ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ปรับส่งออกต่ำกว่า 3% ชี้ไตรมาส 2 ดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้น – สศค. หั่นจีดีพีเหลือ 2% ส่งออกโตแค่ 1.5%

ธปท. ปรับส่งออกต่ำกว่า 3% ชี้ไตรมาส 2 ดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้น – สศค. หั่นจีดีพีเหลือ 2% ส่งออกโตแค่ 1.5%

1 สิงหาคม 2014


เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนและไตรมาส 2 ปี 2557 ว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของผู้บริโภคและธุรกิจรวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวได้ถึง 3.8% ในเดือนมิถุนายน และโต 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ หมวดปิโตรเคมี เครื่องจักร และอุปกรณ์ โดยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเติบโตตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรปถือว่าการส่งออกไปได้ดี เนื่องจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือจีเอสพีในปีหน้า ทำให้มีการเร่งส่งออก ขณะที่อุปสงค์จากเอเชียยังคงชะลอตัว ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคายางพาราที่สูง และการขึ้นภาษีการค้าของญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม) ยังเติบโตต่อเนื่อง

แต่ธปท.คาดว่าการส่งออกไม่น่าจะเติบโตได้ 3% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง, การปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันนานกว่าที่คาด และสินค้าบางตัวราคายังไม่ฟื้นตัว แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อจีดีพี เพราะเมื่อคิดเป็นปริมาณแล้วยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

“ถ้ามูลค่าของการส่งออกตกลงต่ำกว่า 3% จากปัจจัยราคา จริงๆ จะไม่กระทบกับปริมาณหรือถ้าเป็นการส่งออกสินค้าที่มีวัตถุดิบจากการนำเข้าสูง ถ้าเกิดส่งออกสินค้าเหล่านี้ลดลงไป ก็จะลดการนำเข้าวัตถุดิบด้วย เพราะฉะนั้นแล้วสุทธิก็ไม่กระทบจีดีพี อย่างเรื่องน้ำมัน เรานำเข้าน้ำมันดิบแล้วกลั่นออกไป เป็นสินค้าส่งออกที่มีการนำเข้าวัตถุดิบเรียกว่า 100% เพราะฉะนั้นถ้าเห็นมูลค่าส่งออกไม่ดี ถ้ามาจากน้ำมันหรือราคาสินค้าเกษตร ก็จะไม่ส่งผลต่อจีดีพี” ดร.ดอนกล่าว

ประมาณการณ์ดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ

ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสสองและเดือนมิถุนายน ยังคงหดตัวแม้จะมีสัญญาณดีขึ้น โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเดือนมิถุนายนหดตัว -2.7% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -3% ขณะที่ไตรมาส 2 หดตัว -2.7% จากเดิมหดตัว -6.1% ในไตรมาสแรก ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนมิถุนายนอยู่ระดับ 54 ปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ด้านดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือนมิถุนายนหดตัว -1.1% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่หดตัว 0.1% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนไตรมาส 2 หดตัว -0.7% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ -1.7%

อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการนำเข้ารายเดือนยังหดตัวต่อเนื่องผิดจากที่คาดไว้ แม้รายไตรมาสจะมีสัญญาณดีขึ้น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -5.5% และ -6.6% ในไตรมาส 2 และเดือนมิถุนายน ตามลำดับ จากเดิมหดตัว -7.1% และ -4% ในไตรมาสแรกและเดือนพฤษภาคมตามลำดับ สาเหตุที่เดือนมิถุนายนหดตัวมากขึ้นเนื่องจากมีการนำสินค้าคงคลังซึ่งสะสมไว้ออกมาจำหน่าย ทำให้การผลิตลดลง ขณะที่การนำเข้าหดตัว -11.8% ในไตรมาส 2 ลดลงจากเดิมที่หดตัว -14.8% ในไตรมาสแรก ซึ่งถ้ามองเป็นรายเดือนจะหดตัว -14.1% ในเดือนมิถุนายน จากเดิมที่หดตัว -7.7% ในเดือนพฤษภาคม เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางหดตัว -17.8% ในเดือนมิถุนายน จากเดิมหดตัว -2.5% ในเดือนพฤษภาคม

“จริงๆ เศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมเป็นตัวเลขที่เราเฝ้ารอพอสมควร มากกว่าเดือนมิถุนายน เพราะเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแรกหลังจากสถานการณ์สงบ” ดร.ดอนกล่าว

ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากเดิมคาดในเดือนมีนาคมโต 2.6% เหลือ 2% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.5-2.5% ทั้งนี้ มีสาเหตุจากปัญหาทางการเมืองซึ่งส่งผลให้ไตรมาสแรกเศรษฐกิจหดตัวถึง -0.6% รวมไปถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้บริโภคและนักลงทุนตลอดครึ่งปีแรก

เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าการคาดการณ์ตัวแปรปรับลดลงเกือบทั้งหมด โดยการส่งออกปรับลดลงจาก 5% เหลือเพียง 1.5% ทั้งนี้ สศค. เคยคาดว่าการส่งออกจะเป็นพระเอกหลักช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่มีสถานการณ์ทางการเมือง แต่ด้วยตัวเลขส่งออกไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาด จึงเป็นเหตุผลของการปรับประมาณการณ์ลงครั้งนี้ ด้านการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนก็ปรับลดลงเช่นกัน โดยการบริโภคปรับลดจาก 2.3% เหลือ 0.3% และการลงทุนปรับจาก 1.9% เป็นหดตัว -3.5% ทั้งนี้ การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและจัดทำงบประมาณปี 2558 จนแล้วเสร็จทันใช้มีส่วนช่วยให้ภาครัฐเติบโตได้สูงกว่าที่เคยคาด โดยการบริโภคภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.9% เป็น 4.6% และการลงทุนภาครัฐปรับเพิ่มจากหดตัว-31.% เป็นโต 4%

ทั้งนี้ นายรังสรรค์ได้กล่าวถึงการประมาณการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่าจะเติบโตได้ 4.3% โดยตัวแปรทั้งหมดต่างส่งสัญญาณเป็นบวก โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐโตได้ 2.3% และ 5.7% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐโตได้ 1.6% และ 15.3% ด้านการส่งออกโต 3.1%

คาดการณ์จีดีพีครึ่งปีหลัง

คาดการณ์จีดีพี

ทั้งนี้ การประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีจากสำนักต่างๆโดยธปท.ได้มีการปรับประมาณการจีดีพีก่อนหน้านี้จาก 2.7% เป็น 1.5% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยก็ปรับการประมาณการจากเดิม 1.8% ในเดือนมีนาคม 2557 เป็น 2.3% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ยังคงการคาดการณ์เดิมไว้ที่ 1.6% และ กรอบ 1.5-2.5% ตามลำดับ ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2557 โต 2% จากครึ่งปีหลังที่โต 4.2% แต่ครึ่งปีแรกหดตัว 0.2% ซึ่งการฟื้นตัวนำโดยการส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชน การส่งออกขยายตัวได้จากสินค้าอุตสาหกรรมแต่สินค้ากลุ่มอื่นยังหดตัว

ป้ายคำ :