ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ใต้ “ท้องช้าง” ปรับจีดีพีปีนี้เหลือ 3.7% คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้า “ไร้พระเอก”

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ใต้ “ท้องช้าง” ปรับจีดีพีปีนี้เหลือ 3.7% คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้า “ไร้พระเอก”

25 ตุลาคม 2013


“รายจ่ายภาครัฐหด – ส่งออกวูบ – บริโภคยังไม่ฟื้น” ส่งผล ธปท. ปรับจีดีพีปี 2556 จาก 4.2% เป็น 3.7% ส่วนเศรษฐกิจปีหน้าคาดเติบโตได้ 4.8% จากเป้าหมายเดิม 5% ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มีปัจจัยใดเป็นพระเอกโดดเด่น ต้องพึ่งพาทั้งปัจจัยภายในและภายนอกพอๆ กัน พร้อมแจงไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่น่าเป็นห่วง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนตุลาคม 2556 ว่า ธปท. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 จาก 4.2% เป็น 3.7%

ทั้งนี้ การปรับลดจีดีพีปี 2556 ของ ธปท. รอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปี

การปรับจีดีพีของ ธปท.

สำหรับเหตุผลการปรับลดจีดีพีครั้งนี้ นายไพบูลย์กล่าวว่า มาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ

1. การบริโภคภาคเอกชนพักฐานนานกว่าคาด โดยการบริโภคครึ่งหลังปี 2556 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เพราะการส่งมอบนโยบายรถคันแรกจบแล้ว และประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและความเชื่อมมั่นที่ลดลง แต่คาดว่าการบริโภคจะค่อยๆ ทยอยกลับมาเป็นปกติในครึ่งหลังของปีหน้า

2. แรงกระตุ้นจากภาครัฐต่ำกว่าคาด ทั้งการเบิกจ่ายเงินในงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายรวมในงบประมาณปี 2556 ทำได้แค่ 90.3% จากเฉลี่ย 5 ปี (งบประมาณปี 2551-2555) อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 93% และปี 2557 รายจ่ายในงบประมาณก็มีแนวโน้มจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งงบประจำและงบลงทุนเช่นเดียวกันปีนี้

การเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่วนการเบิกจ่ายเงินนอบงบประมาณที่น้อยกว่าประเมินไว้มาจากความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ คือ รายจ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เดิม ธปท. คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีเงินเบิกจ่ายมาลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ธปท. คาดว่าทั้งปีนี้จะไม่มีการเบิกจ่ายเลย สำหรับปี 2557 คาดว่าการเบิกจ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

ส่วนการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ มีความคืบหน้าน้อยกว่าที่ ธปท. คาด โดยภายในปีนี้คาดว่าจะมีเงินเบิกจ่ายลงทุน 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุด ธปท. คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกมาเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเบิกจ่ายได้ในส่วนโครงการเร่งด่วนเท่านั้น สำหรับปี 2557 คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 4.8 หมื่นล้านบาท

3. การส่งออกฟื้นตัวช้า เพราะบางสินค้ามีข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่สินค้าที่ไทยผลิตใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก การส่งออกจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มประเทศที่เน้นส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่า และเป็นที่ต้องกรของตลาดโลกมากกว่า อาทิ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ดังนั้น เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (จี 3) ที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และเริ่มเห็นนำเข้าสินค้ามากขึ้น แต่การผลิตของไทยใช้เทคโนโลยีไม่สูง ทำให้การส่งออกของไทยยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

โดยทั้งปี 2556 ธปท. คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1% ลดลงจากประมาณการเดิม 4% และคาดว่าการส่งออกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ 7% จากคาดการเดิม 8%

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนดีกว่าที่ ธปท. คาดไว้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจบริการและสาธารณูปโภคและการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ และแนวโน้มการลงทุนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในอนาคต เมื่ออุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนมีแนวโน้มจะลงทุนใหม่มากขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งภาวะสินเชื่อและฐานะการเงินของธุรกิจยังเอื้อต่อการขยายการลงทุน

เพราะฉะนั้น จีดีพีในปี 2557 ธปท. คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในอัตรา 4.8% แต่ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 5%

นายไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีหน้า คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนทำให้มีมากขึ้น ประกอบกับการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ถ้ามีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจ และภาคเอกชน ทำให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มขึ้น”นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวมีมากขึ้นกว่าด้านบวก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ

1. การฟื้นตัวเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี 3 ยังมีความไม่แน่นอน คือมีความเสี่ยงจะฟื้นตัวต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้

2. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจล่าช้ากว่าที่คาดไว้ เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องกระบวนการอนุมัติเบิกจ่าย กับภาคเอกชนที่ประมูลโครงการภาครัฐได้มีข้อจำกัดด้านแรงงานไม่เพียงพอ

3. ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ และการปรับลดมาตรการคิวอี อาจสร้างความไม่แน่นอนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นระยะๆ

ด้าน ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าจะพึ่งพาทั้งปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยต่างประเทศ โดยทั้งสองปัจจัยจะมีน้ำหนักพอๆ กัน ดังนั้นในปีหน้าจะไม่มี “พระเอก”

สำหรับเงินเฟ้อในปี 2556 ธปท. ปรับประมาณการลดลง แม้ในระยะสั้นจะมีแรงกดดันด้านต้นทุนสูงขึ้นบ้างจากการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี แต่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การส่งผ่านต้นทุนทำได้จำกัด และในปี 2557 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันสูงขึ้น

ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

“โดยสรุปเศรษฐกิจไทยยังอยู่ใต้ท้องช้าง ซึ่งยังไม่รู้ว่าท้องช้างจะยาวหรือสั้น และบางช่วงเศรษฐกิจก็อาจปรับลดลง แต่โดยรวมค่อนข้างมีเสถียรภาพ” นายไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ขาดดุล 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีหน้าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2555 ซึ่งขาดดุล 1,5000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายไพบูลย์กล่าวว่า ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นไม่น่าเป็นห่วง โดยสาเหตุที่ปี 2556 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8% ของจีดีพี เป็นผลจากมีการนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นหากหักการนำเข้าทองคำออก จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกเพิ่มขึ้น 1.2% ของจีดีพี

“ทองคำไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการลงทุนการเก็งกำไรในราคาทองคำ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากปัจจัยนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง” นายไพบูลย์กล่าว

อีกสาเหตุที่ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ เป็นผลจากมีการนำส่งกำไรกลับต่างประเทศสูงกว่าปกติ เนื่องจากนโยบายรถคันแรกทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการในปี 2555 ค่อนข้างมากจึงมีกำไรมากและนำส่งกลับบริษัทแม่ในต่างประเทศค่อนข้างสูง

สำหรับแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นในปี 2557 หรือขาดทุน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า สาเหตุหลักจะมาจากการนำเข้าเครื่องจักรของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

“เพราะฉะนั้น การขาดทุนเพราะการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาวเป็นเรื่องที่รับเราได้ และนักลงทุนก็น่าจะรับได้และเข้าใจว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพระยะยาว” นายไพบูลย์กล่าว

ดาวน์โหลด เอกสารประกอบการแถลงข่าว รายงานนโยบายการเงิน ตุลาคม 2556