ThaiPublica > คนในข่าว > “ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” ประกาศจุดยืน “คตง.ไม่ใช่เสือกระดาษ” งัดกฎหมายฟันคอร์รัปชัน ใช้มาตรการภาษีสะกัดนักการเมือง ข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ

“ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” ประกาศจุดยืน “คตง.ไม่ใช่เสือกระดาษ” งัดกฎหมายฟันคอร์รัปชัน ใช้มาตรการภาษีสะกัดนักการเมือง ข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ

6 กุมภาพันธ์ 2015


สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของชาติ แต่เนื่องจากองค์กรแห่งนี้ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้องค์กรแห่งนี้ตกอยู่ในสภาวะ “สุญญากาศ” ขาดผู้นำมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รักษาการผู้ว่า สตง. ส่งหนังสือถึงหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ทำผิดระเบียบข้อบังคับของทางราชการ โดยขอให้แก้ไขและปรับปรุงให้ถูกต้อง ปรากฏว่าหน่วยงานเหล่านี้กลับเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สตง. มีเรื่องทำนองนี้ตกค้างถึง 8,000 เรื่อง ทำให้คนภายนอกมององค์กรแห่งนี้ว่าเป็นแค่ “เสือกระดาษ”

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำเร็จเรียบร้อย ได้ทำการปลดล็อกกลไกการตรวจสอบเงินแผ่นดินที่หยุดชะงักมานานให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง โดยอาศัยอำนาจของ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 71/2557 กำหนดหลักเกณฑ์การสรรหา คตง. และผู้ว่าการ สตง. จากนั้น กระบวนการคัดเลือกได้ดำเนินการมาจนกระทั่งได้ผู้นำ สตง. ชุดใหม่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตประธานศาลอุทธรณ์ เป็นประธาน คตง. พร้อมกับกรรมการ คตง. อีก 6 คน โดยมีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่าการ สตง.

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

วันที่ 6 มกราคม 2558 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. คนใหม่ เปิดแถลง “นโยบาย” ต่อสื่อมวลชนว่า สตง. ยุคนี้มุ่งเน้นตรวจสอบกรมจัดเก็บรายได้คู่ขนานกับการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐ โดยมอบหมายผู้ว่าการ สตง. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพากร ใช้มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ เบื้องต้นให้นำรายการบัญชีทรัพย์สินที่รายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสอบยันกับแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษี (ภ.ง.ด.90-91) หากตรวจพบรายการใดยังไม่เสียภาษี ให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษี และจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง

หลังจากที่หนังสือ สตง. ส่งถึงกรมสรรพากร “นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร” ออกมาให้สัมภาณ์สื่อมวลชนว่า “ที่ผ่านมากรมสรรพากรมีหน้าที่ตรวจสอบผู้เสียภาษีทุกรายอยู่แล้ว แต่ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบไม่ได้ว่า กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีนักการเมืองคนไหนบ้าง เพราะมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร ห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษี หาก สตง. พบเบาะแส นักการเมือง หรือผู้เสียภาษีรายใดเสียภาษีไม่ครบถ้วน ขอให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบต่อไป”

“นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงทิศทางและนโยบายของ คตง. ดังนี้

ไทยพับลิก้า: นโยบายที่ผลักดันให้สรรพากรประเมินภาษีนักการเมือง

ประเทศไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90-91) แค่ 8-9 ล้านคนต่อปี และคนที่จ่ายภาษีให้กรมสรรพากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ส่วนกลุ่มเศรษฐี พ่อค้า นักธุรกิจมีจำนวนไม่มากนัก ทุกวันนี้ “โครงสร้างภาษีไทย” จึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดความเป็นธรรม

กลุ่มมนุษย์เงินเดือนหนีภาษีไม่ได้ ต้องก้มหน้าก้มตาจ่ายภาษี ขณะที่กลุ่มเศรษฐีมีที่ปรึกษากฎหมายให้คำแนะนำ วางแผนภาษี ดังนั้น หากกรมสรรพากรเน้นเก็บภาษีจากฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ภาษีที่จัดเก็บได้ ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สตง. จึงต้องเสนอแนะให้กรมสรรพากรขยายฐานภาษี โดยใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร เก็บภาษีจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ควบคู่ไปกับการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ หากกรมสรรพากรปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรอย่างจริงจัง นอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว และยังช่วยป้องสกัดนักการเมืองคอร์รัปชันไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองในสภาได้ด้วย

“ผมมั่นใจมาตรการภาษี สามารถปราบคอร์รัปชันได้ดีกว่ามาตรการอื่นๆ แน่นอน ยกตัวอย่าง เจ้าพ่ออัลคาโปน ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินคดีกับแก๊งอัลคาโปนได้ แต่ในที่สุด เจ้าพ่ออัลคาโปนก็ต้องติดคุกในข้อหาหลบเลี่ยงภาษี”

ไทยพับลิก้า: ประเทศไทยเคยนำมาตรา 49 มาใช้เป็นเครื่องมือปราบคอร์รัปชันอย่างไรบ้าง

เคยใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นคดีแรก จอมพลสฤษดิ์ช่วงที่มีชีวิตอยู่ไม่ได้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีจากกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ คดีนี้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้หลายร้อยล้านบาท

ต่อมาปี 2534-2535 พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หรือ “บิ๊กจ๊อด” ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้ 2 มาตรการจัดการกับนักการเมือง คือ ยึดทรัพย์ และสั่งให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษี

มาตรการยึดทรัพย์นักการเมือง ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ผ่านกระบวนการของศาล จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะคำสั่งคณะปฏิวัติถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีศักดิ์เทียบเท่ารัฐธรรมนูญ น่าจะยึดทรัพย์สินนักการเมืองได้ แต่ศาลฎีกาตัดสินออกมาแล้วก็ต้องยอมรับ

สมัยนั้นมาตรการยึดทรัพย์ทำไม่สำเร็จ ทรัพย์สินที่ถูกอายัดต้องคืนให้นักการเมือง แต่มาตรการภาษีกลับใช้ได้ผล กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีอดีตรัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองหลายคนยอมจ่ายภาษีให้กรมสรรพากร แต่มีประมาณ 2-3 ราย ต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้นักการเมืองที่สู้คดีจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรคนละ 200-300 ล้านบาท รวมกรมสรรพากรเก็บภาษีนักการเมืองได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เป็นข่าวว่านักการเมืองคนไหนจ่ายภาษีให้กรมสรรพากร

“นักการเมืองพวกนี้มีเงินหลายพันล้านบาท ยอมจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรแค่ 200-300 ล้านบาท ยังมีเงินเหลืออีกเป็นจำนวนมาก นักการเมืองกลุ่มนี้จึงมีเงินเล่นการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ หากวันนั้นมาตรการยึดทรัพย์ของบิ๊กจ๊อดใช้ได้ผล สามารถสกัดนักการเมืองกลุ่มนี้ ไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองได้ บ้านเมืองอาจจะไม่เสียหายเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

ปี 2549 พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน (บิ๊กบัง) อดีตหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้สั่งการให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองอีกเลย รวมทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ไม่ได้ใช้มาตรการภาษีนี้เช่นกัน

“ผมในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเสนอแนะให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการที่ร่ำรวย ไม่ทราบว่างานนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าเป็นมาตรการสกัดกั้นนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองได้ดีที่สุด เบื้องต้นควรจัดการกับนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติก่อน แล้วขยายผลไปยังกลุ่มเศรษฐี”

“เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร ขอให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีนักการเมือง, ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยปิดปกติ โดยให้นำรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. มาตรวจสอบยันกับแบบแสดงรายการผู้เสียภาษี ทั้งแบบ ภ.ง.ด.90-91 หากตรวจพบทรัพย์สินรายการใดยังไม่ได้เสียภาษีให้ใช้มาตรการ 49 ประเมินภาษี ให้จัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง และให้รวมถึงนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติด้วย”

อย่างเช่น เขายื่นแบบแสดงแสดงรายการผู้เสียภาษีมีรายได้เดือนละ 1-2 แสนบาท แต่มีเงินสร้างบ้านมูลค่า 100 ล้านบาท ใช้เงินรายได้จากแหล่งใดมาสร้างบ้าน ต้องถามว่าเสียภาษีหรือยัง หากยังไม่เสียก็จัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง โดยกรมสรรพากรสามารถใช้มาตรา 49 ประเมินและจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่จดทะเบียนกับหน่วยงานต่างๆ เช่น บ้าน ที่ดิน อาคารพาณิชย์ หุ้นสามัญ เชื่อว่าวิธีนี้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้แน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรจะทำหรือเปล่าเท่านั้น

ไทยพับลิก้า: สรรพากรบอกว่าตรวจภาษีทุกรายอยู่แล้ว แต่เปิดเผยไม่ได้ หาก สตง. มีข้อมูล ขอให้ส่งเป็นรายกรณีไป

สตง. ไม่มีหน้าที่ไปเดินตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายบุคคล เพื่อส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบ แต่เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเองต้องตรวจสอบภาษีทุกคน หนังสือที่ สตง. ส่งถึงอธิบดีกรมสรรพากรเป็นเพียงข้อเสนอแนะส่งให้กรมสรรพากรตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2557 จนถึงวันนี้กรมสรรพากรก็ยังเพิกเฉย ไม่ทำหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ หากไม่ทำตามข้อเสนอแนะของ สตง. ซึ่งวันที่ 16 มกราคม 2558 ผมจะบรรจุเรื่องนี้เข้าวาระที่ประชุม คตง. เพื่อขอมติที่ประชุมออกมาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้น

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

ไทยพับลิก้า: มาตรการที่ว่าคืออะไร

บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มาตรา 15 (4) ระบุว่า “ให้ คตง. มีอำนาจเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจ (กรมสรรพากร) ดำเนินการตามที่ คตง. มีข้อเสนอแนะ ให้เป็นไปตามกฎหมาย” หาก สตง. มีข้อเสนอแนะให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 49 จึงเป็นหน้าที่กรมสรรพากรต้องดำเนินการ

แต่ถ้ากรมสรรพากรไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ คตง. จะใช้อำนาจมาตรา 17 (1) เรียกให้อธิบดีกรมสรรพากรมาชี้แจง หากไม่มาหรือไม่ให้ความร่วมมือ ถือว่ามีความผิดทางวินัย ตามมาตรา 63 และมีโทษปรับและจำคุก หรือทั้งจำคุกและปรับตามมาตรา 64 ด้วย นอกจากนี้อาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นี่เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีใครรู้ กฎหมายให้อำนาจ คตง. ที่จะใช้เป็นเครื่องมือการลงโทษ หน่วยรับตรวจที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คตง. โดยที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร

ไทยพับลิก้า: การนำบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้กับกรมสรรพากร ต้องผ่านกระบวนการศาลหรือไม่

ต้องผ่านกระบวนการศาล กล่าวคือ คตง. ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี เพื่อนำสรุปสำนวนส่งอัยการฟ้องศาลต่อไป กระบวนการมีอยู่แล้ว แต่ 10 ปีที่ผ่านมา สตง. ไม่มี คตง. จึงไม่มีผู้ที่จะมาพิจารณาและใช้อำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว (มาตรา 15(4) มาตรา 17 มาตรา 64 และประมวลกฎหมายอาญา 157) ลงโทษหน่วยงานที่ผ่าฝืน ในอดีต สตง. ได้รับสมญานามว่าเป็นเสือกระดาษ อาจจะเป็นความจริง แต่นับจากนี้ สตง. จะไม่ใช่เสือกระดาษอีกต่อไป เพราะตอนนี้มี คตง. แล้ว

ไทยพับลิก้า: กรมสรรพากรอ้างมาตรา 10 ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีให้บุคคลภายนอกรับทราบ

มาตรา 39(2)(จ) ระบุว่า “หน่วยรับตรวจ (กรมสรรพากร) ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีอากร ผู้ชำระค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด ให้ สตง. ตามที่ร้องขอ และการให้ข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ดังนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรที่นำข้อมูลมาเปิดเผยให้ สตง. ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิดตามมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มีศักดิ์เหนือกว่าประมวลรัษฎากร

ไทยพับลิก้า: ทำไมกรมสรรพากรไม่กล้าใช้มาตรการภาษีจัดการกับนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ

ผมเข้าใจว่าการใช้มาตรา 49 สรรพากรต้องทำงานหนักมาก ตรวจภาษีนักการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่ค่อยมีใครอยากทำ การตรวจสอบประเมินภาษีนักการเมือง กรมสรรพากรมีระเบียบปฏิบัติรองรับไว้พร้อมทั้งหมดแล้ว ไม่ต้องออกระเบียบอะไรใหม่ หากต้องการทำจริง สามารถดำเนินการได้ทันที

สมมติ นักการเมืองมีรายได้จากคอร์รัปชัน 1,000 ล้านบาท จริงๆ ต้องเสียภาษี ซึ่งประมวลรัษฎากรไม่มีข้อยกเว้นว่าต้องเก็บภาษีจากรายได้ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น รายได้ผิดกฎหมายก็ต้องเสียภาษีด้วย แต่คงไม่มีนักการเมืองรายใดนำรายได้ 1,000 ล้านบาท มาเสียภาษีกับกรมสรรพากรแน่นอน ถ้ายอมเสียภาษีเท่ากับยอมรับว่าตนคอร์รัปชัน นักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติจึงต้องปกปิดทรัพย์สินบางส่วนเอาไว้

เงิน 1,000 ล้านบาท ที่ได้มาจากคอร์รัปชัน นักการเมืองทำอย่างไร ก็อาจจะนำไปซื้อบ้านราคาแพง ซื้อหุ้น เพชร พลอย ทองคำ หากเป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนอยู่ในระบบ กรมสรรพากรตรวจสอบได้ทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สินที่ใช้ชื่อภรรยา ลูก ญาติพี่น้อง เป็นผู้ถือครอง กรมสรรพากรตามไปตรวจสอบได้ แค่ถามว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ เสียภาษีหรือยัง แต่ถ้าไม่เสียภาษีมีความผิด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 มีโทษจำคุก 3 เดือน-7 ปี ปรับ 2,000-200,000 บาท

ดังนั้น หากกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมือง ข้าราชการ ดำเนินคดีอาญาจนกระทั่งศาลสั่งจำคุก ก็จะทำให้นักการเมืองที่คอร์รัปชันขาดคุณสมบัติ เข้ามาเล่นการเมืองไม่ได้อีก วิธีนี้เป็นวิธีการสกัดนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองนั่นเอง

ไทยพับลิก้า: ทำไมถึงต้องมาเร่งทำช่วงนี้

ช่วงนี้ควรทำอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ขอถามว่ามีอธิบดีกรมสรรพากรคนไหนจะกล้าทำ ขนาดยังไม่มีการเลือกตั้ง อธิบดีกรมสรรพากรยังไม่กล้าทำเลย ยิ่งถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรไม่กล้าทำแน่นอน เพราะนักการเมืองคือเจ้านายเขา ทำให้ สตง. ต้องเร่งรัดให้กรมสรรพากรประเมินภาษีนักการเมืองภายในปีนี้ สำหรับนักการเมืองที่เคยยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 กรมสรรพากรสามารถตรวจภาษีย้อนหลังได้ 5 ปี แต่ถ้าไม่เคยยื่นแบบ ภ.ง.ด. เลย ตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังได้ถึง 10 ปี

อีกเรื่องที่กรมสรรพากรไม่ได้ดำเนินแก้ไข ปล่อยให้เป็นปัญหามานาน คือ เรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ ปัจจุบันกรมสรรพากรมีผู้เสียภาษีค้างชำระค่าภาษีมียอดรวมถึง 130,000 ล้านบาท ซึ่งในเร็วๆ นี้ คตง. ต้องออกหนังสือเร่งรัดกรมสรรพากรดำเนินการบังคับคดีกับผู้เสียภาษีที่ค้างชำระหนี้ ขณะนี้ สตง. มีข้อมูลเฉพาะในส่วนของกรมสรรพากร แต่ยังมีหนี้ภาษีอากรค้างชำระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง (อปท.) ที่ยังไม่มีข้อมูล คตง. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ตรวจสอบยอดหนี้ภาษีอากรค้างชำระของ อปท. เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ทันทีที่ได้ตัวเลขชัดเจน คตง. ก็จะทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดให้ อปท. ติดตามทวงหนี้ที่ผู้เสียภาษีค้างชำระเช่นเดียวกัน

“หากเราขันน็อตให้ดีๆ อุดรูรั่วไหลให้ได้ บางทีรัฐบาลอาจจะไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีมรดกได้เงินเข้ารัฐแค่ 2,000 ล้านบาท แค่กรมสรรพากรไปติดตามทวงหนี้ผู้เสียภาษีให้ได้แค่ 30% ก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมหนี้ภาษีอากรในส่วนของ อปท.”

เดิมที สตง. เน้นตรวจเฉพาะด้านรายจ่าย (การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน) แต่ต่อจากนี้ไปเน้นตรวจสอบหน่วยจัดเก็บรายได้ด้วย เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบจ.) ขณะเดียวกัน ก็ยังคงตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานเหล่านี้อย่างเข้มข้นคู่ขนานกันไป

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม

ไทยพับลิก้า: นอกจากกรมสรรพากรแล้ว คตง. จะเข้าตรวจกรมไหนอีก

กรมศุลกากรอยู่ในข่ายที่ สตง. ต้องเข้าไปตรวจสอบหลายประเด็น เช่น ประเด็นการ “ยอมรับราคา” ที่ผู้นำเข้าสำแดงเพื่อใช้เป็นฐานการคำนวณภาษี เจ้าหน้าที่ สตง. ต้องตรวจสอบดูว่าราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง และเจ้าหน้าที่ศุลกากรยอมรับเป็นราคาศุลกากรที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรยอมรับพิกัดผิดประเภท ทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าความเป็นจริง และยังมีกรณีส่งออกเทียม ผู้ส่งออกสำแดงราคาสินค้าสูงเกินความเป็นจริง เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และขอคืนเงินชดเชยอากร

อย่างเช่น กรณีเจ้าหน้าที่สรรพากรคืน VAT ให้กับผู้ส่งออกเศษเหล็ก 3,000-4,000 ล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรออกหนังสือรับรองว่ามีการส่งออกจริง จนเป็นเหตุให้ต้องคืน VAT ตามเอกสารหลักฐานของกรมศุลกากร แต่เท่าที่ทราบกระทรวงการคลังยังไม่เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ศุลกากรเลย เร็วๆ นี้ คตง. ต้องทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เสนอแนะให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ออกหลักฐานยืนยันว่ามีการส่งออกเศษเหล็กจริง แต่คงต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน เพราะเรื่องการตรวจสอบกรมจัดเก็บรายได้มีความสลับซับซ้อนกว่ารายจ่าย ในระยะต่อไป สตง. ต้องเร่งจัดตั้งสำนักตรวจสอบกรมจัดเก็บรายได้ขึ้นมาทำหน้าที่นี้

ไทยพับลิก้า: สำนักตรวจสอบกรมจัดเก็บรายได้มีหน้าที่อะไรบ้าง

ตรวจสอบหน่วยจัดเก็บภาษีทุกหน่วย อาทิเช่น กรมสรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร เทศบาล อบต. อบจ. และหน่วยรับตรวจที่เก็บค่าธรรมเนียม เช่น กรมที่ดิน เก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดิน รัฐวิสาหกิจที่หารายได้ให้กับรัฐทุกแห่งที่มีหน้าที่หารายได้ให้กับรัฐบาล ตรวจสอบทั้งฝั่งรายได้และรายจ่าย การใช้จ่ายเงินถูกต้องตามระเบียบราชการ ประหยัดคุ้มค่าหรือไม่ หากใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย สตง. มีอำนาจท้วงติงได้ อย่างเช่น กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่งตั้งที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก รับเงินเดือนเป็นแสนบาท ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือเปล่า

รวมทั้งกรณีที่ กสทช. พากรรมการ, ที่ปรึกษาและเลขานุการกรรมการ ดูงานต่างประเทศ กำลังตรวจสอบว่าไปทำงานจริงหรือไม่ คุ้มค่า หรือ เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร สำนักตรวจสอบกรมจัดรายได้ไม่ได้ตรวจเฉพาะรายได้จากภาษีอากรเท่านั้น ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ของรัฐวิสาหกิจก็ตรวจสอบ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน เช่น การบินไทย ปตท. ธนาคารกรุงไทย ส่งรายได้ในรูปของภาษีเดิม สตง. ตรวจสอบและรับรองงบการเงินอย่างเดียว แต่ต่อไปนี้ต้องตรวจสอบในเชิงลึกด้วย

ไทยพับลิก้า: กองทุนหมุนเวียนอยู่ในข่ายถูกตรวจสอบหรือไม่

กำลังตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ของกรมการขนส่งทางบก โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากการประมูล “ป้ายทะเบียนเลขสวย” นอกจากนี้ สตง. ยังเข้าไปตรวจสอบมูลนิธิอีกหลายแห่งที่ส่วนราชการจัดตั้งขึ้นมา มูลนิธิเหล่านี้นำเงินไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณกุศล และเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ หรือ เป็นการหาผลประโยชน์ให้พรรคพวก กำลังตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนหรือไม่ หากพบว่ามีการทุจริต ต้องส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินคดีทันที แต่เป็นเรื่องผิดระเบียบ สตง. ทักท้วงไป ส่วนราชการปรับปรุงแก้ไข เรื่องก็จบ

ไทยพับลิก้า: นอกจากตรวจสอบภาษีนักการเมืองเน้นเรื่องอื่นอีกหรือไม่

ตอนนี้มีเรื่องค้างอยู่ 8,000 เรื่อง กรณีรักษาการ สตง. ทำหนังสือทักท้วงส่วนราชการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และขอให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไข ทั้ง 8,000 เรื่องที่ว่านี้มีวงเงินหลายพันล้านบาท ยังไม่ได้รับคำตอบจากส่วนราชการว่ามีการแก้ไขแล้วหรือยัง คตง. จึงมีนโยบายและสั่งการให้ สตง. ออกหนังสือไปใหม่ โดยให้ระบุด้วยว่าให้ดำเนินการแก้ไข และเรียกเงินคืนในกรณีใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้อง และส่วนราชการให้ดำเนินการภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการมีความผิดวินัย ตามาตรา 63 มาตรา 64 และผิดมาตรา 157 ด้วย

ไทยพับลิก้า: มานั่งตำแหน่งประธาน คตง. มีวาระอะไรบ้างที่ต้องการจะทำ

อยากเห็นบ้านเมืองมีคนซื่อสัตย์สุจริตเพิ่มขึ้น คอร์รัปชันลดลง สมัยที่ผมเป็นเด็ก คนโกงกินน้อยกว่าปัจจุบัน สังคมในสมัยนั้นมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน อยากให้กลับไปสู่ยุคนั้น แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยวันนี้ถูกอิทธิพลจากต่างประเทศเข้าครอบงำ ยึดถือเงินเป็นพระเจ้า บางครั้งเงินก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเสมอไป คนขับรถผมอาจจะมีความสุขมากกว่าผม ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ได้ ไม่ค่อยมีเวลาเป็นของตนเอง ไม่มีเวลาออกกำลังกาย คนขับรถอาจจะมีสุขภาพดีกว่าผม รายได้น้อยกว่า มีน้อย ก็ใช้น้อย ก็อยู่ได้ หากยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง