ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งแก้ “ปุ๋ยแพง-สินค้าเกษตรราคาตก” — มติ ครม. ให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายประกันรายได้รอบแรก 2.7 หมื่นล้าน

นายกฯ สั่งแก้ “ปุ๋ยแพง-สินค้าเกษตรราคาตก” — มติ ครม. ให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายประกันรายได้รอบแรก 2.7 หมื่นล้าน

25 ตุลาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ “ปุ๋ยแพง-สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ” — มอบ “อนุทิน-จุรินทร์” สอบส่ง “ถุงมือยางใช้แล้ว” ไปอเมริกา — มติ ครม. ธ.ก.ส. สำรองจ่ายประกันรายได้ “ข้าว-มัน-ข้าวโพด” รอบแรก 2.7 หมื่นล้าน-หนุน OECD วางกรอบเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ สกัดโยกกำไรลง “Tax Haven”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ “ปุ๋ยแพง-สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ”

ดร.ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพงอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันปุ๋ยมีราคาสูงมากตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100%

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยแก่พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ชู BCG – แปรรูปอาหาร ยกระดับสินค้าเกษตรไทย

นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ผลักดันเกษตร BCG และการแปรรูปอาหาร โดยนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมายการยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะถือเป็นโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นได้มีการสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ประสานงานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัด เพื่อกำหนดแผนงานเกษตร BCG ให้ชัดเจน

สั่ง “ดีอีเอส” หนุนจัดแข่งขัน e-Sports ในไทย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่งเสริมอุตสาหกรรม e-sports โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ส่งเสริมอุตสาหกรรม e-sports ของไทยให้เป็นสถานที่แข่งขันในระดับโลก เพราะถือว่า e-sports เป็นส่วนหนึ่งของ soft-power ของไทย

มอบ “อนุทิน-จุรินทร์” สอบส่งออก “ถุงมือยางใช้แล้ว” ไปอเมริกา

จากนั้น ดร.ธนกรได้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องการตรวจสอบ กรณีที่มีบริษัทส่งถุงมือยางใช้แล้วไปประเทศสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ดูแลเรื่องนี้อย่างไร ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีตอบว่า ได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ขอความร่วมมือม็อบจัดชุมนุมใหญ่สิ้นเดือนนี้ ปฏิบัติตาม กม.

คำถามว่ารัฐบาลเตรียมรับมือการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้อย่างไร รวมถึงการป้องกันปัจจัยแทรกซ้อนจนนำไปสู่ความรุนแรง เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส เป็นต้น ดร.ธนกรกล่าวว่า ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลานี้มีภารกิจสำคัญมากมายหลายประการที่จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราชการ รวมทั้งประชาชน ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม”

แจงจ้าง “ลิซ่า-แอนเดรีย” กว่า 100 ล้าน โปรโมตท่องเที่ยว

ถามว่ากรณีที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายร้อยล้านบาทในการจ้าง “ลิซ่า แบล็กพิงก์” และ “แอนเดรีย โบเซลลี” มาร่วมงานเคาต์ดาวน์ในช่วงเทศกาลส่งทายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2565 ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ขอให้แยกแยะว่าเราใช้จ่ายงบประมาณการดูแลธุรกิจต่างๆ ไปอย่างไร เท่าไร ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการชี้แจงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า เป็นการโปรโมตการท่องเที่ยว โดยงบฯ ที่ใช้ ก็เป็นงบฯ ที่ได้รับเพิ่มเติมจากระยะเวลาที่ผ่านมา เราต้องเน้นโปรโมตการท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ”

สั่งสอบพระกราบ “ยันตระ” ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่

คำถามสุดท้ายถึงกรณีนายวินัย ละอองสุวรรณ หรือ “อดีตพระยันตระ” ซึ่งไม่ใช่พระสงฆ์แล้ว แต่ยังมีพระสงฆ์ไปกราบไหว้ และรับฟังคำสอน ได้มอบหมายให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปตรวจสอบกรณีนี้อย่างไร ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ และติดตามว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องตามวินัยสงฆ์หรือไม่ ตั้งแต่วันที่ทราบข่าวแล้ว ปัจจุบันต้องรอผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ผ่านร่าง กม. มอบ สพธอ. คุมธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ โดยร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (digital platform) ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และการให้บริการแพลตฟอร์มฯ ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (digital platform) ให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน บนพื้นฐานของความโปร่งใสและเป็นธรรม สำหรับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือคนขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น เช่น เงื่อนไขการให้บริการ ช่องทางการร้องเรียน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์มฯ และท้ายที่สุด หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้ในการดูแลความเสี่ยงในการให้บริการ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจบริการนั้น รวมทั้งมีข้อมูลที่จะใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

สาระสำคัญ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ เช่น

  • “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
  • ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ จะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
  • สพธอ. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ จัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือ มีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เช่น การระบุหรือพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
  • สพธอ. จัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ สามารถใช้เป็นช่องทางร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการให้บริการโดยแพลตฟอร์มฯ ขนาดเล็ก ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฯ ที่ประกอบธุรกิจก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ จะมีระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 30 วันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมเป็นเวลาทั้งหมด 210 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  • ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ เชื่อมต่อกันทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมีหลากหลายลักษณะประเภทธุรกิจ เช่น online marketplaces, social commerce, food delivery, space sharing, ride/car sharing, online search engines, app store ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ รวมทั้งคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มฯ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มฯ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือ กลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนด้วย ทั้งนี้ สพธอ. ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบตามพระราชกฤษฎีกานี้

    นายกฯ สั่งทุกหน่วยเร่งสำรวจฟื้นที่น้ำท่วม เตรียมจ่ายเยียวยา

    ดร.ธนกรกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายฝ่ายปกครอง ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย หลังหลายพื้นที่น้ำลดลง เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายทางบ้านเรือน ทรัพย์สิน ที่ทำกิน และสัตว์เลี้ยง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และเยียวยาเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไร่-นา ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

    ดร.ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงและไม่นิ่งนอนใจกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัย

    “นายกรัฐมนตรีให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ให้เป็นไปตามระเบียบทางราชการ และเร่งซ่อมแซม พื้นที่ สถานที่สาธารณะ เพี่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิต และทำมาหากินตามปกติให้ได้เร็วที่สุดโดยรัฐบาลพร้อมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน” ดร.ธนกร กล่าว

    อนุมัติ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายประกันรายได้ “ข้าว-มัน-ข้าวโพด” รอบแรก 2.7 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคา พืช 3 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดูแลเกษตรกรครอบคลุมกว่า 5.66 ล้านครัวเรือน สำหรับการประกันรายได้เกษตรกรทั้ง 3 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

    1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 วงเงิน 13,604 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านคน โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2564 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับการชดเชยส่วนต่างนั้น หลักเกณฑ์เหมือนกับปี 2563/64 โดยชดเชยเป็นจำนวนตันใน 5 ชนิดข้าว ณ ราคาความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ (ข้าวเจ้า ครัวเรือนละ 50 ไร่) แปลงละ 1 ครั้ง ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

    ส่วนมาตรการคู่ขนานประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 26,255 ล้านบาท (สินเชื่อ 20,401 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 5,853 ล้านบาท) 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 15,562 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท) 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ตามมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อ 23 สิงหาคม 2564 ด้วย

    2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงิน 1,863 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรได้ครอบคลุมกว่า 4.52 แสนราย โดยประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่แจ้งเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2565 (ยกเว้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้) โดยใช้เงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2566

    สำหรับมาตรการคู่ขนาน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,030 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท) 2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อก ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,515 ล้านาท (วงสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท)

    3. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 6,811 ล้านบาท ดูแลเกษตรได้ครอบคลุมกว่า 5.3 แสนครัวเรือน โดยประกันราคาหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 ใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2566 สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2563/64 ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างทั้งสิ้น 9 งวด โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 436,817 ครัวเรือน รวม 3,057 ล้านบาท สิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายพฤศิจกายนนี้

    นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 คือ กลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 จำนวน 8.41 หมื่นครัวเรือน ให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เริ่มปลูกช้าและใช้เวลาปลูกนาน ไม่สามารถรับสิทธิโครงการได้ทัน โดยค่าใช้จ่ายในการชดเชยส่วนต่างกลุ่มดังกล่าวนี้ ยังคงภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิม ตามมติ ครม. (18 ส.ค. 2563)

    สำหรับมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 41.40 ล้านบาท 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงิน 500 ล้านบาท 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท 4. โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสาปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท

    แก้ไข กม.เดินเรือฯ ห้ามทิ้งขยะในน่านน้ำไทย

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล กำหนดมาตรการในการควบคุมการทิ้งขยะจากเรือและแท่นให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ.1973 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล

    ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลการทิ้งขยะลงในทะเลเทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ จะส่งผลให้นานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ รวมทั้งเรือจากประเทศไทยย่อมได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีมาตรฐานเพียงพอในการป้องกันการทิ้งหรือการรั่วไหลของขยะจากเรือ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้การพาณิชยนาวีของไทยมีการพัฒนาและสามารถขยายกิจการได้มากยิ่งขึ้น

    สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ปรับปรุงแก้ไข เช่น การกำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขในการทิ้งขยะ โดยห้ามไม่ให้มีการทิ้งขยะจากเรือหรือแท่นลงในทะเล เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยได้กำหนดประเภทของขยะที่สามารถทิ้งลงทะเลได้ เช่น การทิ้งอาหารจากเรือลงในทะเลให้กระทำได้ในขณะที่เรืออยู่ระหว่างทางและต้องอยู่ห่างไกลจากเส้นฐาน(Baseline) ออกไปในทะเลในระยะพื้นที่ตามที่กำหนด ส่วนการทิ้งอาหารจากแท่น รวมถึงเรือที่อยู่ติดกับแท่นเรือหรืออยู่ใกล้กับแท่นในระยะไม่เกิน 500 เมตร ให้ทิ้งได้ในระยะไม่น้อยกว่า 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป แต่ต้องทิ้งผ่านเครื่องบดปั่นและผ่านตะแกรงที่มีช่องขนาดไม่เกิน 25 มิลลิเมตร

    อย่างไรก็ตามได้กำหนดข้อยกเว้นในการทิ้งขยะเมื่อมีเหตุจำเป็นได้แก่ การทิ้งเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือหรือแท่น หรือผู้ที่อยู่บนเรือหรือแท่น หรือเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ และยังได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ และนายเรือ เจ้าของแท่น ผู้ครอบครองแท่น และผู้จัดการแท่นไว้ด้วย เช่น จัดทำป้ายประกาศเพื่ออธิบายข้อกำหนดเกี่ยวกับการทิ้งขยะ แผนจัดการขยะ โดยหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ เจ้าท่าจะใช้อำนาจในการตรวจสอบเรือหรือแท่นได้

    ผ่านร่าง กม.เพิ่มประสิทธิภาพคลังกู้เงิน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับปี 2550 โดยมีสาระสำคัญดังนี้คือ

      1. กำหนดให้เพิ่มหน้าที่ กระทรวงการคลัง สามารถทำหน้าที่ตัวแทนการจ่ายเงินสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ และเป็นผู้รับฝากตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสารได้ จากเดิมกำหนดให้เฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือนิติบุคคลที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดทำหน้าที่ดังกล่าวได้เท่านั้น รวมทั้งกำหนดให้มีการระบุทะเบียนตราสารหนี้ กรณีตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสาร เฉพาะชื่อผู้รับฝากตราสารหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ
      2. ปรับปรุงคุณสมบัติของนิติบุคคล จากเดิมเป็น “สถาบันการเงิน” ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถยื่นขอเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ได้
      3. กำหนดเพิ่มวิธีการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลัง ในกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็นให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคาได้เช่นเดียวกับวิธีการจำหน่ายพันธบัตรและกำหนดรายละเอียดการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลังโดยวิธีการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนและวิธีการเสนอซื้อไว้ในประกาศหรือหลักเกณฑ์ลำดับรองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
      4. กำหนดประเภทผู้รับเงินของตั๋วเงินและพันธบัตร ให้ครอบคลุมถึงผู้รับหลักประกันตามที่ตกลงกัน หรือ ผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด เพื่อความชัดเจนและความสะดวกในการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวแทนการจ่ายเงินให้สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้โดยสะดวกรวดเร็ว
      5. กำหนดให้สามารถชำระหนี้ให้กับตราสารหนี้ประเภทมีใบตราสาร โดยไม่ต้องนำใบตราสารมาเวนคืน และให้นำหลักการนี้มาใช้กับตราสารหนี้ที่ออกก่อนที่ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับด้วย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ถือตราสารหนี้ในการขึ้นเงินเมื่อครบกำหนด และ
      6. กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังระบุว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะมีประโยชน์ 2 ด้านคือ ประโยชน์ต่อภาครัฐ กระทรวงการคลังจะมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการกู้เงิน และตราสารหนี้ภาครัฐมากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับกระบวนงานออกพันธบัตรทั้งระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการลดกระบวนงาน ระยะเวลา และต้นทุนการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ ในการตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของประชาชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการออม ลดความเหลื่อมล้ำ และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายภาครัฐ

    สำหรับอีกด้านคือประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยตนเองได้จากทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว และมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงในอนาคต

    รับทราบข้อเสนอ กมธ. แนะพัฒนาหลักสูตรอาชีวะ ผลิตบุคลากรรับ EEC

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชม ครม. รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทางในการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามประเด็นดังนี้คือ

    1. โครงการอีอีซีควรสรุปความต้องการกำลังคนให้ชัดเจน ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน โดยสถานประกอบการร่วมออกแบบและสร้างหลักสูตรเพื่อให้ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษามีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

    2. การกระจายอำนาจให้สถาบันอาชีวศึกษาในการพัฒนาหลักสูตร มีการประเมินความพร้อมของสถานศึกษา อาชีวศึกษา ในการจัดการเรียนการสอน มีแผนในการพัฒนาครู หลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของโครงการ ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตรเดิมได้ โดยการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา

    3. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร ภาคประกอบการและสถานประกอบการ ได้ทำความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ

    4. การจัดเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซีในอนาคต ส่วนนี้ได้ทำความร่วมมือและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำร่อง เพื่อจัดการศึกษาในหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ โดยได้จัดการเรียนการสอนในระบบทั้งหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ ซึ่งมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษา

    หนุน OECD วางกรอบเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ สกัดโยกกำไรลง “Tax Haven”

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทางได้แก่

    Pillar 1 เป็นการกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษี ตามมาตรฐานสากลด้วยการเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ ซึ่งต้องมีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านยูโร โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งานร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโร และมีอัตรากำไรมากกว่า ร้อยละ 10 ของรายได้

    ทั้งนี้คาดว่า Pillar 1จะสามารถนำข้อเสนอการจัดเก็บภาษีจากการปันกำไร มาบังคับใช้โดยการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี โดยจะเปิดให้ลงนามในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ในปี 2566

    สำหรับ Pillar 2 เป็นการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 15 โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป

    คาดว่า Pillar 2 จะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายที่ให้แต่ละประเทศไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายในได้ภายในปี 2565 และมีผลบังคับใช้ภายในปี 2566

    ทั้งนี้ OECD ได้แจ้งผลการประชุมว่า ณ ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศ ที่เห็นด้วย หรือ ไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย ส่วน 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ ศรีลังกา ไนจีเรีย เคนยา และ ปากีสถาน

    อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังระบุว่า ผลของการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีโลกในยุคดิจิทัลที่มีความคืบหน้าและมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Haven) สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี

    รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อป้องกันประเทศต่างๆ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยการแข่งขันกันลดอัตราภาษี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศไทย นโยบายการค้าและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อผลกระทบของ Pillar 1 และPillar 2 กระทรวงการคลังจะได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD

    สำหรับผลกระทบของPillar 1 คาดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่อยู่ในขอบข่ายของการปันกำไรจาก Pillar 1 โดยประเทศไทยจะมีโอกาสได้รับการปันกำไรในส่วนนี้ หากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ หรือ บริษัทดิจิทัลต่างๆ มีการให้บริการและมีรายได้จากลูกค้าในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ล้านยูโร แม้ไม่ได้มาประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีเงินได้จากการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทย

    ส่วนผลกระทบของ Pillar 2 คาดว่าจะส่งผลกระทบทางบวกต่อการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทย กรณีบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและมีการวางแผนภาษี โดยการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เป็นการรักษาฐานภาษีในประเทศ สร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี แต่อย่างไรก็ตาม Pillar 2 อาจส่งผลกระทบต่อวิธีการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้ภาษีในการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

    ตั้ง 5 รองอธิบดี ขึ้นผู้ตรวจฯ กระทรวงแรงงาน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
      2. นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
      3. นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการ (นักบริหารต้น) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
      4. นางดรุณี นิธิทวีกุล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
      5. นายอรเทพ อินทรสกุล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอโอนข้าราชการรายพันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2564เพิ่มเติม