ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (10) : สตง. แนะกรมศุลฯออก จม. เรียกแอมเวย์จ่ายภาษีพ่วงค่าปรับ ก่อนคดีขาดอายุความปี 58 –เจ้าหน้าที่ชี้ไม่มี กม. รองรับ หวั่นทำเกินอำนาจ

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (10) : สตง. แนะกรมศุลฯออก จม. เรียกแอมเวย์จ่ายภาษีพ่วงค่าปรับ ก่อนคดีขาดอายุความปี 58 –เจ้าหน้าที่ชี้ไม่มี กม. รองรับ หวั่นทำเกินอำนาจ

7 พฤศจิกายน 2014


กรณีพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท แอมเวย์ ประเทศไทย จำกัด ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8-9 ปี ดูเหมือนว่าคดีนี้จะได้ข้อยุติ หลังจากที่ประชุม “คณะกรรมการบริหารกรมศุลกากร” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 มีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งให้สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร สรุปสำนวนคดีพร้อมบัญชีพยานหลักฐานส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีบริษัทแอมเวย์ โดย DSI รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าคดีนี้ไม่มีความคืบหน้า DSI ยังไม่ได้นำคดีส่งฟ้องศาล คดีทยอยขาดอายุความเป็นรายใบขน

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร

ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึงนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร สอบถามความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์ พร้อมกับแนะนำให้กรมศุลกากรออกแบบแจ้งประเมินอากรเรียกบริษัทแอมเวย์มาชำระภาษีให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน ก่อนที่คดีทั้งหมดจะขาดอายุความในปี 2558

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากได้รับหนังสือจาก สตง. ตนได้แต่งตั้งคณะทำงานคำนวณค่าอากรส่วนที่ขาด พร้อมค่าปรับเป็นรายใบขนสินค้า ก่อนออกจดหมายเรียกบริษัทแอมเวย์มาชำระภาษีตามคำแนะนำของ สตง. ซึ่งบริษัทอาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินอากร ตามกฎหมายศุลกากร ต้องมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินอากร

“หากบริษัทแอมเวย์มายื่นคำร้องขออุทธรณ์การประเมินภาษีศุลกากร ระหว่างที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำลังพิจารณาคำร้องของบริษัท ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI ให้ต้องหยุดชะงัก เป็นคนละส่วนกัน การดำเนินคดีอาญามีอายุความ 20 ปี ก็ยังคงดำเนินการต่อไปได้” นายสมชัยกล่าว

ภาพมาตรา 112

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่กล้าออกแบบประเมินภาษีบริษัทแอมเวย์ คำแนะนำของ สตง. ไม่มีกฎหมายศุลกากรมาตราใดรองรับ แหล่งข่าวจากรมศุลกากรเปิดเผยว่า กรณีกรมศุลกากรออกแบบประเมินอากร โดยส่งจดหมายเรียกบริษัทมาเสียภาษีให้ถูกต้อง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงมาตราเดียวเท่านั้น คือ มาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 กรณีเจ้าหน้าที่สงสัยว่าผู้นำเข้าเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร เจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าไม่ได้ หากผู้นำเข้าต้องการนำสินค้าออกจากด่านศุลกากร ผู้นำเข้าต้องนำหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวางเป็นหลักประกันเท่ากับมูลค่าภาษี จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะออกแบบแจ้งประเมินอากรตามมาตรา 112 ทวิ เรียกผู้ประกอบการมาชำระภาษีให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน หากผู้นำเข้าไม่ยอมรับการประเมินอากร สามารถมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 112 ฉ

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวต่อไปว่า กรณีแอมเวย์ไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นขณะที่กำลังขนสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร และไม่ได้มีการนำหนังสือค้ำประกันมาวางเป็นหลักประกัน สินค้าได้ผ่านพิธีการศุลกากรมาแล้วหลายปี ต่อมากรมศุลกากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบริษัทและยึดเอกสารมาตรวจสอบ พบว่าอาจจะมีการชำระภาษีไม่ครบถ้วน เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 27 สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทมาเสียภาษีพร้อมค่าปรับย้อนหลัง 10 ปี คิดเป็นมูลค่า “4,600 ล้านบาท” แล้วในระหว่างที่กรมศุลกากรทำหนังสือหารือ “คณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาศุลกากรโลก (WCO)” แต่บริษัทยังไม่มีการชำระค่าภาษี ตามที่สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ทำหนังสือแจ้ง คณะกรรมการบริหาร กรมศุลกากร จึงมีมติให้สำนักกฎหมายสรุปสำนวนส่ง DSI ดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 27

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการประเมินอากรบริษัทแอมเวย์ตามข้อแนะนำของ สตง. ครั้งนี้ อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการเกินขอบเขตอำนาจตามที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติ หรือ ดำเนินการโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งอธิบดีกรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่ที่ออกหนังสือประเมินอากรอาจจะมีความผิด ขณะนี้กรมศุลกากรจึงยังไม่ออกหนังสือแจ้งประเมินอากรบริษัทแอมเวย์