ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ด คตง. ไฟเขียว สตง. ทำจดหมายเร่งอธิบดีสรรพากรตรวจสอบภาษีทรัพย์สินนักการเมือง-ขรก.-นักธุรกิจ ภายใน 60 วัน – เตรียมใช้ ม.157-ผิดวินัยราชการ

บอร์ด คตง. ไฟเขียว สตง. ทำจดหมายเร่งอธิบดีสรรพากรตรวจสอบภาษีทรัพย์สินนักการเมือง-ขรก.-นักธุรกิจ ภายใน 60 วัน – เตรียมใช้ ม.157-ผิดวินัยราชการ

16 เมษายน 2015


สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นอกจากจะมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแล้ว หลายคนคงไม่ทราบว่า สตง. ยังมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบกรมจัดเก็บภาษีรวมไปถึงการใช้จ่ายเงินราชการลับด้วย ที่ผ่านมามุ่งเน้นการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่หลังจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่ (คตง.) เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองช่วงต้นปีงบประมาณ 2557 ทำให้การจัดเก็บภาษีของกระทรวงการคลังต่ำเป้าหมายกว่า 2 แสนล้านบาท

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

ทั้งนี้เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. จึงมีนโยบายให้ สตง. จัดตั้งหน่วยตรวจสอบกรมจัดเก็บภาษี โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล ลดการขาดดุลงบประมาณแล้ว และมาตรการภาษียังเป็นเครื่องมือที่หลายประเทศนำมาใช้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การตรวจสอบได้เริ่มที่กรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล จากนโยบายดังกล่าวข้างต้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ สตง. ที่ดูแลรับผิดชอบหน่วยงานจัดเก็บภาษี ต่อกรณีการดำเนินการของสตง. ที่ได้ทักท้วงในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. ขอให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีทรัพย์สินของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ 2. ขอให้กรมสรรพากรเร่งรัดติดตามหนี้ที่ผู้เสียภาษีค้างชำระ คิดเป็นวงเงิน 130,000 ล้านบาท

กรมสรรพากรมีหน้าที่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยประเมินจากรายได้ หรือที่เรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ขณะที่มาตรา 49 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สรรพากรประเมินหรือเรียกเก็บภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้ กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2482 แต่เป็นที่น่าเสียดาย กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองและนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติเพียง 2 ครั้ง คือ ปี 2507 ประเมินภาษีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และปี 2534 ประเมินภาษีคณะรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหน สั่งการให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติอีกเลย

โดยประมวลรัษฎากรให้อำนาจกรมสรรพากรประเมินภาษีทรัพย์นักการเมืองตั้งแต่ปี 2482 ภาคปฏิบัติมีระเบียบรองรับ เพราะเคยดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งนี้สามารถใช้ฐานข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน หนี้สิน

ในทางปฏิบัติที่ผ่านมากว่า 20 ปี กรมสรรพากรไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรานี้แต่อย่างใด วันที่ 12 ธันวาคม 2557 นายชัยสิทธิ์ อาศัยอำนาจประธาน คตง. สั่งการให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ขอให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

10 อันดับ ส.ส. ที่มีทรัพย์สินสูงสุด

จนถึงขณะนี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่ สตง. ร้องขออย่างเป็นรูปธรรม และทำหนังสือตอบกลับมาที่ สตง. โดยระบุว่า “หาก สตง. พบว่าบุคคลใดเสียภาษีไม่ถูกต้อง ขอให้แจ้งกรมสรรพากรดำเนินการต่อไป”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ที่ประชุม คตง. อาศัยอำนาจตามมาตรา 15(4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มีมติให้ สตง. ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากร โดยขอให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีทรัพย์สินของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติ โดยให้เวลากรมสรรพากรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจาก สตง. หากกรมสรรพากรไม่ดำเนินการ ถือว่ามีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63-64 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ สตง. จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงให้ลงโทษทางวินัยกับอธิบดีกรมสรรพากร พร้อมกับส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“หนังสือ สตง. ที่ทำถึงอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 2 แตกต่างจากฉบับแรกตรงที่ว่า ฉบับแรกประธาน คตง. สั่งการให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมือง ถือเป็นการใช้อำนาจในทางบริหาร แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ สตง. จึงจำเป็นต้องออกหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 2 คราวนี้เป็นมติบอร์ด คตง. มีผลผูกพันตามกฎหมาย หากอธิบดีกรมสรรพากรฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม ถือว่ามีความผิดทางวินัย ตามมาตร 63-64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 และยังมีความผิดตามมาตรา 157 ของ ป.ป.ช. ด้วย ส่วนเรื่องการติดตามหนี้ภาษีอากรค้างชำระมูลค่า 130,000 ล้านบาท ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากกรมสรรพากรว่าจะดำเนินการอย่างไร สตง. คงต้องเร่งรัดต่อไป” นายชัยสิทธิ์ กล่าว