ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “บิ๊กตู่” ไฟเขียว-ชงสรรพากรตรวจ VAT ผู้นำเข้าคอนเดนเสทผ่านบริษัทสิงคโปร์-เสียภาษี?

“บิ๊กตู่” ไฟเขียว-ชงสรรพากรตรวจ VAT ผู้นำเข้าคอนเดนเสทผ่านบริษัทสิงคโปร์-เสียภาษี?

13 พฤศจิกายน 2017


ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม ลงมติร่วมให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ชะลอการสอบปากคำผู้ต้องหา คดีบริษัทสิงคโปร์ซื้อคอนเดนเสทจาก JDA ส่งขายบริษัทเครือ ปตท. ต้องเสียอากรขาออก 10% หรือไม่? โดยที่ประชุมปลัด 3 กระทรวง ให้กรมศุลกากรทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 สัปดาห์ว่า “การจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก” รวมทั้งให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซียรวบรวมประเด็นปัญหาส่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะนักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ยกเว้นระเบียบปฏิบัติในการผ่านพิธีการศุลกากรและสรรพากร กรณีส่งก๊าซธรรมชาติคืนมาเลเซีย

เวลาผ่านมา 4 เดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำหนังสือทวงถามอธิบดีกรมศุลกากรไป 3 ครั้ง เพื่อขอให้ทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก แต่จนถึงขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันจากกรมศุลกากร เนื่องจากกรมศุลกากรยังหาข้อสรุปไม่ได้ กรณีการขายคอนเดนเสทให้บริษัทสิงคโปร์ ถือเป็นส่งออกนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย หรือไม่ ระหว่างที่คดียังไม่ได้ข้อยุติ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวนี้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ล่าสุด นายรังสรรค์สรุปผลการศึกษาส่งนายกรัฐมนตรี โดยนายรังสรรค์มีความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีทุกประเภทของกระทรวงการคลังจะพิจารณาจาก “จุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้น” หรือ “Tax Point” เป็นหลักการสำคัญ กรณีผู้รับสัมปทาน JDA ประมูลขายหรือยกกรรมสิทธิ์ในคอนเดนเสทให้กับบริษัทผู้ซื้อ จุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้นควรต้องอยู่ภายในบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หากผู้รับสัมปทานในพื้นที่ JDA ขายให้ผู้นำเข้าที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยตรง กรณีนี้ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซีย แต่ถ้าบริษัทผู้รับสัมปทานขายให้บริษัทสิงคโปร์ กรณีนี้ถือเป็นการขายออกไปนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียตามความตกลง ข้อ 16 (1) (ก) และ (2) (ข) ต้องเสียอากรขาออก 10% ส่วนบริษัทในประเทศไทยที่สั่งซื้อคอนเดนเสทจากบริษัทสิงคโปร์ กรณีนี้เปรียบเสมือนการนำเข้าสินค้าทั่วไป ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจึงมีความเห็นให้ส่งเรื่องนี้ให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษี

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามรับทราบและเห็นควรให้ส่งกรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นายรังสรรค์จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือ 2 ฉบับ คือ ฉบับแรกออกจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งถึงนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่สั่งซื้อหรือผู้นำเข้าคอนเดนเสทผ่านบริษัทสิงคโปร์ที่ไปประมูลซื้อคอนเดนเสทจาก JDA กรณีนี้ผู้นำเข้าได้มีการชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ฉบับที่ 2 ทำหนังสือแจ้งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบประเด็นเผือกร้อนที่ถูกโยนจากทำเนียบรัฐบาลกลับมาอยู่ที่กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และกรมศุลกากร

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

ส่วนกรณีกรมศุลกากร ยังไม่ได้ส่งหนังสือยืนยันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการจัดเก็บอากรขาออกให้ดูจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก ตามมติที่ประชุมปลัด 3 กระทรวงนั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เนื่องจากในขณะนี้ภายในกรมศุลกากรยังคงมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยด่านศุลกากรสงขลามองว่า กรณีบริษัทผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขายคอนเดนเสทผ่านบริษัทสิงคโปร์ ก่อนส่งมาขายให้บริษัทในเครือ ปตท. ถือเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย เพราะเป็นการขายให้บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยหรือมาเลเซีย ผู้รับสัมปทานต้องเสียอากรขาออกให้กรมศุลกากร 10% ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซีย ข้อ 16 (1) (ก)

ขณะที่สำนักกฎหมายมองว่า การจัดเก็บอากรขาออกต้องพิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก ไม่ได้ดูประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด หากปลายทางระบุว่า “คอนเดนเสท” หรือ “ก๊าซธรรมชาติ” ที่ผลิตจาก JDA ส่งไปขายให้ประเทศไทยหรือมาเลเซีย กรณีนี้ได้รับยกเว้นอากรขาออก

เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้ง และยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวต้องเสียอากรขาออกหรือไม่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงสั่งให้สำนักกฎหมายรวบรวมประเด็นปัญหาทั้งหมดสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นประเด็นใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร เคยนำความเห็นของด่านศุลกากรไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากรณีดังกล่าวจะต้องเสียอากรขาออกหรือไม่ เดือนกันยายน 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ทำหนังสือตอบกลับมาว่า “ไม่รับข้อหารือดังกล่าวไว้พิจารณา” เนื่องจากอธิบดีกรมศุลกากรยังไม่ได้ใช้อำนาจ ตามมาตรา 15 วรรค 1 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ตีความกรณีดังกล่าว ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมาย ข้อ 9 (2) ระบุว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีเรื่องยังอยู่ในอำนาจการพิจารณาของหน่วยงานนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นไม่รับข้อหารือดังกล่าวไว้พิจารณา ระหว่างนี้ทางกรมศุลกากร จึงยังไม่สามารถส่งหนังสือยืนยันกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นลายลักษณ์อักษรได้