ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 2.75% แต่เฝ้าระวัง “หนี้ครัวเรือน”

กนง. คงดอกเบี้ย 2.75% แต่เฝ้าระวัง “หนี้ครัวเรือน”

10 มกราคม 2013


กนง. มีมติเสียงเป็นเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% หนุนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง และปรับจีดีพีปี’56 สูงกว่าคาดการณ์เดิม 4.6% แถลงตัวเลข 18 ม.ค. นี้ ยอมรับ “การเมือง” ในและนอกประเทศเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ และห่วง “หนี้ครัวเรือน” สั่งเฝ้าระวังใกล้ชิด พร้อมประเมินขึ้นค่าแรง 300 บาทรอบสองกระทบเงินเฟ้อไม่ถึง 1%

สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น-ปรับเพิ่มจีดีพีปี’56

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกของปีนี้ กนง. ยังคงส่งสัญญาณผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยจากผลการประชุม กนง. คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

การประชุมครั้งนี้ คณะกรรรมการฯ ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน และเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวดีเกินกว่าที่คาด

แต่สาระสำคัญของมติที่ประชุม กนง. ครั้งนี้ คือ คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเร่งตัวของสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีจะยังเป็นแรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง โดยมาตรการรถยนต์คันแรกช่วยเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้สูงขึ้น และแม้มาตรการหมดไปเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาโดยมียอดจองรถคันแรกที่สูงถึง 1.2 ล้านคัน ส่งมอบไปแล้ว 5 แสนคัน ยังเหลืออีก 7 แสนคัน ที่จะส่งมอบในปีนี้ ทำให้หลายคนอาจเกรงว่า ประชาชนจะจับจ่ายสินค้าอื่นๆ น้อยลงไป (เพราะต้องนำเงินไปผ่อนรถ) แต่พบว่าประชาชนก็ยังดำเนินการบริโภคสินค้าอื่นสูงอยู่

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคเอกชน รายได้ภาคครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้น การจ้างงานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ในปัจจุบัน สินเชื่อก็ขยายตัวสูง โดยปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในประเทศให้ดีต่อไปพอสมควร

ทั้งนี้ สามารถอ่านบทวิเคราะห์เรื่องมาตรการรถยนต์คันแรกได้เพิ่มเติมจากบทความของ ธปท. เรื่อง “สิ้นแรงนโยบายรถยนต์คันแรก อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสิ้นลมหรือไม่”

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นและอุปสงค์ของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุทกภัยและรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้อย่างน่าพอใจ โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2555 และ คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2556 จะขยายตัวได้สูงกว่าที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้เดิม

ทั้งนี้ การอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2555 เดิม กนง. คาดว่าจะขยายตัว 5.7% และ 2556 คาดว่าจะขยายตัว 4.6% โดยตัวเลขประมาณการใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอยู่ใน “รายงานนโยบายการเงิน” (รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ) ซึ่ง ธปท. จะแถลงในวันที่ 18 ม.ค. นี้

ห่วงการเมืองไร้เสถียรภาพฉุดเศรษฐกิจแย่

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน

นายไพบูลย์กล่าวว่า การประมาณเศรษฐกิจในกรณีฐานจะไม่นำปัจจัยความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเข้ามาพิจารณา เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ยากต่อการคาดการณ์ เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง และไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ แต่ปัจจัยนี้ก็ฝังอยู่ในเครื่องชี้เศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่มีการสำรวจอยู่แล้ว เช่น ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวจาก กนง. รายหนึ่งกล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะใช้สมติฐานว่า ปัจจัยการเมืองไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ คือ มองในแง่บวกไว้ก่อน แต่ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ กนง. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งการเมืองในประเทศและการเมืองต่างประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หรือกรณีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศอื่นๆ อีกหลายเรื่อง รวมถึงการเมืองไทยเรื่องเขาพระวิหาร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดการณ์ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้วจะลงเอยอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ไม่มีใครบอกล่วงหน้าได้

“เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในโหมดการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติตามศักยภาพ หากมองเศรษฐกิจไทยระยะสั้น 3-6 เดือน ไม่น่ามีปัญหาอะไร เครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศดูดีไม่น่ากังวล ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่หากมีปัญหาการเมืองรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ย่อมกระทบเศรษฐกิจแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่กรณี” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

เงินเฟ้อไม่น่าห่วง-ขึ้นค่าแรงรอบสองกระทบไม่มาก

สำหรับด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กนง. ค่อนข้างวางใจว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 0.5-3% และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มาก

นายไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรอบสอง มีการประเมินว่าจะกระทบต่อเงินเฟ้อโดยรวมไม่มาก คือ ไม่ถึง 1% เนื่องจากเรื่องนี้ประกาศล่วงหน้ามา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจได้มีการปรับตัวพยายามลดต้นทุนต่างๆ โดยการปรับปรุงระบบ เพิ่มประสิทธิภาพ ลงทุนเครื่องจักรลดการใช้แรงงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจหลายๆ แห่งปรับตัวได้ค่อนข้างดี ดังนั้น น่าจะลดแรงกดดันด้านต้นทุนได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่การปรับค่าแรงขึ้นต่ำรอบสองอาจมีการผลักภาระส่งต่อให้ผู้บริโภคโดยการปรับเพิ่มราคาสินค้านั้น เลขานุการ กนง. ยอมรับว่า เป็นข้อกังวลอันหนึ่งของคณะกรรมการฯ ที่อาจเป็นความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ แต่การขึ้นค่าแรงรอบแรกที่ผ่านมามีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มาก ในรอบนี้ก็น่าไม่น่าจะมีผลกระทบมาก

แต่ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบสอง อาจกระทบธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ซึ่งนายไพบูลย์ระบุว่า ธุรกิจที่ยังพึ่งพาแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีส่วนต่างกำไรต่ำอยู่แล้ว หากไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจต้องปิดกิจการไป ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ แต่ กนง. ประเมินว่า จะไม่มีปัญหาแรงงานตกงาน เพราะสถานการณ์แรงงานไทยอยู่ในภาวะตึงตัว คือ มีความต้องการแรงงานมากกว่าปริมาณแรงงาน ดังนั้น ถ้าธุรกิจปิดกิจการ ก็จะมีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะถูกดูดซับจากธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 เปรียบเทียบกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือน เม.ย. 2555 กับ ม.ค. 2554 ของแต่ละจังหวัดในปี 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คำนวณไว้ พบว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้ขีดความสามารถของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลง เพราะมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 65%

เฝ้าระวังหนี้ครัวเรือน พร้อมงัดมาตรการคุมหากจำเป็น

ขณะที่เสถียรภาพทางการเงิน มีประเด็นที่ กนง. ต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การขยายตัวของสินเชื่อและหนี้ภาคครัวเรือน

ที่มา : www.bot.or.th
ที่มา : www.bot.or.th

นายไพบูลย์กล่าวว่า นโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อ ไม่ได้ดูเฉพาะเสถีรภาพทางเศรษฐกิจ แต่เสถียรภาพทางการเงินก็เป็น “หัวใจ” สำคัญของนโยบายการเงิน อย่างเรื่องการก่อหนี้ภาคครัวเรือน หากปล่อยให้สะสมหนี้สินเกินตัวก็จะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ และไม่ว่าจะเป็นเพิ่มขึ้นของภาพรวมสินเชื่อ กนง. ก็ให้มีการติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดความสมดุล และเอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง

“สินเชื่อโดยรวมขยายตัวสูง 14-16% ถือว่าขยายตัวค่อนข้างสูง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเร็วมาก บางประเภทสูงเกิน 20- 30% ก็ต้องเริ่มติดตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสี่ยงในอนาคต แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาสกัด” นายไพบูลย์กล่าว

ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธปท. อธิบายเพิ่มเติมว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สินเชื่อบ้าน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่ออื่นๆ ขยายตัวสูงมาก ประมาณ 20-30% ซึ่ง ธปท. จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

โดยปัจจัยที่ ธปท. จะพิจารณาเพื่อติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนและสินเชื่อ ได้แก่ 1. การขยายตัวของสินเชื่อเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ 2. มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างไร 3. ความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนเป็นอย่างไร

“ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยทั้งสามปัจจัยขณะนี้อยู่ในระดับขั้นต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ถึงระดับขั้นรุนแรงต้องออกมาตรการคุม แต่หากพบว่าปัจจัยเหล่านี้เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น หรือหากจำเป็นต้องดำเนินการควบคุม ธปท. ก็มีมาตรการรองรับเตรียมไว้ในกระเป๋า พร้อมควักออกมาใช้ได้ทันที” นายทรงธรรมกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าว กนง. รายเดิมระบุว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นที่ กนง. ให้ความสำคัญ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้น “เฝ้าระวัง” ยังไม่ถึงขึ้น “alarming”

หมายเหตุ : อ่านเพิ่มเติมบทวิเคราะห์ จากฝ่ายวิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ศูนย์วิจัย ธนาคารกสิกรไทย