สืบเนื่องมาจากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้รัฐบาลประเทศผู้ผลิตรถยนต์หรู (Super Car) จัดส่งบัญชีราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูที่แท้จริงมาให้ DSI ใช้ประกอบการสืบสวนและสอบสวน หลังได้รับข้อมูลราคาซื้อ-ขายจากต่างประเทศช่วงปลายปี 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งข้อมูลชุดดังกล่าวนี้ให้กรมศุลกากรวิเคราะห์เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร พบรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ลัมโบร์กีนี ปอร์เช่ เฟอร์รารี มาเซราติ สำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูที่ดีเอสไอได้รับจากต่างประเทศประมาณ 5-58% จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์หรู 3 ราย
และจากการที่ DSI ส่งราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูที่ได้รับจากทางการประเทศต้นทางมาให้กรมศุลกากร ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถยนต์ออกจากด่านศุลกากร วันที่ 28 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปที่นำเข้า ทำบันทึกข้อความด่วนที่สุด (ตีตราลับมาก) ที่ กค 0521 (ส) /ร 2640 ถึงด่านศุลกากรทั่วประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินราคารถยนต์ใหม่ สำหรับรถยนต์ 4 ยี่ห้อ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินราคารถยนต์ที่จะนำมาใช้เป็นฐานคำนวณอัตราภาษี ดังนี้
-
1. รถยนต์ยี่ห้อเฟอร์รารี (Ferrari) นำเข้าจากประเทศอังกฤษ ให้หัก 32.01% ของราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากเว็บไซต์ www.automoto.it
2. รถยนต์ยี่ห้อมาเซราติ (Maserati) นำเข้าจากประเทศอิตาลี ให้หัก 53.52% ของราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากเว็บไซต์ www.automoto.it
3. รถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กีนี (Lamborghini) นำเข้าจากประเทศอิตาลี ให้หัก 27.67% ของราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากเว็บไซต์ www.automoto.it
4. รถยนต์ยี่ห้อปอร์เช่ (Porsche) นำเข้าจากประเทศอังกฤษ ให้หัก 53.52% ของราคารถยนต์รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากเว็บไซต์ www.automoto.it
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้นำเข้ารถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ต้องนำหลักฐานใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทาง และใบเสร็จค่าประกันภัยรถยนต์ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตรวจ-ปล่อยรถยนต์ ทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์หรูที่เคยสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ต้องปรับราคาขึ้น บางรายไม่มีหลักฐานใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทางมาแสดง ก็ไม่สามารถนำรถยนต์นำเข้าผ่านพิธีการศุลกากรได้ วันที่ 14 กันยายน 2560 สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ร้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว วันที่ 28 กันยายน 2560 ศาลปกครอง มีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องของสมาคมฯ ไว้พิจารณา เนื่องจากศาลปกครองมีความเห็นว่าบันทึกข้อความฯ ดังกล่าวไม่ใช่กฎที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป แต่เป็นเพียงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ใช้ประเมินราคารถยนต์นำเข้าภายในกรมศุลกากรเท่านั้น
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่ DSI ส่งราคาซื้อ-ขายรถยนต์ที่แท้จริงมาให้กรมศุลกากรตรวจสอบ ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ โดยขอให้ผู้นำเข้าอิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต” ต้องนำหลักฐานใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทางและใบเสร็จรับเงินค่าประกันภัยมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตรวจปล่อยรถยนต์ หากไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็สามารถนำรถออกจากด่านศุลกากรได้ ณ สิ้นปี 2560 มีรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ตกค้างอยู่ที่ด่านศุลกากรแหลมฉบังประมาณ 900 คัน
ล่าสุด ได้รับรายงานจากนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรว่ามีผู้นำเข้ารถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ นำหลักฐานใบขนสินค้าขาออก และใบเสร็จค่าประกันภัย มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อนำรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรไปแล้วบางส่วน ส่วนรถยนต์นำเข้ายี่ห้ออื่นนอกเหนือจากรถ 4 ยี่ห้อ กรมศุลกากรให้ใช้วิธีการตรวจปล่อยรถยนต์ตามปกติ กล่าวคือ ใช้ราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงเปรียบเทียบกับราคาซื้อ-ขายรถยนต์ในเว็บไซต์ต่างประเทศ และฐานข้อมูลราคาของกรมศุลกากร ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 317/2547
ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 80% ของราคานำเข้า เมื่อนำมารวมกับภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ผู้นำเข้ามีภาระภาษีโดยรวมประมาณ 328% การจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 80% ถือว่าสูงเกินไปหรือไม่ และถ้ามีปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาจะช่วยลดปัญหาสำแดงราคานำเข้าได้แค่ไหน ขณะนี้ตนมอบหมายให้กรมศุลกากรศึกษาข้อดีข้อเสียของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่ ตามข้อเสนอของสมาคมผู้นำเข้ารถยนต์ใหม่ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไม่เห็นด้วย
“ในอดีตที่ผ่านมากรมศุลกากรจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 2 อัตรา คือ 42-65% แต่หลังจากประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนดให้ประเทศไทยปรับอัตราภาษีรถยนต์ขึ้นเป็น 80% ตั้งเป็นกำแพงภาษี เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศ เพราะอุตสาหกรรมภายในประเทศยังสู้รถยนต์นำเข้าไม่ได้ ทำให้รถยนต์ภายในประเทศมีราคาสูงผิดปกติ การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมา อาจทำให้ผู้บริโภคในประเทศได้ใช้ของดี ราคาถูกลงได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอผลการศึกษาจากกรมศุลกากรก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจ” ดร.สมชัยกล่าว
สาเหตุที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ DSI ส่งราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูจากต่างประเทศในปี 2556-2557 มาให้กรมศุลกากรตรวจสอบ พบว่าราคารถหรู 4 ยี่ห้อที่ผู้นำเข้าสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ต่ำกว่าราคาซื้อ-ขายรถยนต์หรูของ DSI มาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อย โดยเฉพาะรถยนต์ 4 ยี่ห้อ หากกรมศุลกากรไม่ดำเนินการใดๆ อาจถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ช่วงแรกจึงมีการทำบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ กค 0521 (ส)/ร 2640 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบ และเปรียบเทียบราคารถยนต์ที่ผู้นำเข้าสำแดง แต่ขณะนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เพราะกรมศุลกากรมีฐานข้อมูลราคารถยนต์นำเข้าที่ทันสมัย (Update) ตรวจเช็คราคาซื้อ-ขายรถยนต์จากเว็บไซต์ต่างประเทศ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากกรมศุลกากรประเทศอังกฤษ รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการตลาดของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพียงพอที่จะใช้ในประเมินความเสี่ยงเรื่องการสำแดงราคาได้
“ขณะนี้ก็มีผู้นำเข้ารถหรู 4 ยี่ห้อ นำหลักฐานใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทาง และใบเสร็จค่าประกันภัย มาขอนำรถหรู 4 ยี่ห้อ ออกจากด่านศุลกากรแหลมฉบังไปแล้วบางส่วน จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ทำการตรวจปล่อยรถยนต์แล้ว 120 คัน เหลือตกค้างอยู่ที่ด่านฯ อีกประมาณ 700-800 คัน ถามว่าทำไมต้องขอดูใบเสร็จรับเงินค่าประกันภัยด้วย ก็เพราะในใบเสร็จรับเงินฯ จะบ่งบอกถึงมูลค่ารถยนต์ที่แท้จริง หากเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุขณะขนส่ง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามสัดส่วนของราคารถยนต์ หรือทุนประกัน ส่วนรถยนต์ที่นำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากประเทศผู้ผลิต (Authorized Dealer) เช่น โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า, มาสด้า, เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ล่าสุดกรมศุลกากรได้ทำการตรวจปล่อยรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรแล้วประมาณ 2,700 คัน” นายกุลิศกล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้นำเข้าที่เสียประโยชน์กำลังลงขันโยกย้ายอธิบดีกรมศุลกากร และข้าราชการกระทรวงการคลังเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกจากตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกุลิศ โดยกล่าวว่า “ไม่ว่าใครที่มานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรช่วงนี้ ก็ต้องทำแบบผม เพราะตอนนี้มีทั้ง ป.ป.ช., สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกระทรวงการคลัง แต่งตั้งกรรมการเข้ามาสอบสวนเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจปล่อยรถหรูกว่า 100 คน หากผมไม่ทำอะไรเลย ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่”