสือรายงานประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยขอความอนุเคราะห์ให้สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร พิจารณาความครบถ้วนของหนังสือ ก่อนนำส่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ใช้ประกอบการนำเสนอ ขอรับความเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 เพื่อขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากรสำหรับก๊าซธรรมชาติในส่วนของมาเลเซียต่อไป