ThaiPublica > เกาะกระแส > มาตรการคตง.ได้ผล สรรพากรยอมส่งแบบภ.ง.ด.90-91นักการเมือง 113 รายให้ตรวจสอบ พบหลายรายเลี่ยงภาษี จี้เรียกเก็บเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับ ตามด้วยคดีอาญา

มาตรการคตง.ได้ผล สรรพากรยอมส่งแบบภ.ง.ด.90-91นักการเมือง 113 รายให้ตรวจสอบ พบหลายรายเลี่ยงภาษี จี้เรียกเก็บเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับ ตามด้วยคดีอาญา

11 พฤศจิกายน 2015


นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) คนใหม่ได้แถลง “นโยบาย”ว่าได้มอบหมายผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพากร ใช้มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ เบื้องต้นให้นำรายการบัญชีทรัพย์สินที่รายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสอบยันกับแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษี (ภ.ง.ด.90-91) หากตรวจพบรายการใดยังไม่เสียภาษี ให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษี และจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

จากนั้นวันที่ 15 มกราคม 2558 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือถึงนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เสนอให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยนำรายการบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสอบยันกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้ง ภ.ง.ด.90-91 ของกรมสรรพากร หากพบรายการใดยังไม่ได้เสียภาษีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีและจัดเก็บภาษีส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ล่าสุดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)มีนโยบายให้ใช้มาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันนั้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึงนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ขอให้ส่งแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของบุคคลในรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมารวม 113 คน แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรได้ส่งแบบภ.ง.ด.ตามคำขอ

จากนั้นสตง.ได้นำแบบภ.ง.ด.ที่ได้รับจากกรมสรรพากรมาเปรียบเทียบกับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของแต่ละบุคคลที่ยื่นต่อสำนักงานป.ป.ช. ณ วันรับตำแหน่งและวันที่พ้นตำแหน่ง ปรากฏว่านักการเมืองหลายรายมีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นนับร้อยล้านบาท แต่แสดงเงินได้พึงประเมินในแบบภ.ง.ด.เพียงปีละ 1.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีการใด แม้จะได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชันก็ตาม

สตง.จึงดำเนินการเสนอเรื่องต่อคตง. เพื่อแจ้งกรมสรรพากรให้ออกหมายเรียก ตรวจสอบและประเมินภาษีนักการเมืองรายนั้นๆพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยให้ใช้วิธีปกติตามมาตรา 19 ถึง 27 แห่งประมวลรัษฎากรก่อน หากไม่อาจใช้วิธีการปกติได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เสียภาษี ทำให้เจ้าหน้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรไม่อาจทราบรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงได้ ก็ให้ใช้วิธีการพิเศษตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร โดยประเมินจากทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ให้ดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วย

ทั้งนี้นายชัยสิทธิ์ได้ให้ตัวอย่างนักการเมืองรายหนึ่งที่แสดงทรัพย์สินสุทธิ ณ วันรับตำแหน่ง 540 ล้านบาท ณ วันพ้นตำแหน่ง 628 ล้านบาท มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาท และคู่สมรสมีหนี้สิน ณ วันรับตำแหน่ง 370 ล้านบาท แต่ ณ วันพ้นตำแหน่งไม่มีหนี้สิน นักการเมืองและคู่สมรสจึงทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น ณ วันพ้นตำแหน่งรวม 458 ล้านบาท มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้นที่ยื่นแบบภ.ง.ด.โดยแสดงเงินได้พึงประเมินเพียงปีละ 1.5 ล้านบาท และเสียภาษีเพียง 150,000 บาท เท่านั้น นักการเมืองและคู่สมรสจึงเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนและมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี เป็นบุคคลที่สตง.จะขอให้คตง.แจ้งสรรพากรประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรเช่นเดียวกับนักการเมืองรายอื่นๆอีกหลายรายด้วย ซึ่งมาตรการนี้สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้