ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวนา 11 จังหวัดบุกทำเนียบร้องรัฐจ่ายชดเชยประกันรายได้ 6 พันล้านให้ 1.4 แสนครัวเรือน

ชาวนา 11 จังหวัดบุกทำเนียบร้องรัฐจ่ายชดเชยประกันรายได้ 6 พันล้านให้ 1.4 แสนครัวเรือน

22 กันยายน 2011


เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ชาวนา 11 จังหวัด ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาในช่วงรอยต่อนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลชุดก่อนนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ กับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ชาวนาเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวนาในภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง

ทั้งนี้เพราะระยะเวลาจากนี้ไปจนถึงช่วงเปิดรับจำนำข้าว 7 ตุลาคม 2554 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 ชาวนาส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่มีผลผลิตไปจำนำ ขณะเดียวกันไม่ได้รับเงินชดเชยราคาส่วนต่างการประกันรายได้ นั่นหมายความว่าการทำนารอบนี้ชาวนาจะไม่มีรายได้

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกร 11 จังหวัดที่ส่วนใหญ่เป็นภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง รวมตัวกันเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าโครงการประกันรายได้เกษตรเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์ ฤกษ์อนันต์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอยุธยา และอุปนายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัด 11 จังหวัด กับสมาชิกสมาคมชาวนาข้าวไทย ได้เข้าเดินทางเข้าทำเนียบเพื่อยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างราคาประกันรายได้ให้กับชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่าน ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ชุดเดิมอนุมัติไว้ และขอให้ดำเนินการถึงวันที่ 4 ตุลาคม ก่อนจะเริ่มเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว

โดยชาวนาในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคกลาง ขึ้นทะเบียนไว้ 143,819 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ 3,771,074 ไร่ ขณะที่ราคาส่วนต่างของตลาดกับราคาประกันรายได้ในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณ 1,500-1,800 บาทต่อตัน คือแต่ละวันราคาขึ้นลงตั้งแต่กว่า 1,000 บาทต่อไร่ จนถึงเกือบ 2,000 บาทต่อไร่ ดังนั้นถ้ารัฐบาลต้องจ่ายค่าส่วนต่างราคาประกันรายได้ จะใช้เงินประมาณ 6,000 ล้านบาท

ข้าวถูกน้ำท่วม ภาพ จากน.ส.พ.ข่าวสดฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2553
ข้าวถูกน้ำท่วม ภาพ จากน.ส.พ.ข่าวสดฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2553

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ออกมารับหนังสือร้องเรียน และบอกว่าจะประสานงานโดยขอดูข้อมูลก่อน และเรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงได้ให้เวลารัฐบาลดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์”

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวนาทำนาตามนโยบายรัฐบาลคือปีละ 2 ครั้ง ให้ทำในช่วงมกราคม-กันยายน จากนั้นให้พักดินไว้ระยะหนึ่ง ก่อนจะเริ่มฤดูการปลูกอีกครั้งตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในปีหน้า ซึ่งบางพื้นที่เก็บเกี่ยวช้าก็เข้าโครงการรับจำนำได้ทันพอดี แต่บางพื้นที่ต้องเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด และยังเจอปัญหาน้ำท่วมในกรณีนี้จะไม่มีข้าวไปจำนำ ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่จ่ายค่าส่วนต่างราคาประกันรายได้ให้จะเป็นปัญหาเดือดร้อนมาก

นอกจากนี้เมื่อเริ่มฤดูการปลูกอีกครั้งต้นเดือนมกราคมปี 2555 ข้าวที่ปลูกในช่วงนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ คือ ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน แต่ช่วงดังกล่าวไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งแนวทางแก้ไขที่ผ่านมาคือ ทางสมาคมชาวนาข้าวไทย จะดำเนินการโดยยื่นหนังสือให้รัฐบาลขยายระยะเวลารับจำนำเพื่อรองรับผลผลิตในช่วงดังกล่าว

“ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการผ่อนผันขยายเวลารับจำนำให้ แต่เป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 10 วันสุดท้ายของสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งพอช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง และต่อไปคงมีปัญหาตามมาอีก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าวที่ผ่านๆ มา”