ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดตำนานคดี รีดภาษีนักการเมือง-พ่อค้าร่ำรวยผิดปกติ ปี 2507-2540 จาก”จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”ถึง”ภิญญา ช่วยปลอด” ตามมาตรา 49 กรมสรรพากร

เปิดตำนานคดี รีดภาษีนักการเมือง-พ่อค้าร่ำรวยผิดปกติ ปี 2507-2540 จาก”จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”ถึง”ภิญญา ช่วยปลอด” ตามมาตรา 49 กรมสรรพากร

16 กุมภาพันธ์ 2015


มาตรการภาษีถือเป็นหนึ่งในมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ดีที่สุด อย่างคดีเจ้าพ่ออัลคาโปนที่โด่งดังไปทั่วโลก ตำรวจสหรัฐอเมริกาไม่สามารถดำเนินคดีกับแก๊งอัลคาโปนได้ แต่ในที่สุดเจ้าพ่ออัลคาโปนก็ต้องมาติดคุกข้อหาหลบเลี่ยงภาษี สำหรับประเทศไทยก็มีคดีดังเกิดขึ้นหลายคดี อาทิ คดีซุกหุ้นชินคอร์ปฯ คดีเสธฯ หนั่นปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กฎหมายทั่วไปไม่สามารถเอาผิดกับบรรดานักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลได้ แต่สุดท้าย หลายคดีก็มาจบลงที่มาตรการภาษี ผู้กระทำผิดถูกกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษี

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ประมวลรัษฎากรบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2482 แต่กรมสรรพากรมีการใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคดีแรกในปี 2507 จากนั้นในช่วงปี 2534 กรมสรรพากรนำมาใช้เป็นครั้งที่ 2 ประเมินภาษีอดีตรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เงินเข้ารัฐกว่า 1,000 ล้านบาท นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลหรือคณะปฏิวัติชุดใดสั่งให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองอีกเลย

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยและท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ที่มาภาพ : http://th.wikipedia.org/
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยและท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ที่มาภาพ : http://th.wikipedia.org/

จนกระทั่งนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มอบนโยบายกับเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เน้นตรวจสอบกรมจัดเก็บรายได้คู่ขนานกับส่วนราชการที่มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน โดยสั่งการให้ผู้ว่า สตง. ออกจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 สั่งการให้อธิบดีกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ตรวจสอบและประเมินภาษีนักการเมืองและนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ ในเบื้องต้นแนะนำให้กรมสรรพากรนำข้อมูลบัญชีรายการทรัพย์สินของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรวจสอบยันกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90-91) หากตรวจพบว่านักการเมืองคนใดเสียภาษีไม่ครบถ้วน ก็ให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีให้ถูกต้อง นอกจากทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ยังช่วยสกัดนักการเมืองที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีให้ได้รับโทษทางอาญา ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

จากประสบการณ์ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษาทั้งศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลภาษีอากร นายชัยสิทธิ์รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกา คดีกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองและนักธุรกิจหลายสิบราย จัดทำเป็นกรณีศึกษา “มาตรา 49” มีประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมสรรพากรกับผู้ถูกประเมินภาษี ต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ หลายคดีีดังนี้

เริ่มจากคดีแรก ปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม ปี 2507 จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งยึดทรัพย์สินกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน จากนั้นกรมสรรพากรก็เข้าไปประเมินภาษีเงินได้กองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ประเด็นพิพาทที่ท่านผู้หญิงวิจิตราหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาคือ กรมสรรพากรไปนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวและเงินบริจาคการกุศลของท่านผู้หญิงวิจิตราเข้ามารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษี แต่ในที่สุดกรมสรรพากรก็เป็นฝ่ายชนะคดี เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเลขที่ 409/2524 ตัดสินว่า “กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินภาษี นำเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวและเงินบริจาคไปรวมกับยอดมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น เพื่อกำหนดเป็นเงินได้สุทธิ ถือเป็นการชอบ เพราะก่อนที่ผู้เสียภาษีจะมีเงินไปใช้จ่ายหรือมีเงินไปบริจาคได้ ต้องมีเงินได้เสียก่อน” คดีนี้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้เงินเข้ารัฐหลายร้อยล้านบาท

คดีที่ 2 นางประเทียบ ชลทรัพย์ มารดาของท่านผู้หญิงวิจิตรา เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากร ใช้มาตรการ 49 ประเมินภาษีเงินได้นางประเทียบ ซึ่งไม่ได้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ในปี 2497 แต่มีเงินได้เพิ่มเป็นจำนวนมาก คดีนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1261/2520 วินิจฉัยว่า “กรณีโจทก์ไม่ยื่นรายการภาษีเงินได้ แต่โจทก์มีเงินได้เพิ่มขึ้นมาก เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงตามมาตรา 23 และ 24 ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ชอบแล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินไม่หักรายการที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ออกก่อนไม่ได้”

สำหรับทรัพย์สินบางประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ได้แก่ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการรับมรดกหรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี หรือจากอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เจ้าพนักงานประเมิน กรมสรรพากร ต้องหักทรัพย์สินส่วนนี้ออกจากการประเมินเงินได้สุทธิ

คดีที่ 3 คุณหญิงประภา วิริยประไพกิจ อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี เจ้าของตลาดโรงเกลือและหุ้นส่วนบ่อนคาสิโนในกัมพูชา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร ใช้มาตรา 49 กำหนดเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้น โดยนำเงินที่คุณหญิงประภาได้จากการขายเพชรพลอยและของมีค่า ซึ่งคุณหญิงประภาได้รับจากบิดามารดาที่เสียชีวิต (มรดก) มาคำนวณภาษีเงินได้ คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 2675/2528 วินิจฉัยว่ากรมสรรพากรดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษี ตามมาตรา 42 (9) กรณีคุณหญิงประภานำทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีไปทำการซื้อ แลกเปลี่ยน โดยไม่ได้มุ่งค้าหากำไร กรมสรรพากรจะใช้อำนาจมาตรา 49 ประเมินภาษีจากทรัพย์สินดังกล่าวนี้ไม่ได้

คดีที่ 4 นายอนันต์ วงศ์สุรพิเชษฐ์ เจ้าของบริษัทคุ้มเกล้าประกันภัย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรมสรรพากร ใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีเงินได้จากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น โดยกรมสรรพากรนำเงินที่นายอนันต์ปล่อยกู้บริษัททองไทยการทอและซื้อหุ้นมากำหนดเป็นเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี ซึ่งข้อเท็จจริงคือ เงินที่นายอนันต์นำไปปล่อยกู้ให้บริษัทอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้รับในงานพิธีสมรสและมรดก อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการนำเครื่องเพชรและทองที่ได้รับในงานพิธีสมรสและมรดกไปขาย และมีบางส่วนยืมจากบุคคลอื่น คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเลขที่ 2724/2534 วินิจฉัยว่า “กรณีนี้กรมสรรพากรจะใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินและเรียกเก็บภาษีนายอนันต์ไม่ได้” เนื่องจากเงินและทรัพย์สินของนายอนันต์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากงานพิธีสมรสและมรดก เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (10) ส่วนเงินที่นายอนันต์ยืมมาจากคนอื่นก็ไม่ใช่เงินได้พึงประเมิน

คดีที่ 5 นายสุวิทย์ คัณธามานนท์ อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารเอเชีย เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากร โดยเจ้าพนักงานประเมินไปนำเงินที่นายสุวิทย์มีอยู่ก่อนปีที่มีการชำระนี้มากำหนดเป็นเงินได้สุทธิ เพื่อเรียกเก็บภาษีตามมาตรา 49 คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 2383/2534 วินิจฉัยว่า “เงินที่นายสุวิทย์มีอยู่ก่อนปีที่มีการชำระหนี้ ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในปีนั้น กรมสรรพากรต้องหักออกจากจำนวนเงินที่กำหนดเป็นเงินได้สุทธิ” คำพิพากษาของศาลฎีกามีข้อสังเกต คือ หากเป็นเงินที่ผู้เสียภาษีหามาได้ในปีที่มีการชำระหนี้ กรณีนี้ถือว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นำมาคำนวณรวมเป็นเงินได้สุทธิ เพื่อเรียกเก็บภาษีได้

คดีที่ 6 นายกิมฮก แซ่ล้อ เจ้าของธุรกิจจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร จังหวัดลพบุรี เป็นโจทก์ ฟ้องกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีโดยไม่ชอบ กล่าวคือ กรมสรรพากรไปนำทรัพย์สินที่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายกิมฮกและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้มาเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ ภายหลังการไต่สวนคดี ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 5218/2534 วินิจฉัยว่า “กรณีเจ้าพนักงานประเมิน ออกจดหมายเรียกนายกิมฮกให้นำเอกสารหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แต่นายกิมฮกไม่ดำเนินการ ทำให้เจ้าพนักงานประเมินไม่ทราบว่าโจทก์มีเงินได้ที่แท้จริงเท่าไหร่ ดังนั้น เจ้าพนักงานจึงมีอำนาจใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนายกิมฮก โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรได้”

ดคีนายกิมฮก เป็นคดีสุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลฎีกา หลังจากนั้นกรมสรรพากรก็เว้นว่างจากการใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีทรัพย์สินของนักการเมืองและนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติมาระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หรือ “บิ๊กจ๊อด” ทำรัฐประหารสำเร็จ ก็สั่งอายัดทรัพย์คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะเดียวกันก็สั่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบทรัพย์สินของคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งคณะ

คำสั่งให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองและนักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยของ รสช. อดีตรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งรอดพ้นจากการตรวจสอบของกรมสรรพากร และก็มีรัฐมนตรีอีกหลายคนสู้คดีกับกรมสรรพากรถึงชั้นศาลฎีกา โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

คดีที่ 7 พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นโจทก์ ฟ้องกรมสรรพากร คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 10135/2539 วินิจฉัยว่า “เงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่ พล.ต.อ. ประมาณอ้างว่าได้รับมาจากผู้กู้นำเงินมาชำระคืนนั้น พล.ต.อ. ประมาณไม่มีหลักฐานแสดงที่มาของเงินที่นำมาปล่อยกู้ และการกู้ยืมเงินก็ไม่มีหลักประมาณ ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล รับฟังไม่ได้ ส่วนเช็คของขวัญ 46 ฉบับ มูลค่า 83 ล้านบาท พล.ต.อ. ประมาณอ้างว่ามีบริษัท ส. นำมาชำระเป็นค่าซื้อที่ดิน ศาลเห็นว่าเป็นหลักฐานที่มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทต้องชำระค่าที่ดินโดยจ่ายเช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะการจ่ายเป็นเช็คของขวัญที่ไม่ใช่เช็คของบริษัท ส. หรือแคชเชียร์เช็ค น่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่า พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) จึงชอบแล้ว”

อีกประเด็นที่ พล.ต.อ. ประมาณหยิบยกมาต่อสู้ในชั้นศาลคือ เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามมาตรา 49 ถือเป็นวิธีการพิเศษ ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อนจึงดำเนินการได้ กรณีนี้ศาลฎีกาตัดสินว่า “เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกผู้มีเงินได้มาตรวจสอบไต่สวน และแจ้งประเมินโดยใช้วิธีปกติตามมาตรา 19, 20, 23 และ 24 ไม่ได้ใช้วิธีพิเศษ กำหนดเงินได้สุทธิขึ้นเอง โดยพิจารณาจากเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา จึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพกร ตามมาตรา 49 แต่อย่างใด”

คดีที่ 8 นายสุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากร คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3665/2540 วินิจฉัยว่า “จากการที่กรมสรรพากรแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบภาษีอากรโดยวิธีปกติ ได้ทำการวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีของนายสุบินและภรรยา ขอหลักฐานเพิ่มเติมจากหน่วยราชการและหน่วยงานอื่น และได้ขออนุมัติออกจดหมายเรียก พบว่ามีบัญชีเงินฝากในนามนายสุบินและภรรยามีเงินเป็นจำนวนมาก โดยนายสุบินอ้างว่าเป็นบัญชีกิจการร่วมค้าเพื่อซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดินของภรรยา แต่นายสุบินและบุคคลที่อ้างไม่สามารถชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่ภรรยาของนายสุบินถือครองอยู่นั้น นายสุบินและภรรยาชี้แจงไม่ได้ว่าเงินค่าหุ้นได้มาด้วยวิธีใด จึงถือว่าเงินฝากและผลประโยชน์ ตลอดจนเงินค่าหุ้นในบริษัทต่างๆ เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) นำมาหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน เหลือเป็นเงินได้สุทธิ เพื่อนำไปคำนวณภาษี และจากการที่นายสุบินและภรรยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี นายสุบินต้องเสียภาษีตามมาตรา 57 ตรี ถือว่าเป็นการตรวจสอบและประเมินภาษีโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึง 23 โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การตรวจสอบและประเมินภาษีตามมาตรา 49 แต่อย่างใด”

คดีที่ 9 นายภิญญา ช่วยปลอด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นโจทก์ ฟ้องกรมสรรพากร คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเลขที่ 8478/2540 ตัดสินว่า “กรณีอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบภาษีอากรเฉพาะกิจนั้น ไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินขึ้นใหม่ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 16 ประกอบมาตรา 4 คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจกระทำได้ ส่วนผลการตรวจสอบพบว่านายภิญญาและภรรยาได้รับเงินอะไร เมื่อใด จำนวนเท่าใด จากใคร เป็นการตรวจสอบที่มาเงินได้ของนายภิญญาและภรรยา หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ที่เหลือเป็นเงินได้สุทธิเพื่อนำมาคำนวณภาษี ถือว่าเป็นการตรวจสอบและการประเมินภาษีโดยใช้วิธีปกติตามมาตรา 17 ถึงมาตรา 27 ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบประเมินด้วยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 เพราะการประเมินภาษีตามมาตรา 49 นั้น กรมสรรพากรจะทำได้ต่อเมื่อไม่มีหลักฐานเงินได้พึงประเมินที่ผู้เสียภาษีได้รับ จึงต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ โดยเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบหามูลค่าทรัพย์สินสุทธิต้นปี เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปลายปี ผลต่างระหว่างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นให้นำมาบวกกับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ หักด้วยเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ที่เหลือเป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณเป็นภาษีที่ต้องชำระโดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายออกแต่อย่างใด กรณีของนายภิญญาจึงไม่ใช่เป็นการประเมินตามมาตรา 49”

คดีของนายภิญญา ช่วยปลอด เป็นคดีสุดท้ายที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคดีกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ตรวจสอบภาษีนักการเมืองเข้าสู่การพิจารณาของศาลอีกเลย มาตรการภาษีป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหาร ครั้งที่ 3 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สั่ง แต่ คตง. ขอจัดเอง โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 สั่งการอธิบดีกรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองครั้งที่ 3 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

หลักเกณฑ์ประเมินภาษีทรัพย์สินนักการเมือง มาตรา 49

การใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีจากฐานทรัพย์สิน อยู่ภายใต้หลักการที่ว่า “การที่บุคคลใดมีทรัพย์สินเงินทองมาก มีเงินใช้จ่ายอย่างคล่องมือ มีฐานะความเป็นอยู่ขั้นเศรษฐี ย่อมสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า บุคคลนั้นมีรายได้มาก เมื่อบุคคลนั้นมีรายได้มาก ควรยื่นแบบแสดงรายการภาษีมาก แต่ถ้าไม่ยื่น หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง แสดงว่าบุคคลนั้นหลีกเลี่ยงภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตรวจสอบไต่สวน และประเมินเรียกเก็บภาษีจากบุคคลนั้นได้ โดยอาศัยมาตรา 19 ถึง 26 แห่งประมวลรัษฎากร

การตรวจสอบไต่สวนดังกล่าวนี้มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบค้นหารายได้ที่แท้จริงที่ผู้เสียภาษีได้รับในแต่ละปี ซึ่งในประมวลรัษฎากรเรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” หากนำมาหักลบค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและค่าลดหย่อนภาษีออกไป ส่วนที่เหลือคือ “เงินได้สุทธิ” ที่จะนำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า กำหนดเป็นยอดเงินที่ผู้เสียภาษีต้องชำระให้กับกรมสรรพากร ในกรณีหลบเลี่ยงภาษีต้องจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย หากนักการเมืองที่ถูกประเมินภาษี หาหลักฐานแสดงที่มาของเงินได้พึงประเมินมายื่นยันกับกรมสรรพากรได้ ก็ไม่มีปัญหา

ในทางตรงข้าม หากผู้ถูกประเมินหาหลักฐานแสดงที่มาของเงินได้มายืนยันกับกรมสรรพากรไม่ได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบเพื่อกำหนดยอดเงินได้พึงประเมินได้ กรณีนี้ประมวลรัษฎากรกำหนดให้กรมสรรพากรใช้วิธีการประเมินภาษีจากทรัพย์สิน หนี้สิน และค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษี โดยใช้มาตรา 49 ได้
สำหรับขั้นตอนและวิธีการประเมินภาษีตามมาตรา 49 มีหลักการในเบื้องต้นดังนี้
1. คำนวณหามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ทรัพย์สินรวม-หนี้สินรวม) โดยนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันต้นปี เปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันสิ้นปี
2. คำนวณหา “เงินได้พึงประเมิน” โดยนำยอดทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นมารวมกับค่าใช้จ่ายและทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายครอบครัว เงินบริจาคการกุศล ค่าการกีฬาและพักผ่อน รวมทั้งทรัพย์สินที่สูญเสีย เช่น รถยนต์ เครื่องเพชร สูญหายหรือถูกไฟไหม้ เป็นต้น
3. ยอดเงินได้พึงประเมินเป็นตัวตั้ง หักด้วยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีและค่าลดหย่อนภาษี ผลลัพธ์ที่ได้คือ “เงินได้สุทธิ” ที่จะนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคล

ยกตัวอย่าง ปี 2557 นาย ก. มีค่าใช้จ่ายส่วนตัว 25 ล้านบาท บริจาคการกุศล 4.5 ล้านบาท ได้รับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบแสนบาท ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 นาย ก. มีทรัพย์สินสุทธิ 4 ล้านบาท (หักหนี้สิน) วันที่ 31 ธันวาคม 2557 นาย ก. มีทรัพย์สินสุทธิ 13.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5 ล้านบาท

สรุป ในปี 2557 นาย ก. มีทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.5 ล้านบาท นำมารวมกับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ (ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 25 ล้านบาท บวกกับบริจาคเงิน 4.5 ล้านบาท) บวกรถเบนซ์ถูกไฟไหม้และเพชรถูกขโมย 8.5 ล้านบาท นาย ก. มีเงินได้สุทธิทั้งสิ้น 47.5 ล้านบาท หักเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ถูกรางวัลสลากฯ) 2 แสนบาท และค่าลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท ในปี 2557 นาย ก. มีเงินได้สุทธิ 47.2 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14.51 ล้านบาท

ผลการศึกษาของนายชัยสิทธิ์ระบุว่า สาเหตุกรมสรรพากรประเมินภาษีจากทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายเป็น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีไม่ทราบรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงของนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ ภายใต้คำนิยามและหลักการตามที่กล่าวในข้างต้น กรณีผู้เสียภาษีมีทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้เสียภาษีต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็น “รายได้พึงประเมิน” ต้องเสียภาษี

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่นายชัยสิทธิ์นำมาแสดงชี้ให้เห็นว่า “ทรัพย์สินที่กรมสรรพากรจะนำมาใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีตามมาตรา 49 หลักสำคัญคือ ต้องไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษี และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการนำทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีไปซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยน ส่วนเงินสดที่ผู้ถูกประเมินขอยืมจากบุคคลอื่นไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ไม่ต้องเสียภาษี” ที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น โดยรวบรวมจากคำพิพากษาของศาลฎีกา

บทเรียนจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่นายชัยสิทธิ์หยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาทั้งหมดนี้ สรุปการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมือง นักธุรกิจที่ร่ำรวยผิดปกติ มีกติกาดังนี้

1. ทรัพย์สิน หรือเงินได้ที่รับยกเว้นภาษี เช่น ทรัพย์สินหรือเงินได้ที่ได้รับจากมรดก หรือการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี หรือจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ทรัพย์สินประเภทนี้ กรมสรรพากรนำมาใช้เป็นฐานการประเมินภาษีตามมาตรา 49 ไม่ได้
2. หากนำทรัพย์สิน หรือเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 1. ไปซื้อหรือแลกเปลี่ยน โดยไม่ได้มุ่งค้าหากำไร กรมสรรพากรจะนำมาประเมินภาษีตามมาตรา 49 ไม่ได้
3. เงินที่ขอยืมจากบุคคลอื่น กรมสรรพากรจะนำมาประเมินภาษีตามมาตรา 49 ไม่ได้
4. เงินที่ผู้ถูกประเมินภาษีนำไปชำระหนี้ให้บุคคลอื่น กรมสรรพากรจะนำมาประเมินภาษีไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นในปีที่มีการชำระหนี้นั้น
5. ค่าใช้จ่ายที่จะนำมารวมกับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น เพื่อประเมินภาษีตามมาตรา 49 ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายครอบครัว ค่าการกีฬาและพักผ่อน เงินบริจาคการกุศล
6. เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 49 ได้ นอกจากได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว เจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบไต่สวน ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แต่ยังไม่ทราบว่าผู้ถูกประเมินภาษีมีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเท่าไหร่ ถึงจะใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49 ประเมินภาษีได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบไต่สวนแล้ว ทำให้เจ้าพนักงานประเมินทราบรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงของผู้ถูกประเมิน กรณีนี้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 49 ไม่ได้