ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “การเมืองไทย-ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” ฉุดจีดีพีอาเซียนลง 0.1%

“การเมืองไทย-ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” ฉุดจีดีพีอาเซียนลง 0.1%

12 ธันวาคม 2013


เอดีบีปรับลดจีดีพีอาเซียนโต 4.8% ผลจาก “การเมืองไทย-ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” ขณะที่ ธปท. ประมาณการจีดีพีปี 2557 ลดลงจาก 4.8% เหลือแค่ 4% เพราะไร้แรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ และการเมืองอาจซ้ำเติมบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชน พร้อมแจง 3 เหตุผลที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) รายงาการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Development Outlook) ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 ว่า ได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงเล็กน้อยในปี 2556 จาก 4.9% เป็น 4.8% และในปี 2557 ปรับลดลงจาก 5.3% เป็น 5.2% ซึ่งเป็นการปรับลง 0.1% ทั้งสองปี จากที่คาดไว้เดิมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ตัวเลขการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียของเอดีบี
ตัวเลขการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียของเอดีบี

เอดีบีระบุว่า การปรับลงดังกล่าวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งเกิดจากการส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ลดลง และผลกระทบของเหตุการณ์ “ความตึงเครียดทางการเมือง” อีกเหตุผลหนึ่งมาจากประเทศฟิลิปปินส์เผชิญกับ “ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพิลิปปินส์ปี 2556 แต่คาดว่ากิจกรรมการซ่อมสร้างจะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2557 ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เอดีบีประเมินว่า จากการที่แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาดีขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังคงขยายตัวได้ดี โดยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียปี 2556 ฉบับล่าสุดนี้ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 45 ประเทศในเอเชียจะขยายตัวโดยรวม 6% ในปี 2556 และขยายตัวดีขึ้นเป็น 6.2% ในปี 2557 ตามที่คาดไว้เดิมในรายงานฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“ถึงแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงรับมือได้ ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดี และจะสามารถได้รับประโยชน์จากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักในปีหน้า” นายชาง ยองรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าว

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 8/2556 หรือผลการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรือจาก 2.50% เป็น 2.25% รวมทั้งพิจารณาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 และ 2557

โดยในรายงานฯ ระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม และมีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการลงทุนของภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมิน และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อาจเปราะบางยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งแนวโน้มของ QE Tapering ของสหรัฐฯ ที่ยังคงสร้างความไม่แน่นอนและกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2556 ลงจาก 3.7% เป็นประมาณ 3%ในปี 2556 โดยยังไม่ได้รวมผลกระทบเพิ่มเติมที่อาจมีจากสถานการณ์การเมืองในระยะข้างหน้า ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2557 ก็ปรับลดลงเช่นกัน จาก 4.8% เป็น 4%

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายใต้แรงกดดันด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ 6 คนจึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติของการขยายตัว โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอ ขณะที่การส่งออกยังไม่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ทั้งยังมีกรรมการบางท่านเห็นว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอาจส่งผลซ้ำเติมความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้าออกไปอีก

2. อัตราเงินเฟ้อแม้จะขยับสูงขึ้นเล็กน้อยตามการทยอยปรับราคา LPG แต่ยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ขอบล่างของเป้า จึงไม่น่าจะเป็นความเสี่ยงสำคัญในขณะนี้

3. ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินลดลงบ้าง สะท้อนจากสินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเริ่มเห็นกระบวนการปรับตัวของผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยสถาบันการเงินมีแนวโน้มระมัดระวังในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี กรรมการเห็นควรให้ติดตามผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยต่อกระบวนการปรับตัวด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรรมการนโยบายการเงินที่เสียงแตก 1 คน ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี ให้เหตุผลว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนปรนเหมาะสมอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินยังมีอยู่และอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากและยาวนานเกินไปอาจส่งผลลบต่อการออมในระยะยาว

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่สำนักข่าวไทยพับลิก้ารายงานก่อนหน้านี้ พบว่าสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐแล้ว โดย 2 เดือนเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า 1,801% หรือเบิกจ่ายได้เพียง 7,414 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 141,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ล่าสุด 11 ธันวาคม 2556 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องรับพิจารณาวินิจฉัยกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจากนี้ศาลจะกำหนดขั้นตอนการพิจารณา และทำการไต่สวนต่อไป

ดังนั้น ความหวังที่จะพึ่งพิงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่่อมั่นให้ภาคเอกชน น่าจะริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการมีรัฐบาลรักษาการ คงไม่สามารถผลักดันนโยบาย และโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญได้

เพราะฉะนั้น อาจนำไปสู่ “สุญญากาศ” ทางเศรษฐกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 มีความเสี่ยงสูงที่จะเติบโตได้ต่ำกว่าที่หลายๆ หน่วยงานคาดการณ์กันไว้