ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางหลักฐาน-ขายคอนเดนเสทจาก JDA ผ่านบริษัทสิงคโปร์ ก่อนขายเครือ ปตท. “ยกเว้น” หรือ “เก็บภาษี”?

กางหลักฐาน-ขายคอนเดนเสทจาก JDA ผ่านบริษัทสิงคโปร์ ก่อนขายเครือ ปตท. “ยกเว้น” หรือ “เก็บภาษี”?

12 ตุลาคม 2017


หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าว ปลัด 3 กระทรวงมีมติร่วม-สั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชะลอการสอบปากคำบริษัทต่างชาติ ผู้ต้องหาคดีหลีกเลี่ยงภาษี” ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรโทรศัพท์มาสอบถามว่า “รายงานผลการประชุม 3 หน่วยงานที่ไทยพับลิก้าใช้ประกอบการนำเสนอข่าว ได้มาจากหน่วยงานใด ทางกระทรวงพลังงานบอกว่า เอกสารหลุดมาจากกรมศุลกากร แต่รายงานผลการประชุมที่สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร นำเสนอต่ออธิบดีกรมศุลกากร ไม่ละเอียดเท่ากับเอกสารที่ไทยพับลิก้านำเสนอ ขอถามว่าไม่ได้มาจากกรมศุลกากรใช่หรือไม่”

ขณะที่นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ประชุม 3 หน่วยงานไม่ได้มีมติแบบนั้น และไม่ขอชี้แจงอะไรเพิ่มเติม” ส่วน พ.ต.อ. ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีการชะลอการสอบปากคำ เพราะกระบวนการสอบปากคำผู้ต้องหาได้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษรอหนังสือยืนยันจากกรมศุลกากรว่าการซื้อ-ขายคอนเดนเสทในกรณีดังกล่าวนี้ ต้องเสียภาษีหรือไม่”

นอกจากที่ประชุมปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรม มีมติให้DSI ชะลอการสอบปากคำคดีความออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติแล้ว ที่ประชุม 3 กระทรวง ยังให้กรมศุลกากรพิจารณา ยืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออก ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก (Physical Movement) มาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 สัปดาห์ ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้า จึงนำประเด็นนี้ไปถามนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ว่ากรมศุลกากรได้ทำหนังสือยืนยันวิธีการจัดเก็บอากรขาออกส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยัง นายกุลิศ กล่าวว่า ยังไม่ได้ส่งหนังสือยืนยันถึงหน่วยงานใดทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีคำถามว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษกับบริษัทผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area: MTJDA) มีประเด็นปัญหาข้อพิพาทกันเรื่องอะไร ทำไมปลัด 3 กระทรวงต้องใช้อำนาจในเชิงบริหารเข้ายับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรมของ DSI ประเด็นที่เป็นปัญหามีที่มาอย่างไร

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2553 ก่อนที่ DSI และอัยการจะเข้ามาทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ด่านศุลกากรสงขลาตรวจพบหลักฐานการซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “คอนเดนเสท” ของบริษัทผู้รับสัมปทานจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มีหลายกรณีอาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ “ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซียว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย” ในข้อ 16 เรื่องเกี่ยวกับภาษีศุลกากร (1) (ก) ระบุว่า “อัตราอากรขาออกที่จะต้องจ่ายโดยผู้ได้รับสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนแบ่งของผู้ได้รับสัญญาในน้ำมันส่วนที่เป็นกำไรที่ขายนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียให้เป็นร้อยละ 10 ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งข้อบทของ (ข) (2) กำหนด ให้ราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเก็บอากร และภาษีของตนที่เก็บได้ตามกฎหมายของตน แต่จะต้องลดอัตราที่นำมาใช้ในการเรียกเก็บลงร้อยละ 50

ความหมายคือ หากผู้รับสัมปทานขายน้ำมันให้กับประเทศอื่นนอกจากประเทศไทยหรือมาเลเซีย ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายภาษีขาออก 10% ของมูลค่า ในส่วนนี้รัฐบาลมาเลเซียไม่เก็บภาษี ขณะที่รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีตามที่ระบุไว้ในตามความตกลงดังกล่าว แต่ให้ลดอัตราภาษีลง 50% ดังนั้นประเทศไทย จึงเก็บอากรขาออก 5% ของมูลค่าน้ำมันที่ขายให้กับประเทศที่ 3

ที่ผ่านมาการซื้อ-ขายคอนเดนเสทจากพื้นที่ JDA ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา หากเป็นการซื้อ-ขายกันโดยตรง ระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานขายให้บริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทยหรือมาเลเซีย แต่ก็มีหลายกรณีที่ด่านศุลกากรสงขลา ตรวจพบ บริษัทผู้รับสัมปทานนำคอนเดนเสทไปขายผ่านคนกลาง ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการอยู่ในประเทศที่ 3 ก่อนนำคอนเดนเสทมาขายให้กับบริษัทในเครือ ปตท. เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ยกตัวอย่าง กรณีบริษัท CARIGALI HESS OPERATION COMPANY SDN BHD นำส่วนแบ่งคอนเดนเสทที่ผลิตได้ จากแหล่งจักรวาล (Cakerawala) ไปมอบให้บริษัท HESS นำไปขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) โดยมีใบรับรองจากองค์ร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) แนบมากับใบขนสินค้า แจ้งต่อด่านศุลกากรสงขลาว่าจะนำคอนเดนเสทล็อตนี้ไปขายให้กับ ปตท. อะโรเมติกส์ฯ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลาจึงทำการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่ได้เก็บอากรขาออก เพราะเป็นการขายให้กับบริษัทไทย

ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/-Xd_ihHIi9gw/Tbd0TE6BpeI/AAAAAAAABGE/sM_lnmEn7-E/s1600/malaysia-JDA.gif

ต่อมาด่านศุลกากรเกิดข้อสงสัย จึงขอให้องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ส่งหลักฐานสัญญาซื้อ-ขายคอนเดนเสททั้งหมด มาให้เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลาทำการตรวจสอบ จึงพบหลักฐานการซื้อ-ขายคอนเดนเสทหลายล็อต ก่อนที่นำเข้ามาขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ฯ อาจไม่ตรงตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซียข้อ 16 จากการตรวจสอบเอกสารการซื้อ-ขายคอนเดนเสทที่องค์กรร่วมไทย-มาเเซียส่งมาให้ด่านศุลกากรสงขลาตรวจสอบ พบว่า บริษัท Hess Oil Company of Thailand (JDA) ได้มอบอำนาจให้บริษัท Hess Global Trading ดำเนินการขายคอนเดนเสทให้กับบริษัท Kernel Oil Pte Ltd ออฟฟิศอยู่ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะส่งมาขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ฯ โดยมีหลักฐานTELEX ยืนยันการส่งมอบสินค้าถึงบริษัท Kernel สิงคโปร์ หลังจากคอนเดนเสทถูกสูบออกจากเรือกักเก็บน้ำมัน (FSOA) และถ่ายลงเรือบรรทุกน้ำมันจนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในคอนเดนเสทล็อตนี้เป็นของบริษัท Kernel สิงคโปร์

แตกต่างจากกรณีการซื้อ-ขายคอนเดนเสทตามปกติที่ไม่ผ่านคนกลาง ยกตัวอย่าง กรณีการขายคอนเดนเสทใหบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีนี้ทางบริษัท Hess Oil Company of Thailand (JDA) มอบอำนาจให้บริษัท Hess Global Trading ขายคอนเดนเสทให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากคอนเดนเสทถูกสูบออกจากเรือกักเก็บ (FSOA) ถ่ายลงเรือบรรทุกน้ำมันของ ปตท. เรียบร้อย ผู้ขายจึงส่งTELEXยืนยันการส่งมอบสินค้าครบถ้วนไปถึงบริษัท ปตท.กรณีหลังนี้กรมศุลกากรไม่เก็บอากรขาออก 5% แน่นอน เพราะขายให้กับบริษัทไทย ตรงตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซีย ข้อ 16 เรื่องเกี่ยวกับภาษีศุลกากร (1)(ก) ทุกประการ

หากนำไปเปรียบเทียบกับกรณีตัวอย่างแรก จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย คือ กรณีการขายคอนเดนเสทผ่านคนกลาง ประกอบกิจการอยู่ในประเทศสิงค์โปร์ ก่อนขายให้บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์ฯ ตรงตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-มาเลเซียหรือไม่?

แต่ยังไม่ทันได้เรียกบริษัทผู้รับสัมปทานมาเสียภาษี ปรากฏว่า สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร มีความเห็นแตกต่างจากด่านศุลกากรสงขลา โดยสำนักกฎหมาย มองว่ากรณีการขายคอนเดนเสทออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย อาจมีการโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือกันได้ ส่วนการจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก หากปลายทางส่งเข้าประเทศไทยหรือมาเลเซีย ก็ไม่ต้องเสียอากรขาออก ตามความตกลงฯ ข้อ 16

ขณะที่ด่านศุลกากรสงขลา มีความเห็นว่า แนววินิจฉัยของสำนักกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บอากรขาออกให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายศุลกากรรองรับ หลักในการจัดเก็บภาษีโดยทั่วไปจะพิจารณาจากจุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้น (Tax Point) ไม่ได้พิจารณาที่การขนส่งไปยังประเทศปลายทาง เช่น กรมสรรพสามิตเดิมเก็บภาษีเมื่อมีการขนสินค้าออกจากโรงงาน Tax Point เกิดขึ้นที่หน้าโรงงาน ปัจจุบันขยับมาเก็บที่ราคาขายปลีก หรือกรมสรรพากร Tax Point เกิดขึ้นตรงจุดที่มีการส่งมอบสินค้า หรือ รับเงิน ส่วนกรมศุลกากร ตามมาตรา 45 ก่อนที่จะส่งของออกนอกราชอาณาจักร ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรและจ่ายภาษีให้ครบถ้วนก่อนขนสินค้าขึ้นเรือ ไม่ได้ระบุให้ดูที่ประเทศปลายทางเป็นหลักแต่อย่างใด สำหรับ กรณีการขายคอนเดนเสทที่ออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม(ไทย-มาเลเซีย) เคยมีมติกำหนดจุดที่มีภาระภาษีเกิดขึ้น ตามกฎหมาย เอาไว้ตรงที่เรือกักเก็บน้ำมัน (FSOA) และจุดตั้งมาตรวัดปริมาณการส่งออกน้ำมัน (Condensate Export Metering Point) ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษี

ดังนั้น หลักในการจัดเก็บภาษีกรณีนี้ จึงต้องพิจารณาที่จุดเรือกักเก็บน้ำมันว่าคอนเดนเสทได้มีการขายและส่งออกให้ใคร กรณีบริษัท Hess ขายคอนเดนเสทให้บริษัท Kernel สิงคโปร์ ด่านศุลกากรสงขลาถือเป็นการขายออกนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย ต้องชำระอากรขาออก 10% ต่อมา Kernel ได้ขายคอนเดนเสทเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ก็ไม่เข้าองค์ประกอบตามพิกัดอัตราศุลกากร ภาค 3 ประเภท 8 (ข)ได้ เพราะคอนเดนเสทที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นกรรมสิทธิ์ของ Kernel สิงคโปร์ ไม่ใช้คอนเดนเสทของบริษัท Hess ผู้รับสัมปทาน จึงไม่อาจนำมายกเว้นภาษีให้แก่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ (Hess)

ภายในกรมศุลกากรจึงมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่งที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จนกระทั่งมาถึงปี 2557 มีหนังสือร้องเรียนพร้อมหลักฐานส่งถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ หลังจาก DSI รับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษร่วมกับพนักงานอัยการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย,สำนักฎหมายกรมศุลกากร,ด่านศุลกากรสงขลา,กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ,บริษัท ปตท. และบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่พัฒนาร่วม สรุปสำนวนคดีเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา ปรากฏว่ามีการนำประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 8/2560 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ เพื่อหาข้อยุติและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ปลัด 3 กระทรวง กลับไปประชุมร่วมกันอีกครั้ง ก่อนที่นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรรมการฯพิจารณาครั้งต่อไป

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดประชุมร่วม 3 หน่วยงานเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 โดยมีมติร่วมกัน ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษชะลอการสอบปากคำคดีความดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ และขอให้กรมศุลกากรพิจารณายืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียในการยกร่างหนังสือรายงานประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ ขอรับความเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 เพื่อขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากร ล่าสุดกรมศุลกากรก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ากรณีบริษัทผู้รับสัมปทานขายคอนเดนเสทจากพื้นที่พัฒนาร่วมฯให้กับประเทศที่ 3 ก่อนขายในราชอาณาจักรไทย ต้องเสีย “อากรขาออก” หรือ “ยกเว้น”?