ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. จี้สรรพากร เก็บภาษีนักการเมือง 60 คน เจาะกรณี “ทรัพย์สินงอก-หนี้หดเกิน 50 ล้าน”

สตง. จี้สรรพากร เก็บภาษีนักการเมือง 60 คน เจาะกรณี “ทรัพย์สินงอก-หนี้หดเกิน 50 ล้าน”

20 มีนาคม 2017


นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

จากการที่”ไทยพับลิก้า” เสนอข่าวคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้ใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยให้นำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรวจสอบยันกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90-91) หากตรวจพบรายการใดยังไม่ได้นำมาเสียภาษี ให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินและจัดเก็บภาษีเข้าเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2558 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือถึงนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ส่งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของนักการเมืองในรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมา รวม 113 คน ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรได้จัดส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ สตง. ตามที่ร้องขอ

จากนั้น เจ้าหน้าที่ สตง. ได้นำข้อมูลจากกรมสรรพากรมาตรวจสอบยันกับข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่นักการเมืองกลุ่มนี้แจ้งต่อ ป.ป.ช. 3 ช่วงเวลา คือ รายการทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี พบว่านักการเมือง 60 คนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลงคิดเป็นเงินจำนวนมาก แต่มายื่นภาษีต่อกรมสรรพากรต่ำกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่าง นักการเมืองรายหนึ่งแสดงทรัพย์สินสุทธิ ณ วันรับตำแหน่ง 540 ล้านบาท ณ วันพ้นจากตำแหน่ง 628 ล้านบาท มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาท และคู่สมรสมีหนี้สิน ณ วันรับตำแหน่ง 370 ล้านบาท แต่ ณ วันพ้นตำแหน่งไม่มีหนี้สิน สรุป นักการเมืองและคู่สมรสรายนี้มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น ณ วันพ้นตำแหน่งรวม 458 ล้านบาท เมื่อนำข้อมูล ป.ป.ช. มาสอบยันกับข้อมูลกรมสรรพากร พบว่ายื่นแบบ ภ.ง.ด. โดยแสดงเงินได้พึงประเมินเพียงปีละ 1.5 ล้านบาท และเสียภาษีเพียง 150,000 บาท เท่านั้น คตง. จึงสั่งการให้ สตง. ส่งรายชื่อนักการเมือง 60 คน ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไว้เพียงเล็กน้อย ให้กรมสรรพากรตรวจสอบ หากพบรายใดแจ้งเงินได้ไม่ครบถ้วน ก็ให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

ปรากฏว่าเรื่องที่เงียบหายมานานเกือบ 2 ปีกลับเป็นข่าวอีกครั้ง เนื่องจากกรมสรรพากรไม่รายงานความคืบหน้าให้ สตง. รับทราบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เกรงว่าคดีนี้จะทยอยขาดอายุความเหมือนกับคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ที่กำลังจะครบอายุความวันที่ 31 มีนาคม 2560 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า การตรวจสอบภาษีนักการเมือง 60 คนนั้น เริ่มต้นช่วงต้นปี 2558 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สั่งให้ สตง. ขอข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ของนักการเมือง 113 คน มาสอบยันกับข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ป.ป.ช. ทั้ง 3 ช่วงระยะเวลา คือ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี ซึ่งมีทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและกรณีหนี้สินลดลง ยกตัวอย่างกรณีหนี้สินลดโดยทรัพย์สินไม่ได้เพิ่มขึ้น แสดงว่านักการเมืองรายนี้มีรายได้มาชำระหนี้ และกรณีที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่หนี้สินไม่ได้ลดลง ก็อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีเงินมาซื้อทรัพย์สิน หลังจากนำข้อมูล ป.ป.ช. วิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้ พบว่ามี 113 คนแจ้งเงินได้กับกรมสรรพากรต่ำมาก แต่เนื่องจากประมวลรัษฎากร กำหนดว่า กรณีผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการเงินได้ไว้ไม่ครบ กรมสรรพากรมีอำนาจเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปี หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว กรมสรรพากรจะไม่สามารถเรียกผู้เสียภาษาไต่สวนเพื่อเรียกเก็บภาษีได้ และถ้า สตง. ส่งรายชื่อนักการเมืองทั้งหมดไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ซึ่งมีทั้งรายเล็กรายน้อย ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประเมินภาษีอาจจะได้เงินเข้ารัฐไม่คุ้ม และที่สำคัญ กรมสรรพากรอาจจะตรวจไม่ทัน

ดังนั้น ทาง สตง. จึงกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักการเมืองกลุ่มแรกที่จะส่งไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบดังนี้ 1. เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติ ตรวจสอบเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงขยายผลการตรวจสอบไปถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2. เน้นนักการเมืองที่มีรายการทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือหนี้สินลดลงมากกว่า 50 ล้านบาท จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ได้นักการเมืองกลุ่มแรกที่จะส่งไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบ 60 คน ทาง สตง. จึงส่งข้อมูลรายชื่อทั้งหมดไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าจากกรมสรรพากร หลังวันที่ 31 มีนาคม 2560 (คดีหุ้นชินคอร์ปฯ ครบอายุความ) สตง. จะทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรอีกครั้ง หากกรมสรรพากรออกจดหมายเรียกนักการเมืองกลุ่มนี้มาไต่สวนล่าช้าออกไป 1 ปี เกรงว่าคดีจะทยอยขาดอายุความ ทั้งอธิบดีกรมสรรพากรและเจ้าพนักงานประเมินอาจมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติ

“กรณี สตง. ออกมาเร่งรัดกรมสรรพากรให้ดำเนินการจัดภาษีนักการเมือง 60 คน ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า สตง. ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เร่งรัดให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเฉพาะคดีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ สตง. ไม่ได้เร่งรัดให้กรมสรรพากรเก็บภาษีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ด้านนักธุรกิจใหญ่ที่ครอบครองรถหรู สตง. ได้นำรายชื่อผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์รถหรูจากกรมการขนส่งทางบกมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้และส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการ รวมทั้งกรณีมหาเศรษฐีนำสินสอดมูลค่า 50 ล้านบาท มาหมั้นเจ้าสาว และกรณีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ สตง. ได้นำรายได้จากการรับเหมางานของราชการมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแบบแสดงรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีการรวบรวมข้อมูลนำส่งกรมสรรพากรให้ดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่เป็นข่าว” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สตง. ได้เร่งรัดให้กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วน คาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท เช่น เร่งรัดให้มีการเรียกเก็บภาษีจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด, ภาษีรถหรู, ภาษีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นต้น ยกตัวอย่าง กรณีการจัดเก็บภาษีป้ายโฆษณา สตง. ตรวจพบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเก็บภาษีเฉพาะป้ายเล็กๆ ป้ายใหญ่ๆ ไม่เก็บ เพราะเป็นป้ายโฆษณาของแม่ยายนักการเมืองท้องถิ่น หรือกรณีกรมสรรพากรประเมินภาษีบ้านเช่าเล็กๆ ขณะที่อพาร์ตเมนต์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตากผ้ากันทุกห้อง แต่พอไปตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีของกรมสรรพากรแจ้งว่าห้องว่าง อยู่ไม่เต็ม เป็นต้น

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

“ช่วงแรกที่ สตง. ส่งรายชื่อนักการเมือง 60 คนให้กรมสรรพากรตรวจสอบ กรมสรรพากรก็ยังไม่ได้ดำเนินการทันที กรมสรรพากรทำหนังสือไปสอบถาม ป.ป.ช. ว่านักการเมืองทั้ง 60 คนร่ำรวยเป็นปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ และอยู่ในระหว่างถูก ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบกรณีปกปิดทรัพย์สินหรือไม่ ป.ป.ช. ทำหนังสือแจ้งกรมสรรพากรว่า ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว นักการเมือง 60 คนร่ำรวยเป็นปกติ ไม่ได้ปกปิดทรัพย์สินอะไร กรมสรรพากรนำผลการพิจารณาของ ป.ป.ช. แจ้ง สตง. ให้รับทราบ ทาง สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งกรมสรรพากรกลับไปว่า ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ กรมสรรพากรก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งมันเป็นเรื่องแปลก หากเจ้าหนักงานประเมินเพิกเฉย อาจมีความผิดฐานละเว้นตามมาตรา 157 ประเด็นนี้สรรพากรไม่กลัว แต่กลับไปกลัวถูกนักการเมืองฟ้องมากกว่า ทั้งๆ ที่ถูกฟ้องเหมือนกัน” นายพิศิษฐ์กล่าว

ตรวจบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนักการเมืองได้ที่นี่