ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”ยกระดับมาตรการรับมือ“โอไมครอน”-มติ ครม.ประกันรายได้ชาวนาพ่วงเงินอุดหนุน 1.5 แสนล้าน

“บิ๊กตู่”ยกระดับมาตรการรับมือ“โอไมครอน”-มติ ครม.ประกันรายได้ชาวนาพ่วงเงินอุดหนุน 1.5 แสนล้าน

30 พฤศจิกายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“บิ๊กตู่” ไม่รู้ “4 กุมาร” เปิดตัวพรรคใหม่ ยันยังอยู่ พปชร.-สั่งยกระดับมาตรการรับมือ “โอไมครอน” ขู่ฟัน จนท.ปล่อยลักลอบเข้าเมือง – มติครม.ประกันรายได้ชาวนา-แจกเงินอุดหนุน พ่วงสวนยางรวมวงเงินกว่า 1.5 แสนล้าน-ออกวีซ่าใหม่ ดึงผู้ป่วยต่างชาติรักษาพยาบาลในไทย-ปิดงบปี’64 ยอดหนี้ประเทศเพิ่มเป็น 9.34 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่งปลูกป่า-รณรงค์พลังงานสะอาด

ดร.ธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจเรื่องการปลูกป่าชายเลน เนื่องจากช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก อีกทั้งการปลูกป่าชายเลนช่วยให้เกิดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนให้ความสนใจ และประสานมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการจัดหาพื้นที่ป่าเพื่อดำเนินการ ตามการสนองพระบรมราโชชายของรัชกาลที่ 9 และ 10

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ยังได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้มีการส่งเสริมการปลูกป่า ลดการเผาป่า และรณรงค์ให้ใช้พลังงานสะอาด และเตรียมมาตรการยกร่างกฎหมายไว้ล่วงหน้า และย้ำว่าการประชุม COP26 เป็นวาระโลก และวาระประเทศ เป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อโลก มนุษยชาติ และคนไทยทุกคน

ไม่รู้ “4 กุมาร” เปิดตัวพรรคใหม่ ยันยังอยู่ พปชร.

ดร.ธนกรตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกับกรณีที่กลุ่มสนธิรัตน์เปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ว่า หากมีการทาบทามพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไรว่า “ผมไม่ทราบข่าวนี้ นายกฯ ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ”

โยน กมธ.ปรับโครงสร้างตำรวจ

ดร.ธนกรยังกล่าวถึงมุมมองของนายก ฯ ต่อการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) ตามที่มีการเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธาน กตร.ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีว่า “เป็นเรื่องของกรรมาธิการพิจารณา นายก ฯทำงานตอนนี้ ก็ทำตามอำนาจหน้าที่อย่างสุจริต โปร่งใส เป็นธรรมแล้ว ฟังความเห็นซึ่งกันและกัน”

ยัน AOT ทำถูกต้อง-ไม่มีลดสเปคระบบไฟ “รันเวย์ สุวรรณภูมิ”

ถามว่า กรณีเอกชนผู้รับเหมารันเวย์เส้นที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งวิศวกรและผู้รับเหมาออกมาเปิดเผยว่าถูกกดดันให้ลดสเปควัสดุระบบไฟฟ้า แต่เอกชนไม่ยินยอมลดสเปค เพราะกลัวความผิดและส่งผลต่อความปลอดภัยผู้โดยสาร ส่อทุจริตหรือไม่ ดร.ธนกรชี้แจงว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย ยืนยันชัดเจนว่าทำทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ การติดตั้งระบบไฟต้องเป็นไปตามวัสดุที่ได้มาตรฐานใน TOR และสัญญาจ้าง

ยกระดับมาตรการรับมือ “โอไมครอน” ขู่ฟัน จนท.ปล่อยลักลอบเข้าเมือง

ดร.ธนกร ตอบคำถามจากสื่อมวลชนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนว่า “เป็นเรื่องปกติของโรคระบาดการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องที่สังคมโลกต้องเผชิญในช่วงโควิด-19 รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามการกลายพันธุ์ โดยมีการตรวจผู้ติดเชื้อสัปดาห์ละ 4,000-5,000 คน รัฐบาลเร่งค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อค้นหาผูู้ติดเชื้อโอไมครอน และสั่งการฝ่ายความมั่นคงให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย”

“รัฐบาลเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการควมคุมป้องกันการติดตาม และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะช่วยลดอัตรารุนแรงและลดการเสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

อนุมัติประกันรายได้ชาวนา-แจกเงินอุดหนุนรวมกว่า 1.5 แสนล้าน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่าวันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวงเงินรวม 76,080.95 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นวงเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรจำนวน 74,569.31 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จำนวน 1,511.64 ล้านบาท หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 วงเงินจ่ายขาดเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564 /65 วงเงินจ่ายขาด 89,306.39 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน ฯ วงเงินจ่ายขาด 6,955.98 ล้านบาท และ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 54,972.72 ล้านบาท รวมวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น 151,235.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 มีมติมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการประกันรายได้เพิ่มเติม ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 76,080.95 ล้านบาทโดยดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล 2561 ตลอดจนกฎหมายระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ข้อ 2 กำหนดให้อัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 30

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานบอร์ด นบข. ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต และช่วยเกษตรกรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 ขณะนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามนโยบายของรัฐที่แถลงต่อรัฐสภาไว้

ประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 3 วงเงิน 10,065 ล้าน

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงินรวม 10,065.69 ล้านบาท โดยเป็นการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย โดยพื้นที่สวนยางกรีดได้ 19.16 ล้านไร่และประกันรายได้ในระหว่างตุลาคม 2564 -มีนาคม 2565

หลักเกณฑ์และข้อกำหนดโครงการ ฯ ดังนี้

  • เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่
  • ผลผลิตยางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่
  • ผลผลิตยางก้อนถ้วย จำนวน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่
  • กำหนดเงินค่าประกันรายได้ โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม
  • แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของส่วนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ งบประมาณ 10,065.69 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับประกันประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 9,783.61 ล้านบาท งบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงินธนาคาร ภายในวงเงินไม่เกิน 195.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรชาวสวนยาง 5 บาทต่อรายจำนวน 9.4 ล้านบาท และงบบริหารโครงการจำนวน 77 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีที่ราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เพื่อเพิ่มรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางได้เงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติยังได้หารือและเห็นชอบหลักการในการดำเนินมาตรการคู่ขนานอื่น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้ประกอบกิจการยาง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณให้มีความชัดเจน เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการต่อไป

จัดงบฯ 54,972.72 ล้าน อุดหนุนชาวนา 1,000 บาท/ไร่ สูงสุด 2 หมื่นบาท

ดร.ธนกร กล่าว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 54,972.72 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการ ฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 วงเงินจ่ายขาดรวม 54,972.72 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 53,871.84 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 2 วงเงิน 1,077.44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. รายละ 5 บาทเป็นวงเงิน 23.44 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564 /65 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.69 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จะได้รับการช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท โดยระยะเวลาจ่ายเงินตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการ ฯ ว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภัยแล้ง โรคระบาด รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ยังมุ่งสนับสนุนให้เกษตกรมีเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพในการผลิตข้าว ดำเนินงานโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับ คือ เกษตรกรมีรายได้ส่วนเหลือเพิ่มขึ้น มีเงินไว้สำหรับใช้จ่ายภายในครัวเรือน กระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจประเทศ

บริจาคเงิน “ศิริราชมูลนิธิ–มูลนิธิจุฬาภรณ์” หักภาษีได้ 2 เท่า

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่.. พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนร่วมบริจาคด้านสาธารณสุข โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์ ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ดังนี้

1.บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

3.บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า แม้มาตรการทางภาษีนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 300 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคด้านสาธารณสุขให้แก่ศิริราชมูลนิธิหรือมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ไฟเขียวสรรพากรเปิดบริการยื่นภาษีผ่านแอปฯ

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยื่นรายการแบบ คำร้อง คำขอ หรือ เอกสารอื่นใดตามประมวลรัษฎากรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการเสียภาษีของประชาชน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ผู้นำส่งภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือบุคคลใด อาจยื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือ เอกสารอื่นใดให้กรมสรรพากรผ่าน Application Programming Interface (API) หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นได้ โดยกำหนดให้มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ผู้นำส่งภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่สามารถระบุตัวตนเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ เมื่อยื่นรายการและชำระภาษีอากร ขอคืนภาษี หรือ การดำเนินการอื่นๆแล้วเสร็จ จะได้รับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมสรรพากรได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์รับรองแล้ว

ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ 1) เป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และลดต้นทุนการเสียภาษีของประชาชน 2) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลและสนับสนุนให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลภาษีที่ครบถ้วน สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) เป็นการยกระดับรูปแบบการให้บริการภาครัฐที่ทันสมัย ได้มาตรฐานและปลอดภัย ขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ปิดงบปี’64 ยอดหนี้ประเทศเพิ่มเป็น 9.34 ล้านล้านบาท

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลัง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2564 ( 30 กันยายน 2564) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดดังนี้

1.รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ 30 กันยายน 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ

    1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ร้อยละ 58.15 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 70
    2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ร้อยละ 32.27 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 35
    3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ร้อยละ 1.80 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 10
    4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ร้อยละ 0.06 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 5

2.รายงานรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และ ความเสี่ยงทางการคลัง สถานะหนี้คงค้าง

สถานะหนี้คงค้าง มีจำนวน 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.15 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 1.49 ล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ 1)พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 และ 2) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 สำหรับสถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีรายละเอียด ดังนี้

    1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,504,214.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.73 ต่อ GDP
    2) หนี้รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 699,484.43 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.36 ต่อ GDP
    3) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.27 ต่อ GDP
    4) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.75 ต่อ GDP
    5) หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.04 ต่อ GDP

สำหรับหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย

    1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปริโครเลียม (มหาชน) จำนวน 1.20 แสนล้านบาท
    2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เช่น เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 5.90 แสนล้านบาท
    3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีจำนวน 3.65 หมื่นล้านบาท
    4) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวน 4.61 ล้านบาท

ส่วนความเสี่ยงทางการคลัง ยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยหนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 84.11 เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเมื่อถึงกำหนด ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงนั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ โดยใช้แหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ สำหรับหนี้เงินกู้ของหน่วยงานรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากเป้นหน่วยงานที่มีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้เองได้

แก้กฎหมาย กบข.เปิดทางให้สมาชิกออมเพิ่ม-เลือกแผนลงทุน

ดร.รัชดา กล่าว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เพื่อให้การบริหารงานของกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ

    1.กำหนดให้กองทุน กบข.สามารถรับโอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนอื่นที่จัดขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีออกจากงานหรือชราภาพมายังกองทุน กบข. ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาเข้ารับราชการสามารถเริ่มสะสมเงินกับ กบข. และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
    2.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราการส่งเงินสะสมของสมาชิก โดยให้ส่งได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน (จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน)
    3.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารเงินของสมาชิกที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1)กรณีที่สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและยังไม่ขอรับเงินที่ตนมีสิทธิได้รับคืนหรือขอทยอยรับเงินคืน สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนที่ กบข. จัดให้ เพื่อให้ กบข. บริหารเงินนั้นต่อไปได้ 2) กรณีที่ กบข. บริหารเงินของสมาชิกต่อไป และต่อมาสมาชิกผู้นั้นเสียชีวิตและผู้มีสิทธิรับมรดกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน ให้ กบข. บริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกได้เลือกไว้ จนกว่าทายาทจะยื่นคำขอรับเงิน
    4.แก้ไขเพิ่มเติมให้ กบข. จัดแผนการลงทุนที่หลากหลาย โดยให้สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนได้ ซึ่งแต่ละแผนอาจลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างกันได้ ประกอบด้วยหลักทรัพย์ 4 ประเภท ได้แก่ 1) เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือธนาคารรัฐวิสาหกิจ หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก 2) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตร ธปท. 3) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินต้นและดอกเบี้ย และ 4) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเป็นผู้ออก

ดร.รัชดา กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้สมาชิก กบข. สามารถนำเงินสะสมเข้ากองทุนได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกแผนการลงทุนสำหรับเงินของ กบข. ได้หลากหลาย ซึ่งจะเป็นการสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นให้กับสมาชิกและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองในยามเกษียณอายุราชการได้

ออกวีซ่าใหม่ ดึงผู้ป่วยต่างชาติรักษาพยาบาลในไทย

ดร.รัชดา กล่าว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ซึ่งการตรวจลงตราฯ จะมีอายุ 1 ปี มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 ราย เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ ระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน หากมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องผู้ป่วยต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น พร้อมรายงานตัวต่อพนักเจ้างานเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ทั้งนี้ กำหนดประเภทการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลประเภทใหม่ให้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลต่อเนื่อง และผู้ติดตามผู้ป่วย

กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ามารับการขอรับการตรวจลงตราฯ เป็นกลุ่มโรค/หัตถการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ที่มีระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง ทันตกรรม ศัลยกรรมความงาม เป็นต้น โดยผู้ป่วยและผู้ติดตาม จะต้องมีหลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทษเป็นเงินสดไม่น้อยกว่ารายละ 800,000 บาท (Bank Statement) และมีการนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน รวมถึงแสดงหลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองโรคโควิด-19 ในประเทศไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000,000 บาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราเพื่อรักษาพยาบาลเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดให้มีการตรวจลงตราประเภทรักษาพยาบาล Medical Treatment Visa รหัส Non-MT เป็นระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry) เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางเข้าสู่ประเทศให้แก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและมีกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรองรับนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569 อีกด้วย

จัดงบ ฯชดเชยขาดทุน ขสมก.-รฟท. 5,557 ล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,279 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 3,278 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,557 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นวงเงินอุดหนุนจ่ายชดเชยผลขาดทุนให้กับ ขสมก. และ รฟท. ในรูปของเงินงบประมาณตามจำนวนส่วนต่างของประมาณการรายได้และต้นทุนการให้บริการสาธารณะ เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพกับประชาชนอย่างต่อเนื่องและลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินภารกิจ ซึ่งภาระงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยดังกล่าว ยังคงไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

ทั้งนี้ ที่ประชุมให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาหาแนวทางในการลดกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ด้วยวิธีการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการให้บริการสาธารณะ โดยให้ ขสมก. เร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่สอดคล้องกับแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วน รฟท. ให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการหารายได้เพิ่มจากการถ่ายโอนทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทลูกของ รฟท. เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน

ตั้ง “ภควัต ตันสกุล” นั่งอธิบดีกรมพิธีการทูต

ดร.รัชดา กล่าว่าว่า ส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐในวันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบดังนี้

1. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

    1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายอิทธิพล คุณปลื้ม)
    2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
    2. นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ อธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส
    4. นายภควัต ตันสกุล เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต
    5. นายนิพนธ์ เพ็ชรพรประภาส เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1. 3. และ 5. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

3. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รวม 9 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ดังนี้

    1. ศาสตรจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ ประธานกรรมการ
    2. ศาสตราจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    3. นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    4. รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิสาสินีกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    5. ศาสตราจารย์เสมอชัย พูลสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    6. ศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    7. นายอานันท์ นาคคง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    8. นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    9. นายทวีป ฤทธินภากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

5.เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางรัตนา จงสุทธนามณี เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เพิ่มเติม