“บิ๊กตู่”ปลื้ม อัญเชิญพระราชดำรัส ฯโชว์สื่อ ปัดตอบเรื่องแถลงนโยบายใหม่ – มติ ครม.ทุ่มเงิน 3.4 หมื่นล้าน ประกันรายได้ชาวนา – ปาล์ม
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีร่วมพิธีรับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี รับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจสืบไป
จากนั้นมีการประชุม ครม.ตามปกติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสั้นๆ ก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “การประชุม ครม.เป็นการพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดต่างๆ ก็ตาม มีพูดกันหารือในทุกประเด็น ทุกมิติ รับฟังข้อสังเกตทั้งจากภายในภายนอกจากในโซเชียลต่างๆ มาหารือร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจกับสังคมกับประชาชนทั่วไป สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็ทำงานร่วมกันไม่ได้หรอก ความขัดแย้งมันก็จะสูง ก็ดีใจที่ทุกอย่างหารือกันด้วยความเรียบร้อยหลายประเด็นด้วยกัน”
และภายหลังการตอบคำถามสื่อมวลชนเพียง 10 นาที พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมคณะผู้ติดตาม ได้เดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้าโดยใช้ประตูด้านหลังมุ่งหน้ามายังตึกนารีสโมสรอย่างกะทันหัน ในระหว่างที่โฆษกและรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมไปประมาณ 10 นาที ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ได้ขึ้นไปยังโพเดียมแถลงข่าว และได้อันเชิญพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ที่ใส่กรอบอย่างเรียบร้อยมาแสดงให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพ
“เรื่องวิจารณ์จะจบหรือไม่ก็ไปถามคนวิจารณ์ อย่ามาถามผม ผมมันคนถูกวิจารณ์ ไปถามคนวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ไปว่ากันมา ผมไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น ผมก็เฉยๆ แต่ผมปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานตามที่ผมขอไป ท่านก็พระราชทานกลับมา หลังจากวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ผมก็ทำเรื่องของไป มีพระราชดำรัสลงมา”
ยัน “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” เสียชีวิตจากปอดอักเสบ – ไม่ได้ถูกซ้อม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องกลุ่มเยาวชนชายแดนใต้ เปอร์มัส เตรียมเดินทางมาสอบถามรัฐบาลกรณี “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” เสียชีวิต ว่า ตนได้ให้รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงเพิ่มเติมไปแล้ว ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งตนจำได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ได้ชี้แจงโดยโรงพยาบาล 3 แห่งไปแล้ว โดยโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนครสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ได้รายงานตรงกันว่าผลการตรวจสอบร่างกายปกติไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายทั้งจากภายในและภายนอก
“อันนี้มาจากแพทย์ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ผลตรวจว่าเกิดจากปอดอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง อันนี้คงไม่ได้เกิดจากการซ้อมทรมานอะไร ยินดีที่จะให้ตรวจสอบหลักฐานให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รัฐบาลบอกมาโดยตลอดว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ผมให้มีการถ่ายเทปถ่ายวีดีโอไว้ทุกครั้งนะครับ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาอีกต่อไป ขอให้ทุกฝ่ายฟังคำชี้แจงของผลการตรวจจากโรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องด้วย การกระจายข่าวสร้างความเข้าใจต่อสังคมฝากสื่อช่วยทำความเข้าใจด้วยครับ”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนของ กอ.รมน. ภาคสี่ ตนได้กำชับให้มีการชี้แจงในทุกประเด็นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ข้อความบางข้อความมันถูกตัดหายไป ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลประการใด ก็ขอให้สื่อช่วยกันเสนอให้ครบด้วยนะครับ ประชาชนหรือผู้ต้องสงสัยทุกคนสามารถสอบถามข้อเท็จจริงมาได้ตลอดจาก กอ.รมน. ภาคสี่ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบก็พร้อมชี้แจงอยู่แล้ว ไม่ใช่กองทัพภาคที่สี่ เป็นหน่วยงานรวมกันทั้งพลเรือนทหารในการทำงานในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ หรือจะส่งตรงมาที่ทำเนียบรัฐบาลก็ได้
“มีหลายคนหลายกลุ่มพยายามจะบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่างๆให้เกิดความคลาดเคลื่อนมาโดยตลอดในทุกเรื่อง ใช้คำว่าเกือบทุกเรื่องนะครับ ก็ขอให้ทุกคนมีสติในการเชื่อมั่นแล้วก็เชื่อกันในการรับข่าวสาร มีภูมิต้านทานที่ดี ผมพยายามเน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ปัดสร้างรั้วกั้นชายแดนโก-ลก ย้ำเป็นแค่แนวคิด
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการสร้างรั้วชายแดนตลอดแม่น้ำโก-ลก ว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องของแนวคิดเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านชายแดน ต้องมองในสองมิติ มิติที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันการข้ามไปมาเพื่อก่อเหตุรุนแรงต่างๆ ยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นความตกลงระหว่างสองรัฐบาล โดยยืนยันว่าวันนี้ยังไม่ได้สร้าง
”ท่านต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ตรงนั้นมันมีความแตกต่าง มันมีแม่น้ำโก-ลก เป็นแม่น้ำที่ไม่ลึกมากนัก เป็นแม่น้ำที่แคบที่ทำการเล็ดลอดต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วย ส่วนการจะสร้างอย่างไรเมื่อไรต่อไป อันนี้ต้องหารืออีกครั้ง ทั้งในส่วนของความมั่นคงแล้วก็ประเทศเพื่อนบ้านเราด้วยคือมาเลเซีย ต้องดูเรื่องสภาพภูมิประเทศ งบประมาณ ความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองฝั่ง ญาติพี่น้องอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันมีช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
สั่ง “มหาดไทย-คมนาคม” เคลียร์ปมปิดทางเข้า – ออก “เซ็นทรัล-วิลเลจ”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปิดถนนทางเข้าห้างเซ็นทรัลวิลเลจทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน จะทำอย่างไร กระทบบรรยากาศการลงทุนหรือไม่ และรัฐบาลจะยุติเรื่องนี้อย่างไร ว่า ตนได้สั่งการในที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ไปดูว่าปัญหาเป็นอย่างไร โดยจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ซึ่งตนได้รับการยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับใคร
“เรื่องนี้เป็นหลายเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ในการอนุมัติต่างๆ เป็นเรื่องของท้องถิ่น ซึ่งเราต้องไปตรวจสอบอีกครั้งว่าถูกต้องอย่างไร ขณะนี้ได้ให้ ทอท.ทำหนังสือไปทางสำนักงานการบินพลเรือน ให้ตรวจสอบว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่ กระทรวงมหาดไทยก็จะตรวจสอบว่าอยู่ในพื้นที่สีเขียวหรือไม่ มีการอนุญาตถูกต้องหรือไม่ วันนี้ก็ให้เร่งรัดผลการตรวจสอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อมาหารือร่วมกันว่ามันถูกผิดอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอะไรบ้าง อะไรผิดก็ต้องแก้ไข อะไรที่เอกชนทำถูกต้องรัฐบาลก็ต้องอนุญาต ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ปัดตอบคำถามสื่อเรื่องแถลงนโยบายใหม่
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรีภายหลังพิธีรับพระราชดำรัส ว่า ตนไม่อาจจะกล่าวได้ว่ามันจะไปจบเรื่องอื่นอะไรหรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องที่พวกเรา ครม.ทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นเรื่องที่ตนทำเรื่องขอพระบรมราชานุญาตไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสิ่งที่ ครม.จะนำไปสู่การปฏิบัติ
“ก็จะนำพรดังกล่าวใส่กรอบประดับไว้ที่ทำงานหรือที่บ้านในที่ที่สมควร อันนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ผ่านมาได้รับจากแค่ทางสื่อหรือทางโทรทัศน์ วันนี้เป็นลายลักษณอักษรมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาตามที่ขอพระราชทานไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องการแถลงนโยบายใหม่เพียงสั้นๆ ว่า “ส่วนเรื่องอื่นก็เป็นเรื่องอื่นต่อไป ไปว่ากันมา เรื่องอื่นที่ถามมาว่าต้องแถลงนโยบายใหม่หรือไม่ อะไรพวกนี้ผมไม่ตอบนะ”
-แจงที่มารายได้งบ ฯปี 63 วอนอย่าบิดเบือนรัฐบาลถังแตก
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องการตอบกระทู้ในที่ประชุมสภาเรื่องงบประมาณว่า เรื่องดังกล่าวเมื่อมีคำถามถึงที่มาของงบประมาณแหล่งรายได้ก็ต้องตอบไป ในนั้นก็เขียนไว้ชัดเจนแต่เขียนว่าเท่าไหร่อย่างไร วันนี้อย่าลืมว่ามี พ.ร.บ.การเงินการคลังอยู่ ฉะนั้นมาตรา 28 กำหนดไว้ชัดเจนทั้งหมดต้องนำมาสู่การขับเคลื่อนทำแผนงบประมาณปี 2563 ในการที่ตอบนโยบายดังกล่าวทั้งหมด รัฐบาลพยายามผลักดันทุกอย่างให้เข้าไปสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณให้ได้ทุกวันจะได้รู้ว่าจะใช้ไปตรงไหนอย่างไร
“พ.ร.บ.การเงินการคลังเขียนไว้ชัดเจนวันนี้หลายอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว บางที ครม.ก็ทำความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ การใช้งบประมาณแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายแต่ละเรื่อง และสำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณที่เสนอเข้ามาเป็นขั้นตอนแรก ที่จำเป็นต้องเข้า ครม.ผ่านสำนักงบประมาณ เพื่อจะจัดทำแผนงานโครงการต่างๆ วันนี้ก็ล่าช้าไปถึงมกราคม ฉะนั้นกราบเรียนว่ากฎหมายกำหนดไว้ว่าในช่วงที่งบประมาณใหม่ยังไม่ออกมา สามารถใช้งบประมาณครึ่งหนึ่งของรายจ่ายในปี 2562 ไปพลางก่อน ดังนั้นอย่าให้ใครมาบิดเบือนว่าไม่มีเงินเดือนจ่ายแล้ว ไม่ต้องกังวล ส่วนแผนงานใหม่งบลงทุนต้องรอหน่อย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่งจนท.สอบ กรณีปชช.ตะโกนร้องเรียนกลางงาน SDG
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนี้มีชายมาตะโกนที่งาน SDG ว่า ตนได้ให้ตำรวจสอบถามแล้วนะ เขามีปัญหาส่วนตัวเขา เรื่องครอบครัวเขาภรรยาเขาทิ้งไปลูกสองคนอะไรทำนองนี้ ผมก็บอกว่าจะดูแลช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ผมไม่ได้มองว่าจะมาทำร้ายอะไรผมหรอก เป็นความเดือดร้อนส่วนตัวนะ
เมินฝ่ายค้านอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ – ยันไม่เคยหนีสภา
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะเดินหน้าอภิปรายในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อ ว่า ก็แล้วแต่ ใครมีสิทธิ์ตรงไหนก็ทำไป ส่วนกรณีที่วานนี้ (26 สิงหาคม 2562) ตนเองระบุว่า จะเตรียมเข้าสภานั้นเป็นการพูดถึงเรื่องอื่น เรื่องใดที่ตอบได้ก็จะไปตอบ ส่วนเรื่องใดไม่ควรตอบตนเองก็จะไม่ตอบ หรืออาจให้คนอื่นไปตอบแทน ซึ่งทำเหมือนกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ผ่านมาก็ทำเช่นนี้ ซึ่งส่วนตัวพูดถึงว่าจะพยายามฟังสภาเขาพูด เรื่องที่เป็นประโยชน์ก็รับฟังมาแล้วนำไปสู่การแก้ปัญหา บางทีฟังข้างเดียวรัฐบาลก็ต้องไปชี้แจง โดยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบไปชี้แจง ถ้าตนเองอยู่ด้วยก็ชี้แจงเพิ่มเติมได้บ้างในประเด็นต่างๆ เพื่อเสริมกัน
ส่วนหลังจากนี้ จะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จบเลยใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ให้ไปถามคนที่วิจารณ์เอง เพราะเองตนเป็นคนถูกวิจารณ์ จึงต้องไปถามคนวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ก็ไปว่ากันมา ซึ่งส่วนตัวไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น หากถามว่าโล่งใจได้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ แต่ปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานมาให้ตามที่รัฐบาลและตนได้ขอพระราชทานไปหลังวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 และได้ทรงพระราชทานกลับมา
ต่อคำถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถวายสัตย์ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบ ซึ่งจะส่งไปไหนก็ส่งไป เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อถามว่าจะไปตอบกระทู้ฝ่ายค้านในเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กระทู้จะส่งวันเดียวในวันนั้น ประมาณ 09.00-10.00 น. แล้วให้ไปตอบ ซึ่งอาจจะกระชั้นชิดไปบ้าง จึงกำลังหารือว่าจะทำอย่างไร ส่วนญัตติการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 จะต้องมีการส่งล่วงหน้า ซึ่งดูเหมือนจะมีการประชุมกันในวันจันทร์ เป็นเรื่องที่ตนเองสามารถจัดตัวแทนหรือผู้รับผิดชอบโดยตรงไปชี้แจงแทนได้ เว้นแต่ที่เป็นประเด็นเรื่องของตน
เมื่อถามว่าหากมีการยื่นอภิปรายมีแนวโน้มจะให้คนอื่นไปชี้แจงแทนหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เรื่องนี้ตนเองจะไม่ส่งคนอื่นเพราะถือเป็นที่ตนเองจะตัดสินใจด้วยตัวเอง
ด้าน ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบกรณีที่สื่อมวลชนหรือผู้คนในสังคมคิดว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่ไปตอบกระทู้ในสภาในประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่เคยมีการส่งเรื่องแจ้งให้ไปตอบ แต่มาบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่ไปตอบ ทั้งที่ไม่เคยมีหนังสือ ไม่เคยมีเรื่องส่งเข้ามาว่าให้ไปตอบแต่อย่างใด
“เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีการยื่นกระทู้ แต่เมื่อทราบว่านายกฯ มีภารกิจไปจังหวัดยะลาจึงถอนกระทู้ออก เพราะทราบว่านายกฯ มาไม่ได้อยู่ดี จากนั้นครั้งที่สองก็ไม่ได้มีหนังสือมาเช่นเดียวกัน เพราะในวันนั้นนายกฯ ไปปฏิบัติภารกิจสำคัญคือการปิดการฝึกภาคทะเลซึ่งเอาไว้รองรับวิกฤติระดับชาติที่เรือรบหลวงอ่างทอง จังหวัดระยอง ซึ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่ขอเรียนให้สื่อมวลชนและสังคมทราบ ประชาชนจะได้เข้าใจว่าไม่เคยมีหนังสือให้นายกฯ ไปตอบกระทู้เข้ามาแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นนายกไม่เคยปฏิเสธที่จะไม่ไปตอบ”
“และในตอนท้ายของการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ทุกกระทรวงทำงานแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งนายกฯ ก็ทำงานเต็มที่เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ขอให้ทุกคนหากมีอะไรก็หารือกัน และขอให้เข้าใจเจตนาของนายกฯ ด้วยว่าไม่มีอะไร จะทำเพื่อประเทศไทยเท่านั้น” นางนฤมลกล่าว
มติ ครม.มีดังนี้
ทุ่มเงิน 3.4 หมื่นล้าน ประกันรายได้ชาวนาข้าว – ปาล์ม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี และประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปีการผลิต 2562/63 รวมทั้งโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 วงเงินรวมทั้งสิ้น 59,873 ล้านบาท
สำหรับการประกันรายได้ข้าวนาปี วงเงิน 21,495 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกข้าวปี 2562 จำนวน 892,176 ครัวเรือน ระยะเวลาโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2562 – ตุลาคม 2563 ในข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันที่ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวปี 2562/63 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรงหากราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกันรายได้ ซึ่งจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อติดตามการบริหาร และคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด มากำกับโครงการ
ส่วนการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 13,378 ล้านบาท เบื้องต้นจะใช้เงินของ ธ.ก.ส.จ่ายไปก่อนและมาขอชดเชยจากงบประมาณปี 2563-2564 ต่อไป โดยครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 3 แสนราย ระยะเวลาโครงการตั้งแต่สิงหาคม 2562 – กันยายน 2563
ซึ่งผลปาล์มทะลายที่เข้าโครงการจะต้องมีคุณภาพน้ำมัน 18% ประกันราคาที่กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นราคา ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม (ปัจจุบันราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 3.20-3.30 บาทต่อกิโลกรัม) โดยจะช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง พร้อมกันนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโครงการ กำกับดูแลโครงการโดยเฉพาะเช่นกัน
“จากนี้จะรีบดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้งปาล์มและข้าว โดยให้อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานทั้งสองชุด โดยคณะอนุกรรมการจะประกอบด้วย 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน เร่งดำเนินการคิดค่าส่วนต่างเพื่อส่งเข้าบัญชีเกษตรกร ทั้งชาวนา กับชาวสวนปาล์มที่ขึ้นทะเบียนกับการส่งเสริมการเกษตรโดยตรงผ่าน ธ.ก.ส. สำหรับปาล์มพยายามให้ได้ 1 ต.ค. ส่วนข้าวจะเร่งให้เร็วที่สุด” นายจุรินทร์กล่าว
ด้าน ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งอยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล วงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยจะใช้วงเงินจากงบกลางปี 2562 จ่ายให้กับชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดูแลราคาสินค้าเกษตรทั้งหมด ต้องทำโครงการด้วยความระมัดระวัง โดยต้องดูกรอบกฎหมายต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการไม่เกิดข้อกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงราคาตลาดเหมือนในอดีต และยังขอให้ช่วยติดตามไม่ให้เกิดการทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ สุดท้ายต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้รัดกุม เพื่อไม่เกิดการทุจริต เพราะในอดีตเคยมีการทุจริตโดยการแจ้งข้อมูลไม่ตรงความจริง ทั้งพันธุ์ข้าวที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตที่ผลิตได้ และยังมีการเอาเจ้าของที่ดินที่ไม่ใช่ผู้ปลูกเข้ามาสวมสิทธิ์ด้วย” ศ. ดร.นฤมล กล่าว
เห็นขอบแผนบริหารน้ำมันปาล์มทั้งระบบ หนุนผลิตไฟฟ้า – ไบโอดีเซล
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ยังได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการบริหารปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของหลายกระทรวง เพื่อเร่งเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ และควบคุมปริมาณน้ำปาล์มล้นตลาด ดังนี้
- การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อการผลิตไฟฟ้า เห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เร่งรัดการจัดซื้อน้ำปาล์มดิบส่วนที่เหลือ 133,750 ตัน เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางประกบให้ครบ 200,000 ตัน ตามมติ ครม.เมื่อ 7 พฤษภาคม 2562 ให้แล้วเสร็จภายในสองสัปดาห์
- การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการปรับดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานภายในสิ้นปี 2562 จากเดิมที่เป็นบี 7 และสนับสนุนให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 บี 7 เป็นทางเลือก
ทั้งนี้คาดว่าหากทั้งสองแนวทางนี้ทำได้ตามเป้าหมายจะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มมีราคาที่สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน
- เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์หาช่องทางเพิ่มการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์ปาล์ม ไปประเทศที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันน้ำมันล้นตลาด โดยให้กำหนดเงื่อนไขการบริหารการนำเข้าให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงภายใต้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพสินค้า
- ให้กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ กองทับบก และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมกำกับดูแลการนำเข้าน้ำมันปาล์มในระบบปกติ การลักลอบนำเข้า รวมถึงการถ่ายลำผ่านแดนไปประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำและเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตรปาล์มน้ำมัน
- เห็นชอบให้กรมการค้าภายในพิจารณาแนวทางการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบโดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถวัดได้ตลอดเวลา (real-time) มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลและบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ
- และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตรปาล์มน้ำมัน กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้เร่งผลักดันการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีผลบังคับโดยเร็ว
เตรียมเคาะมาตรการอุ้มชาวสวนยางใน 2 สัปดาห์
พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า อีก 2 สัปดาห์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเรื่องของการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดูในเรื่องของระเบียบและวีธีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและดูในรอบด้าน
ทั้งนี้สำหรับเกษตรกรชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (ถือบัตรสีชมพู) เป็นส่วนที่สามารถรับเงินชดเชยราคายางพาราได้ ส่วนกลุ่มชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ อาจต้องมีการหารือในคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการหาทางออกร่วมกัน ในการสำรวจพื้นที่ถือครองที่ดิน โดยจะใช้ดาวเทียมเข้ามาจับดูพื้นที่สวนยางว่าเกี่ยวข้องกับใคร
ด้านนายจุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว และจะเสนอ ครม.ได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะมีการประกันรายได้สำหรับยางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบชั้น 3, น้ำยางสด และยางก้นถ้วย
“จะคิดจากเนื้อยางแห้งจริงๆ ในการคำนวณ โดยใช้กรอบงบประมาณในการประกันรายได้ในช่วง 6 เดือนแรก ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท โดยใช้เงิน ธ.ก.ส.จ่ายไปก่อนแล้วรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ภายหลัง” นายจุรินทร์กล่าว
เพิ่ม “จนท.- ช่อง ตม.” ลดความแออัดสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบแผนการแก้ไขความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจะมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และจุดเช็คอิน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 63 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินขีดความสามารถที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับได้ที่ 45 ล้านคนต่อปี จึงมีมาตรการแก้ไขความแออัดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยการทลายคอขวด ณ จุดรองรับผู้โดยสารทุกจุด สำหรับรองรับผู้โดยสารขาเข้าที่เข้ามาในประเทศ และแบบการขอตรวจลงตราเข้าในประเทศ VISA on Arrival (VOA) ที่มี 93 ช่อง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,000 คนต่อชั่วโมง จากที่ปัจจุบันรองรับได้เพียง 6,000 คนต่อชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้
- มาตรการระยะเร่งด่วน คือ การจัดเจ้าหน้าที่ไปรับผู้โดยสารขาเข้า มายังจุดบริการตรวจคนเข้าเมือง และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประโยชน์ให้สูงสุด
- มาตรการระยะกลาง คือ การเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางอีก 17 ช่อง การเพิ่มพื้นที่สำหรับ VOA เพิ่มช่องตรวจค้นผู้โดยสารขาเข้า ปรับปรุงพื้นที่ตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า และเพื่มเครื่องตรวจประทับตราหนังสือเดินทางอัตโนมัติอีก 8 เครื่อง
- มาตรการระยะยาว ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 โดยจะมีการศึกษาและปรับให้สามารถรองรับผู้โดยสารขาออกได้ 5,700 คนต่อชั่วโมง ลดความแออัดผู้โดยสารขาออก ย้ายจุดตรวจค้นผู้โดยสารภายในประเทศจากที่เดิมอาคารผู้โดยสารชั้นสี่ไปยังอาคารเทียบเครื่องบิน A และ B บริเวณชั้น 3 ซึ่งสามารถเพิ่มช่องตรวจจาก 6 ช่องตรวจเป็น 12 ช่องตรวจ และเพิ่มจุดตรวจผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ
ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งผู้โดยสารขาออกและขาเข้า โดยหลังจากแก้ปัญหาเร่งด่วนผู้โดยสาร VOA ลดเวลารอหน้าด่านเหลือ 25 นาที และเมื่อแก้ปัญหาเต็มระบบผู้โดยสาร VOA จะลดเวลาคอยหน้าด่านเหลือ 20 นาที
สำหรับการแก้ปัญาของท่าอากาศยานดอนเมืองที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้เพียง 30 ล้านคนต่อปี มีเป้าหมายให้สามารองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีมาตรการ 3 ระยะเช่นกัน ได้แก่
- มาตรการระยะเร่งด่วน คือ การเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ณ พื้นที่ตรวจลงตรา VOA สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ส่วนผู้โดยสารขาออกจะมีการเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอินบริเวณอาคารผู้โดยสารหมายเลข 1 อีก 16 เคาน์เตอร์ ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเช็กอินอีกร้อยละ 15 โดยคาดว่าแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 และขยายพื้นที่บัสเกตสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
- มาตรการระยะกลาง คือ การสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ การเพิ่มพื้นที่รอตรวจหนังสือเดินทาง การเพิ่มช่องตรวจผู้โดยสารระหว่างประเทศอีก 4 ช่องตรวจ จากเดิม 8 ช่องตรวจ เป็น 12 ช่องตรวจ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563
- มาตรการระยะยาว คือ การเพิ่มพื้นที่ตรวจลงตรา VOA อีก 693 ตารางเมตร รวมเป็นพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร และเพิ่มช่องตรวจหนังสือเดินทางอีก 12 ช่องตรวจ จากเดิม 39 ช่องตรวจ รวมมี 51 ช่องตรวจ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563
จัดงบ ฯ 3.7 หมื่นล้าน ตั้งเป้าดันงานวิจัยไทยเพิ่ม 1.5% ของ GDP
ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 เพื่อผลักดันให้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยขอจัดสรรงบประมาณจากวงเงินรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรอบวงเงิน 37,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- แพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยการสร้างระบบการผลิตและพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All)
- แพลตฟอร์มการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม วงเงิน 5,550 ล้านบาท ได้แก่ สังคมสูงวัย สังคมคุณภาพและความมั่นคง และโจทย์การท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร
- แพลตฟอร์ม วงเงิน 9250 ล้านบาท ได้แก่ การยกระดับความสามารถการแข่งขันและการวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม การวิจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการบริการภาครัฐ และ
- แพลตฟอร์ม วงเงิน 7400 ล้านบาท ได้แก่การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจและชุมชนนวัตกรรม การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ การพัฒนาเมืองน่าอยู่
“การอนุมัติงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยในด้านต่างๆ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มการวิจัยเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน เป็นการเพิ่มสัดส่วนการวิจัยของภาครัฐให้ได้ 25% และภาคเอกชน 75% ส่วนภาพรวของงบประมาณการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 1.5% ของจีดีพีให้ได้ภายในปี 2570 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1% ของจีดีพี” ศ. ดร.นฤมลกล่าว
อนุมัติงบฯภัยแล้ง 74 จังหวัด วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน
ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาภัยและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยอนุมัติงบประมาณวงเงิน 15,800 ล้านบาท จัดสรรงบประมาณลง 74 จังหวัด จังหวัดละ 200 ล้านบาท ส่วนอีก 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท
“มีข้อกำหนดห้ามใช้งบประมาณไปซื้อครุภัณฑ์ แต่ต้องเป็นแผนงานเกี่ยวกับภัยแล้งและอุทกภัย โดยให้เสนอแผนงานก่อนสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายนนี้” ศ. ดร.นฤมล กล่าว
นายกฯพอใจ ไทยหลุดบัญชีดำไซเตส – ค้างาช้าง
ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพอใจการดำเนินงานแก้ไขปัญหางาช้างผิดกฎหมายหลังจากประเทศไทยพ้นจากบัญรายชื่อประเทศที่ลักลอบค้างาช้างของไซเตส โดยการประชุมไซเตสครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 17-28 สิงหาคม 2562 ที่สวิตเซอร์แลนด์ที่ประชุมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETISReport) ใช้ข้อมูลปี 2558-2560 ปรากฏว่าประเทศไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย ทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง ซึ่งได้รับความชื่นชมจากเลขาธิการไซเตส
“นายกฯ ย้ำว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีคดีค้างาช้างลอตใหญ่ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น แม้จะพบว่ายังมีตลาดค้างาช้างอยู่บ้างแต่ก็มีมาตรการควบคุมอย่างรัดกุม รัฐบาลได้ปรับปรุง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 กฎหมายใหม่จะช่วยให้การปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตสมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะมีการกำหนดชนิดพันธุ์สัตว์ที่ได้รับความคุ้มครองและบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น การพ้นจากบัญชีดำช่วยลดความเสี่ยงด้านการค้าพืชและสัตว์อีกกว่า 35,000 ชนิด เช่น กล้วยไม้และไม้มีค่าอื่นๆ ด้วย” ศ. ดร.นฤมลกล่าว
เด้ง “อธิบดีกรมคุมประพฤติ” นั่งรองปลัดกระทรวง ฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง ดังนี้
- แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย นายวราวุธ ชูธรรมธัช ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง, นางอุทุมพร พิมลบุตร ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง, นายพิศาล พงศาพิชณ์ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง, นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และโยกนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแทน, นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมข้าว แทนนายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ซึ่งจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ และนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประมง แทนนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้เช่นกัน โดยมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมมีการเสนอชื่อนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง และสลับนายปราโมทย์ ยาใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แทน แต่ปรากฎว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ถอนเรื่องออกก่อน
- แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดกระทรวงยุติธรรม จำนวน 3 ราย ดังนี้ นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นรองปลัดกระทรวง, นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ และ นายเรืองศักดิ์ สุวารี ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
- รับโอน พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นเลขาฯ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตามที่ สมช.เสนอ
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เพิ่มเติม