ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จำนำข้าว : ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ กับคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ (จบ)

จำนำข้าว : ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ กับคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ (จบ)

14 กันยายน 2011


“นั่นคือปรากฎการณ์ที่ผมคาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลต้องการให้เกิดอย่างนั้นก็ดำเนินนโยบายต่อไป นี่คือคำถามต่อไปว่า รัฐบาลจะผลิตข้าวธงฟ้าออกมามากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐบาลผลิตออกมามากๆ ความต้องการข้าวภายในประเทศในส่วนข้าวเต็มราคาจะหดหายไป ปัญหาก็จะกลับมาอีกว่า เป็นการลิดรอนพลังของราคาในประเทศ”

ข้าวแพง ผู้บริโภคเดือดร้อน

ดร.อัมมาร เตือนว่า การรับซื้อข้าวเปลือกราคาแพงเกือบทุกเมล็ดแล้วเก็บเข้าสต๊อก จะทำให้ข้าวสารมีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งรัฐบาลบอกว่า ถ้าข้าวแพงขึ้น เพื่อป้องกันการเดือดร้อน ก็จะมีข้าวธงฟ้ามาขาย คำถามถัดมาคือ รัฐบาลจะให้ใครเป็นผู้ขายข้าวราคาถูกของรัฐ และถ้าข้าวธงฟ้าจะขายได้น้ำได้เนื้อจะต้องขายราคาต่ำมากๆ หรือเท่าในปัจจุบัน ก็จะเกิดการแย่งซื้อข้าว รัฐบาลที่แล้วเราแย่งกันซื้อน้ำมันปาล์ม แต่รัฐบาลนี้จะเห็นการแย่งซื้อข้าว

“นั่นคือปรากฎการณ์ที่ผมคาดว่าจะเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลต้องการให้เกิดอย่างนั้นก็ดำเนินนโยบายต่อไป นี่คือคำถามต่อไปว่า รัฐบาลจะผลิตข้าวธงฟ้าออกมามากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐบาลผลิตออกมามากๆ ความต้องการข้าวภายในประเทศในส่วนข้าวเต็มราคาจะหดหายไป ปัญหาก็จะกลับมาอีกว่า เป็นการลิดรอนพลังของราคาในประเทศ”

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า คำถามที่รองนายกกิตติรัตน์แถลงเอาไว้ว่า ถ้าเป็นข้าวมวลชน สมมติราคาแพงขึ้น รัฐบาลก็มีรายการอุดหนุน ซึ่งในอดีตเราเคยผลิตข้าวธงฟ้าจำนวนน้อย และให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินการ แต่คำถามคือ ถ้าข้าวมวลชนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ แล้วต้องผลิตข้าวมวลชนจำนวนมาก ลำพัง อคส. คงไม่มีกำลัง หรือถ้าแต่การการกระจายข้าวคงมีข้อจำกัด ก็ต้องพึ่งกลไกของเอกชน คำถามก็คือว่า แล้วจะให้เอกชนรายไหนทำ และค่าจ้างทำจะเป็นเท่าไร เรื่องแบบนี้ยังไม่มีคำตอบ ไม่มีรายละเอียด

ส่วนข้าวหอมมะลิที่ท่านรองนายกฯ พูดในที่สาธารณะแล้วว่าจะปล่อยให้ขึ้นไป แล้วให้ผู้บริโภคซึ่งมีฐานะซื้อของราคาแพงนั้น ดร.นิพนธ์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้มีบริษัทต่างๆ เช่าพื้นที่โกดัง และซื้อข้าวหอมมะลิเข้าโกดังเป็นจำนวนมาก เพราะเขารู้ว่ารัฐบาลจะจำนำในราคา 20,000 บาทต่อตัน

เนื่องจากข้าวหอมมะลิไม่เหมือนข้าวมวลชน ไม่เหมือนข้าวขาวทั่วไป เพราะเป็นข้าวไวแสง และปลูกได้ปีละครั้ง พอเก็บเกี่ยวแล้วหลังจากนั้นแล้วจะไม่มีผลผลิตออกมา เพราะฉะนั้นราคาจะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ส่วนข้าวขาวทั่วไป มีนาปรัง และตอนนี้เก็บเกี่ยวได้เกือบทุกเดือน เพราะฉะนั้น สถานการณ์จึงแตกต่างกัน บางบริษัทก็ฉลาดพอที่จะเก็งกำไรพวกเรื่องนี้

“ฝันกลางวัน” ของนักการเมือง

ในขณะที่รัฐบาลคิดว่า จะแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการจัดระเบียบการส่งออก อันนี้ ดร.อัมมารบอกว่า เป็น “ฝันกลางวัน” ของนักการเมืองแทบทุกคนแทบทุกพรรค ว่าจะจัดการขายข้าวในราคาสูงขึ้นได้ แต่จากที่อาจารย์นิพนธ์ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวมาโดยตลอด

บางที่รัฐบาลบอกว่าต้องร่วมมือกับต่างประเทศ กับเวียดนาม กับใครต่อใครที่เป็นคู่แข่งของเรา แต่ดร.อัมมารคิดว่าสิ่งที่จะชวนให้เกิดขึ้นก็คือ เปิดโอกาสให้เวียดนามหลอกเราได้ เหมือนตอนนั้นก็ทำสัญญาว่าเราจะไม่ส่งออก หรือส่งออกราคานั้น ในที่สุดเวียดนามหลอกก่อน เราก็หลอกตาม หลอกกันไปหลอกกันมา

“อำมาตย์” หน้าไหนจะลดปลูกข้าว

ในกรณีท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” พูดออกให้สาธารณะฟังว่า ถ้าปีหน้าข้าวในสต๊อกล้น เพราะขายไม่ได้ ก็จะวางแผนให้เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง เพื่อลดการผลิต

ดร.อัมมารตั้งคำถามในประเด็นนี้ว่า รัฐบาลจะอาศัยอำมาตย์หน้าไหนมากำหนดให้ชาวนาแต่ละคนลดการผลิตข้าวตามที่รัฐต้องการ

“จะมีอำมาตย์หน้าไหนที่จะไปตามบอกเกษตรกรคนนู้นคนนี้ว่า ต้องปลูกน้อยลง 10% หรือต้องปลูกน้อยลง 20% จะมีใครไปบอกเกษตรกร ที่สำคัญเป็นสิทธิของเขาที่จะปลูกข้าว ซึ่งคิดว่าเป็นสิทธิตั้งแต่โบราณกาล แม้แต่รัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่เคยจำกัดการปลูกข้าว ผมถึงบอกว่านี่เป็นฝันกลางวันของนักการเมืองทุกคนว่าเราจะควบคุมการส่งออกได้”

“ข้าว” ไม่ใช่ “น้ำมัน”

ดร.อัมมารให้ข้อสังเกตว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดราคาเหมือนซาอุดิอารเบียที่มีกำลังการผลิตน้ำมันมากที่สุด แต่ซาอุฯ เป็นประเทศที่รับภาระในการที่ทำให้ราคาโอเปคอยู่ได้ ถ้าต้องการลดการผลิต ซาอุฯ ก็พร้อมจะลดการผลิตของตัวเองลงมา

น้ำมันมีเสน่ห์ตรงที่ว่า เมื่อลดการผลิตเหมือนกับการเพิ่มสต็อกอยู่ในดิน มันไม่ได้หายไปไหน ซาอุฯ มีทรัพย์สมบัติล้นฟ้า แทนที่จะขุดออกมาไปฝากแบงก์ที่อเมริกา เขาก็เก็บไว้ในดิน และความต้องการใช้เงินปีต่อปี แม้ว่าเขาจะฟุ้งเฟ้อมากน้อยแค่ไหน แต่คิดว่าน้อยว่าน้ำมันที่ผลิตออกมา

“อันนี้เขาทำได้ เพราะเขาเป็นซาอุฯ แต่เราประเทศไทย และข้าวไม่ใช่สมบัติของรัฐบาล ไม่ใช่ของคุณทักษิณ มันเป็นของของประชาชน อยู่ดีๆ จะบอกว่าไม่ปลูกหรือดึงอยู่ได้”

กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

ดร.อัมมารบอกว่า สมัยก่อนไทยควบคุมการส่งออกได้ เพราะมีการเก็บพรี่เมี่ยม ซึ่งมีข้าราชการการพาณิชย์บางคนที่ฝันถึง พรีเมี่ยมว่าเป็นวิธีที่เราจะเอาเงินเข้ามา แต่อย่าลืมการขึ้นพรีเมี่ยมไม่ได้ทำให้ราคาข้าวในต่างประเทศสูงอย่างเดียว แต่ทำให้ราคาในประเทศลดลงอีก แบบว่าไปทางนู้นก็ติดกึกไปทางนั้นก็ติดกัก หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

แม้แต่สต็อกก็เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ดร.อัมมารขยายความให้เห็นภาพต่อไปว่า สต็อกนั้นต้องกลืนเข้าไปเรื่อยๆ หากต้องการรักษาระดับราคาข้าว และถ้าจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ผลผลิตข้าวอาจไม่ใช่แค่ 32 ล้านตัน แต่อาจจะถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งตอนนี้คนอยากปลูกข้าวมาก แล้วเมื่อได้ 15,000 บาทปีนี้ แล้วปีหน้าจะไปบอกเกษตรกรว่า ต้องปลูกข้าวน้อยลง ก็ต้องถามรัฐบาลว่าจะมีมาตรการอะไรที่ทำให้เขาปลูกข้าวน้อยลงได้สำเร็จ

“หวังว่าการปลูกข้าวในประเทศไทยจะไม่ใช่เป็นการปลูกฝิ่นที่เป็นของต้องห้ามปลูกไม่ได้”

เพราะฉะนั้น ดร.อัมมารย้ำว่า คำถามที่มีต่อนโยบายการจำนำมันไม่ได้อยู่ที่ว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้าราคาจะขึ้นจริงหรือไม่ขึ้นจริง ราคาจะขึ้นจริงได้ แล้วรัฐบาลก็ซื้อข้าวเข้ามาได้ เพราะรัฐบาลสัญญาแล้ว และรัฐบาลนี้มีเอกลักษณ์เหนือจากรัฐบาลทักษิณ เพราะรัฐบาลทักษิณสัญญาอะไรแล้วเขาทำเสมอ อ้นนี้ผมยกให้คุณทักษิณ แต่บรรดาลูกน้องของเขาทั้งหลาย สัญญาแล้วเบี้ยวสัญญาได้ง่ายๆ อย่างเช่น 300 บาท ก็เริ่มถอย

“เพราะฉะนั้นปัญหาที่จะตามมาก็คือว่า จะทำอย่างไรกับสัญญาอันนี้ จะรักษาหรือไม่ จะเก็บสต็อกไปนานไหน และปีหน้าจะเป็นอย่างไร หรือไม่ต้องถึงปีหน้าแค่ฤดูนาปรังจะทำอย่างไร เพราะข้าวออกมาเรื่อยๆ ไม่ใช่น้ำมันที่พอปิดก๊อกก็เป็นสต๊อกเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีอะไรเสียหาย”

ความสามารถแข่งขันลดลง

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีข้อเสนออีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถขายข้าวส่งออกได้ในราคาสูง คือราคา cost plus หรือ ราคาต้นทุนจำนำ 15,000 บาท บวกค่าแปรสภาพ 500 บาท บวกค่าฝากเก็บ 55 บาท

คำถามที่ดร.อัมมารตั้งไว้คือ รัฐบาลมีดีอะไร ประเทศไหนถึงจะยินดีซื้อข้าวในราคาดังกล่าว

“แนวทางดังกล่าวคิดว่ายังเป็นเพียงแนวคิด แต่การตั้งราคาต้นทุนบวกค่าอะไรต่างๆ เป็นราคาขาย แล้วบอกว่าคนซื้อต้องซื้อราคานี้ แต่ราคาขายจะเป็นราคาซื้อหรือไม่ คือจะมีคนซื้อหรือไม่ในราคานั้นเขาไม่ได้พูดถึง”

ดร.อัมมาร กล่าวว่า ตามข้อสมมติของทีดีอาร์ไอ และข้อเท็จจริงในอดีตคือ รัฐตั้งราคาสูง ลูกค้าหาย ขนาดสมัยคุณทักษิณ ตั้งราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับราคาตลาด ข้าวที่เราส่งออกก็ลดน้อยลงในช่วงนั้น สต็อกเราเพิ่มขึ้น แต่ขายได้น้อยลง นี่คือปัญหาที่ต้องตอบ

“ข้าวราคา 15,000 บาทต่อตัน ผมคิดว่าเราจะขายได้กี่พันตัน ไม่ต้องพูดถึงเป็นล้านๆ ตันอย่างในปัจจุบัน แล้วข้าวอันนั้นก็จะไปกองอยู่ที่สต็อก ที่สำคัญถ้าเราหยุดขายข้าว ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ คู่แข่งของเราทั้งหมด เขาก็จะขายข้าวได้ราคาดี เพราะเราส่งออกในราคาค่อนข้างบ๊องๆ แบบนั้น (พูดแรงไปไหม) เมื่อเราหายออกไปจากตลาด ก็หมายความว่าประเทศอื่นจะตักตวงประโยชน์ได้ราคาดีด้วย และขายได้เยอะด้วย นี่เป็นประโยชน์ที่เรายื่นให้กับเขา ขณะที่เราบอกว่า คือพ่อค้า ชาวนา ใครต่อใครพูดกันว่าเราต้องแข่งกับตลาดโลกได้ สู้กับเวียดนาม ใครต่อใครที่เป็นคู่แข่งเรา”

หลุดข้อเสนอทางแก้ปัญหา

ดร.อัมมาร กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องสต็อก เรื่องส่งออก คือเอาสต็อกไปขายให้ผู้ส่งออกขายต่างประเทศ แต่ต้องการบริหารจัดการอะไรนิดหน่อย ไม่งั้นจะเกิดการเวียนเทียน เพราะราคาในประเทศกับต่างประเทศจะแตกต่าง อันนี้ต้องระมัดระวัง คือราคาข้าวที่ส่งออกนอกประเทศจะเกิดในประเทศไทยก่อน ดังนั้นต้องมั่นใจว่า ผู้ส่งออกขายออกต่างประเทศอย่างเดียว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์น่าจะมีการบริหารจัดการดีกว่าอดีต “อย่าทำเหมือนกรณีเพรสซิเด้นท์อะกรี คือให้ขายต่างประเทศ แต่เบี้ยวไปเบี้ยวมา”

ปัญหาคือจะต้องจัดการส่งออกตามปกติ และส่วนต่างราคารัฐบาลก็รับภาระไป ถ้าคิดว่าค่าครองชีพในประเทศไทยสูงไป ราคาข้าวในประเทศสูงไป คนรับไม่ได้ ก็เอาเงินไปทุ่มตรงนั้นไป ถ้าปล่อยข้าวทิ้งไว้ ให้ข้าวบูดเสีย มันน่าเสียดาย เสียหายต่อสังคม เท่ากับเป็นการโยนข้าวทิ้ง แต่โยนทิ้งปีนี้เลยจะดีกว่า แทนที่จะดองไว้ให้บูดอีก 5 ปีแล้วโยนทิ้ง ก็จัดการแบบนี้ไป

“เลี่ยงจนสุดฝีมือ แต่ก็ถามมาจนได้ ผมพยายามไม่บอกข้อเสนอ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องคิด แล้วรัฐบาลกำลังคิดอยู่ และเรายังไม่รู้คำตอบเขา คือถ้าเราด่าเขาไปว่า ควรต้องทำยังงี้ๆ ก็จะบอกว่าคุณไปบอกเขาทำไม คุณรู้ได้ไง เขาคิดมาแล้ว เวลานี้กระแสทั่วไปทุกคนบอกว่า ให้นายกรัฐมนตรีที่น่ารักของเราดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศไว้ไปก่อน แล้วดูซิเกิดอะไรขึ้นค่อยวิจารณ์ เราก็พยายามเคารพอันนั้น แต่บรรดารัฐมนตรีรอบๆ ท่านก็โม้ไปตามเรื่อง แต่อีกคนโม้อีกอย่าง อีกคนโม้อีกอย่าง ก็เลยไม่รู้เขาจะทำอะไรกันแน่”

กระบวนการวิ่งเต้นเกิดขึ้นแล้ว

การเปิดรับจำนำข้าวที่จะดำเนินการในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ ดร.อัมมารกล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหาเรื่องความพร้อมในการดำเนินการ เพราะการจำนำข้าวทำมานาน มีข้าราชการจำนวนหนึ่งช่ำชอง แต่ถ้าจำนำทุกเม็ด ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตเข้าโครงการจำนำเกิน 8 ล้านตัน 9 ล้านตัน หรืออาจถึง 10 ล้านตัน

“คำถามคือ ถ้ารับจำนำมากขนาดนั้นจะจัดการอย่างไร จะให้โรงสีไหน ไม่ให้โรงสีไหนอะไรอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องตะลุมบอนกันอีกระยะหนึ่ง เวลานี้กระบวนการวิ่งเต้นเท่าที่ได้ยินมาเกิดขึ้นเต็มสตีม”