ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. เตรียมลุยกรมภาษี เสนอ ”ประยุทธ์” จี้ รมต.คลัง-อธิบดีกรมสรรพากร ใช้ ม.49 ตรวจสอบภาษีนักการเมือง-ข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ

สตง. เตรียมลุยกรมภาษี เสนอ ”ประยุทธ์” จี้ รมต.คลัง-อธิบดีกรมสรรพากร ใช้ ม.49 ตรวจสอบภาษีนักการเมือง-ข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ

7 มกราคม 2015


ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)
ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)

ที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ทั้งในระดับกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังไม่มีกรณี สตง. ตรวจสอบหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจ สตง. ดำเนินการได้

หลังจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. มอบนโยบายเจ้าหน้าที่ สตง. ตรวจสอบหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มและลดการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังเป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. กล่าวว่าเร็วๆนี้สตง. จะทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยนำรายการบัญชีทรัพย์สินที่รายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรวจสอบยันกับแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษี ทั้ง ภ.ง.ด.90-91 หากตรวจพบรายการใดยังไม่ได้เสียภาษี ก็ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินและจัดเก็บภาษีเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน

ทั้งนี้ สตง. จะให้เวลากรมสรรพากร 1 ปี ดำเนินการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพากรไม่ปฏิบัติตามนโยบาย คตง. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ถือว่ามีความผิดทางวินัย ซึ่งมาตรา 64 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ สตง. จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157

“มาตรการดังกล่าวนี้ ผมต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมก่อน คสช. จะให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้ามาตรการชุดนี้บังคับใช้หลังเลือกตั้งได้รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนฯ มาแล้ว คงไม่มีอธิบดีกรมสรรพากรคนไหนกล้าเก็บภาษีนักการเมืองและพรรคพวก แต่ถ้าทำได้ก่อนเลือกตั้ง นอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มแล้ว ยังช่วยสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการที่คอร์รัปชันเข้าสู่สนามการเลือกตั้งได้ เพราะมีความผิดทางอาญาฐานโกงภาษี ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ก่อนลงสมัครเลือกตั้ง”นายชัยสิทธิ์กล่าว

นายชัยสิทธิ์กล่าวต่อว่าในสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจการปกครองจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ดำเนินการยึดทรัพย์นักการเมืองหลายท่าน ถึงแม้ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการยึดอายัดทรัพย์สินไม่ถูกต้อง แต่รัฐบาลขณะนั้นได้ให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บภาษี โดยใช้มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏว่ามีนักการเมืองหลายคนยอมจ่ายภาษีให้สรราพากรแต่ไม่เป็นข่าว อย่างเช่น ที่จังหวัดสุพรรณเสียภาษีให้กรมสรรพากรเกือบ 1,000 ล้านบาท ต่อมาในสมัย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหาร มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำการยึดทรัพย์นักการเมือง แต่กรมสรรพากรไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 49 เก็บภาษีนักการเมือง มาถึงสมัย คสช. ก็ยังไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 49 ดำเนินการจัดเก็บภาษีกับนักการเมือง ข้าราชการ ที่ร่ำรวยผิดปกติอีก ทาง คตง. จึงต้องทำเรื่องเสนอรัฐบาลให้กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

Web

ประธาน คตง. กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป หากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของรัฐ ถือว่ามีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63 โดยผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติให้ถูกต้องภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการ สตง. จะดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับบัญชาและส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีตามมาตรา 157 เช่นกัน ส่วนข้าราชการที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้อง ฝ่าผืนกฎระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี คตง. ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาไต่สวน หากพบว่ามีความผิดจริงจะถูกปรับเป็นเงินเท่ากับเงินเดือน 12 เดือน ถือว่ามีความผิดทางวินัยราชการ ซึ่งจะมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าในทางราชการด้วย

อนึ่ง มาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่า จำนวนที่ควรต้องยื่น ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้ โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือรายจ่ายของผู้มีเงินได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้ หรือสถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เอง หรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”