ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิบากกรรมชาวนาไทย ในห้วงรอยต่อนโยบายข้าวจากประกันรายได้สู่รับจำนำ ใครจะช่วย!!

วิบากกรรมชาวนาไทย ในห้วงรอยต่อนโยบายข้าวจากประกันรายได้สู่รับจำนำ ใครจะช่วย!!

20 กันยายน 2011


นายสมศักดิ์ ฤกษ์อนันต์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอยุธยาและอุปนายกสมาคมชาวนาข้าวไทย

อุทกภัยที่เอ่อท่วมอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม และขยายวงกว้างใน 56 จังหวัดของประเทศ ได้สร้างความเสียหายยับเยินให้กับพืชเกษตรจำนวนมาก รายงานล่าสุดของศูนย์ติดตาม และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 4.81 ล้านไร่ ในจำนวนนั้นเป็นความเสียหายต่อนาข้าวถึง 4.19 ล้านไร่

จากการประเมินตัวเลขเบื้องต้นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เดือนมิถุนายน 2554 ระบุว่า ในปีการผลิต 2553/54 จะมีผลผลิตข้าวเปลือกรวม 33.764 ล้านตัน หรือคิดเป็นข้าวสาร 22.284 ล้านตัน

เมื่อนำมาเทียบกับปริมาณการผลิตปีก่อนๆ อาทิ 29.642 ล้านตันในปีการผลิต 2549/50 เพิ่มขึ้นเป็น 32.099 ล้านตัน ในปีการผลิต 2550/51 ก่อนจะลดลงมาที่ 31.650 ล้านตัน ในปีการผลิต 2551/2552 และขยับขึ้นอีกครั้งเป็น 32.635 ล้านตัน ในปีการผลิต 2552/53

การปัดฝุ่นโครงการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่หาเสียง ด้วยตัวเลขสูงถึง 15,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวเจ้า และ 20,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวหอมมะลิ และเมื่อได้เป็นรัฐบาล มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กันยายน 2554 กำหนดหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวออกมา

สำหรับรายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรี 13 กันยายน 2554 โครงการรับจำนำข้าวจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 กลับเริ่มสร้างความไม่สบายใจให้กับชาวนาในหลายจังหวัด เพราะในช่วงรอยต่อของโครงการประกันรายได้จนถึงวันเปิดรับจำนำข้าว รัฐบาลประกาศชัดแจ้งว่า จะไม่เดินหน้าต่อการประกันรายได้ แต่จะใช้วิธีการจ่ายเงินชดเชยเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากน้ำท่วมไร่ละ 2,222 บาท และไม่มีการจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการรับประกันรายได้สินค้าเกษตร ดังที่เกษตรกรบางส่วนรอคอยหวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่นาจมอยู่ใต้น้ำและไม่มีข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำ

จากเงื่อนไขดังกล่าวหมายความว่า ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายข้าวในช่วงรอยต่ออาจทำให้ชาวนาในที่ลุ่มภาคกลางเดือดร้อนอย่างสาหัสเพราะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวในรอบนี้

ทีมข่าวไทยพับลิก้าได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวนาตัวจริงเสียงจริง “นายสมศักดิ์ ฤกษ์อนันต์” ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอยุธยา อุปนายกสมาคมชาวนาข้าวไทยและอดีตกำนัน ใช้ชีวิตชาวนามากว่า 30 ปี ในพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เล่าถึงปัญหาเร่งด่วนของชาวนาที่กำลังวิตกกังวลเป็นอย่างมากคือ กลัวว่ารัฐบาลจะไม่จ่ายชดเชยรายได้ค่าประกันข้าว

นายสมศักดิ์กล่าวถึงประเด็นความกังวลของชาวนาว่าจากการที่นายกสมาคมข้าวชาวนาไทยไปร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเรียกหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวเมื่อวันที 2 กันยายน 2554 ที่ผ่านมาได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลอาจไม่จ่ายชดเชยค่าประกันข้าว แต่จะจ่ายให้เข้าโครงการจำนำเลย โดยเลื่อนเวลาขึ้นมาเป็น 7 ตุลาคม 2554 จากเดิมจะเริ่ม 1 พฤศจิกายน 2554

“แบบนี้มันไม่ต่อเนื่อง พวกเราก็ยังงงอยู่ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ช่วงนี้เกษตรกรระดับอำเภอ ระดับจังหวัดทั่วไปก็คงไม่นิ่งเฉย กำลังดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ประมาณ 60-70 % อยู่ในช่วงที่ต้องเก็บเกี่ยวข้าว ถ้าในเวิ้งลาดบัวหลวงที่ต้องรีบเก็บเกี่ยวก็มีประมาณ 80 % ใครเก็บเกี่ยวเกิน 15 กันยายนนี้ ข้าวจะถูกน้ำท่วมหมดไม่เหลือข้าวไปจำนำ”

นายสมศักดิ์กล่าวว่าฉะนั้นข้าวที่เกี่ยวรอบนี้จะขาดทุนกันเยอะ จากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วงนั้นชาวนาขึ้นทะเบียนประกันรายได้กันหมดแล้ว แต่ถ้าไม่ได้รับชดเชยส่วนต่างประกันรายได้ก็จะเสียหายกันหมด รวมถึงเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยที่กินไปเป็นหมื่นๆ ไร่ ก็รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเขาก็ไม่จ่าย

“คาดว่าอีกสัก 20 วันน้ำก็คงลงมาถึงและท่วมนาข้าวในพื้นที่ลุ่ม แต่ของผมคาบลูกคาบดอก อาจเก็บเกี่ยวได้พอดีกับช่วงเปิดรับจำนำ เพราะใช้วิธีหมักฟาง ทำปุ๋ยหมัก ทำนาแบบใช้ปุ๋ยเคมีบวกอินทรีย์บ้าง ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงจึงไม่รีบทำนาเหมือนคนอื่น และนาที่อยู่ทางนี้(ฝั่งตรงข้ามบ้าน) ปีนี้น้ำคงไม่ท่วม เพราะมีคันล้อมที่อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) กับเทศบาลเขาทำคันล้อมประมาณ 2,000 ไร่ ไม่งั้นคงไม่กล้าลงทุนปลูกข้าว ในปี 2549 ฝั่งบ้านที่อยู่ทำคันป้องไว้ ก็เอาไม่อยู่น้ำท่วมขึ้นมาเสียหายกว่า 400,000 บาท หมดตัวไม่รู้เท่าไร แต่โชคดีมีอีกซีกหนึ่งยังมีอยู่”

แนะทบทวนจำนำทุกเม็ด

อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวนาแสดงความเป็นห่วงในระยะยาวไม่น้อยไปกว่าปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวข้างต้น คือการเปิดรับจำนำข้าวทุกเม็ด ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ในประเด็นนี้นายสมศักดิ์เสนอว่า รัฐบาลควรทบทวน หากเดินหน้าทำจริงประโยชน์คงตกเป็นของชาวนารายใหญ่มากกว่าชาวนารายย่อย

นายสมศักดิ์ยอมรับว่า ปัญหาชาวนาพูดยากและแก้ยาก พวกเราเคยไปประชุมกันหลายที่ หรือแม้แต่การไปรณรงค์ให้รัฐบาลช่วยเหลือ แต่ไม่ว่าราคาข้าวจะเป็นเท่าไร นายทุนได้หมด เช่น การให้รับจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท ซึ่งรัฐบาลหวังจะช่วยชาวนาให้มีรายได้มากขึ้นรวยขึ้น แต่พอเสร็จแล้วเจ้าของนาก็ขอนาคืน เพราะราคาข้าวดี หรือการที่ไม่กำหนดจำนวนรับจำนำ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือนายทุนที่เป็นเกษตรรายใหญ่ ทำนาเป็นหมื่นๆ ไร่ ส่วนรายย่อยมีนิดเดียวแค่ 10-20 ไร่ หรือโดยทั่วไปเฉลี่ยอย่างมากก็ 30-40 ไร่เท่านั้น

“เกษตรกรที่มีนาเป็นของตัวเองในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดมีประมาณ 10% เท่านั้น อย่างที่ลาดบัวหลวงเป็นของคนที่อื่นเปลี่ยนมือมาเกือบหมด เหลือที่เป็นเจ้าของนาเองแค่คนละ 5 ไร่ 10 ไร่ ดังนั้นถ้าจำนำเกวียนละ 15,000 บาท นายทุนได้หมด”

ประกันรายได้ดีกว่าจำนำข้าว

แม้นโยบายจำนำข้าวที่ดำเนินมากว่า 20 ปี ขณะที่นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเพิ่งทำมาเพียง 2 ปี แต่จากประสบการณ์ทำนามากว่า 30 ปีของนายสมศักดิ์ กลับเห็นว่าถ้าต้องเลือกระหว่างนโยบายทั้งสอง ขอเลือกนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร

“ประกันราคาดีกว่าเยอะ ชาวนาได้อย่างเดียว จากที่ว่ามีเจ้าของนามาขอแบ่ง นั่นอยู่ที่เขาคุยกัน เราไม่ให้ก็ได้ ก็ผลผลิตแบ่งกันไป”

ส่วนการรับจำนำข้าวนายสมศักดิ์มองว่า ถ้าชาวนามีข้าวเสีย สมมติปกติทำนา 10 ไร่ ถ้าได้ผลผลิต 10 เกวียนก็ดี แต่ถ้าข้าวเป็นโรคทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพียง 3 เกวียน หรือ 5 เกวียน แม้ราคารับจำนำจะเกียวนละ 15,000 บาท ก็ได้แค่นั้น แต่ถ้าเป็นประกันรายได้ อย่างน้อยก็จะได้เงินค่าส่วนต่างราคา 10 ไร่ ถ้าสมมติไร่ละ 2,000 บาท ก็ได้มาอีก 20,000 บาท ทำให้พอมีเงินลงทุน แต่ถ้ารับจำนำ ได้ข้าวแค่ไหนก็ได้เงินแค่นั้น

นอกจากนี้บางทีข้าวไม่ได้เกี่ยวเลย สมมติเป็นโรค ไม่สามารถเกี่ยวข้าวได้เลย หรือได้ 1-2 เกวียน บางทีก็ต้องเอาใบรับจำนำไปขายต่อให้พ่อค้า ให้โรงสี ไร่ละ 2,000-3,000 บาท ถ้ามี 10 ไร่ก็ได้ 30,000 บาทก็เอาแล้ว ส่วนพ่อค้าก็ฟันไปตั้งเท่าไร

“ชาวนาเอาใบรับจำนำหรือใบประทวนขายให้พ่อค้า บางครั้งพ่อค้าก็โดนโกง เพราะชาวนาต้องไปเซ็นชื่อเบิกเอง ถ้าไม่ไปโรงสี ก็เบิกไม่ได้ บางครั้งชาวนาไปเบิกแล้วหนีเลยก็มี แต่แบบนี้นานๆ เจอ เขาก็เสียคนไป บางทีก็มีมาเคลียร์กันแต่ทำอะไรกันไม่ได้ อย่างมากโรงสีก็โวยวาย”

อย่างไรก็ตามนายสมศักดิ์กล่าวถึงความเสียดายโครงการประกันรายได้ที่ถึงมือแล้วต้องหยุดไป ถ้าไม่เปลี่ยนรัฐบาล “แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าโครงการประกันรายได้ หรือจำนำข้าว ชาวนาเขาไม่รู้หรอก ใครไปยุให้พูดยังไงเขาก็เอาอย่างนั้น เขาไม่รู้หรอกผลประโยชน์ตกที่ชาวนานิดเดียว ยังไงก็ตามที่ผ่านมาก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามีการทุจริต มีการซิกแซ็กหลายช่องทาง ชาวนารู้แต่พูดไม่ได้ ทำได้ก็แค่ปรับทุกข์กันเท่านั้น”

นายสมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมไม่เป็นฝ่ายใคร ผมอยู่ตรงกลางและเราไม่เป็นลูกน้องใคร”