เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า เศรษฐกิจเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกหดตัวลงเล็กน้อยจากการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าและการบริโภคการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวเล็กน้อยเนื่องจากปัญหาการเมือง โดยยังยืนยันการคาดการณ์ทั้งหมดเอาไว้เหมือนเดิมและจะทบทวนปรับจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ การส่งออกยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยหดตัว 2.7% ในเดือนมีนาคม และหดตัว 0.8% เฉลี่ยทั้งไตรมาส สาเหตุหลักมาจาก 1) การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ความต้องการในตลาดโลกยังอ่อนแอ 2) มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และ 3) การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวจากราคายางพาราและข้าว อย่างไรก็ดี ยังมีสัญญาณฟื้นตัวในบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
สำหรับตัวเลขการส่งออกทั้งปียังยืนยันที่ 4.5% แม้จะมีความเป็นไปได้ยากขึ้น จากการที่ออกตัวไตรมาสแรกต่ำกว่าที่คาด โดยอีกเก้าเดือนที่เหลือจะต้องมียอดมูลค่าส่งออกเดือนละ 23,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งปกติยอดส่งออกที่มากสุดจะอยู่ประมาณ 21,000 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่ภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลง 1.4% ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนและไม่คงทนที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลง 8.3% ในไตรมาสแรก ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 6.4% เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง
ทั้งนี้ ดร.ดอนมองว่า ไตรมาสแรกน่าจะเป็นไตรมาสที่ต่ำที่สุดของปี ขณะที่ไตรมาสสองและสามน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ปัญหาการเมืองจบ ก็น่าจะดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ดี แต่ต้องดูตัวเลขยืนยันก่อน
“ถ้าพิจารณาจากตัวเลขเดือนมีนาคม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต่ำสุดถ้าดูจากองค์ประกอบจากการบริโภคและการลงทุนซึ่งค่อนข้างทรงตัวจากเดือนที่แล้ว แต่ว่าจะให้มั่นใจเลยคงต้องรอตัวเลขเดือนเมษายน ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้นมาขนาดไหน” ดร.ดอนกล่าว (อ่านรายงานของ ธปท.)
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลังแถลงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีการชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ปรับการประมาณการใดๆ เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังได้ จากสมมติฐานว่าสถานการณ์การเมืองสงบในไตรมาสที่ 3 และสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ในไตรมาสที่ 4 โดยไม่มีการโตในการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากไม่น่าจะจัดทำงบประมาณได้ทัน
“ต้องเรียนว่า สมมติฐานของการประมาณการจีดีพีที่ 2.6% คือสถานการณ์การเมืองคลี่คลายได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เอกชน ทุกอย่างกลับมาเต็มที่ ก็จะทำให้ตัวเลขของไตรมาสที่ 3 และ 4 ค่อนข้างสูง และทำให้ทั้งปีโตได้ 2.6%” ดร.กุลยากล่าว
ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะหดตัว 1% แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีผลมาจากการส่งออกไปยังจีนและกลุ่มอาเซียน (CLMV) ที่หดตัว 11.2% และ 16.3% ในเดือนมีนาคม และหดตัว 4.4% และ 11.0% ของทั้งไตรมาสแรก ขณะที่เศรษฐกิจหลักอื่นกลับมีตัวเลขเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่การส่งออกโต 3.6%, 2.9% และ 1.6% ในเดือนมีนาคม และโต 0.6%, 4.8% และ 2% ในไตรมาสแรก เป็นสัญญาณที่ดีในอนาคต
อย่างไรก็ดี สศค. เคยระบุในเดือนกุมภาพันธ์ให้การส่งออกเป็นจุดเด่นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.6% ตามเป้า เนื่องจากเป็นตัวเลขเดียวที่มีค่าเป็นบวก โดยในเดือน ก.พ. นั้นการส่งออกขยายตัวได้ถึง 2.4% ดังนั้น การที่ตัวเลขการส่งออกออกมาติดลบในไตรมาสแรกจึงสร้างความไม่แน่นอนให้แก่เศรษฐกิจอีกครั้ง แม้จะยังไม่มีการปรับการคาดการณ์ก็ตาม
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน ก็ยังคงชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคมอยู่ที่ 58.7 ทำให้ทั้งไตรมาสดัชนีมีค่าอยู่ที่ 59.9 ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี นอกจากนี้ การบริโภคนั้นพบว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัว 1.2% ในเดือนมีนาคม และหดตัว 0.2% ทั้งไตรมาส ทั้งนี้ฐานที่หดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มมาจากฐานนำเข้าที่หดตัว ขณะที่การจัดเก็บจากฐานการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวที่ 6.0%
ขณะที่การลงทุนก็หดตัวเช่นเดียวกัน โดยการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์หดตัว 6.6% ในไตรมาสแรก เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัว 2.4% ส่วนการลงทุนในหมวดเครื่องจักรก็พบว่าการนำเข้าสินค้าทุนหดตัว 14.1% ในไตรมาสแรก
ทั้งนี้ ดร.กุลยาก็เชื่อว่าไตรมาสแรกน่าจะเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุด ซึ่งตัวเลขที่เริ่มออกมาของไตรมาส 2 ก็มีบางตัวที่ส่งสัญญาณดีขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาจากไตรมาสแรกที่ติดลบ แต่ก็ต้องรอดูตัวเลขอื่นๆ ประกอบกัน โดยยังยืนยันว่าจีดีพีน่าจะโตได้ที่ 2.6% แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานทางการเมืองด้วย
“ยังยืนยันที่ 2.6% แต่อย่างที่บอก ตัวปัจจัยสำคัญตอนนี้เป็นเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง ว่าจะจบได้เมื่อไรจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์ในอดีตไม่เคยทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คือไม่เคยทำให้เศรษฐกิจออกมาติดลบ แต่ว่ามันกระทบต่อการชะลอตัว คือมันชะลอได้ จาก 2.6% หล่นไปได้ แต่ว่าไม่ได้ทำให้เกิดการติดลบ แต่ตอนนี้การประมาณการนี้ก็อยู่บนสมมติฐานที่เรียนไป” ดร.กุลยากล่าว (รายงาน สศค.)
ขณะที่ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้าเศรษฐกรและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงการปรับลดจีดีพีครั้งแรกในรอบปี จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.4% เป็น 1.6% เนื่องจากการส่งออกที่หดตัว 1% ในไตรมาสแรก จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นตัว ทำให้ปรับลดตัวเลขการส่งออกทั้งปีลดลงเป็น 4% จากเดิม 5% ด้วย
ดร.สุทธาภากล่าวว่า สินค้าส่งออกที่หดตัวมากก็คือยางพารา ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออก หดตัวถึง 16% ในไตรมาสแรก ขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบก็หดตัวในตลาดหลักอย่างออสเตรเลียและอินโดนีเซีย โดยการหดตัวของออสเตรเลียเกิดจากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง ซึ่งถ้าฟื้นตัวก็จะกลับมานำเข้ารถยนต์จากไทยได้เป็นปกติ ขณะที่อินโดนีเซียหดตัวเนื่องจากรถปิกอัพของไทยไม่ได้รับความนิยม เป็นการหดตัวในโครงสร้าง ซึ่งไม่อาจจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วนัก
ดร.สุทธาภายังแสดงความกังวลต่อปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมทุกอุตสาหกรรมลดลงตั้งแต่ที่มีปัญหาการเมือง ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วลดจาก 63.2% ของการผลิตเป็น 61.5% ในปีนี้ ทั้งนี้รถยนต์และส่วนประกอบลดลงอย่างชัดเจน จาก 81.8% ของกำลังการผลิตเป็น 73.4% ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้โดยรวมยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่มเติม สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวถึง 15% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
“การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนจะดูที่สองตัวหลักๆ คือ การนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งหดตัว 15% และการใช้กำลังการผลิตที่โดยรวมก็ลดลง ตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตอันนี้บอกอะไรเรา ตัวเลขนี้บอกว่ายิ่งตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ ก็ยิ่งไม่มีความจำเป็นที่จะลงทุนในเรื่องของการขยายศักยภาพการผลิตเท่าใดนัก” ดร.สุทธาภากล่าว
ขณะที่การบริโภคเอกชนก็ลดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว 12% ยอดขายของรถยนต์ต่ำกว่าคาดประมาณ 100,000 คัน และยอดบัตรเครดิตที่ลดลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคได้ไม่มากนักโดยรวม
นอกจากนี้ การที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่อาจจะสร้างปัญหาได้ เช่น การจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า การพิจารณาต่ออายุการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม การเริ่มต้นใช้นโยบายภาษีเงินได้ใหม่ และการเจรจาเอฟทีเอ (FTA) กับสหภาพยุโรปเพื่อทดแทนสิทธิ์จีเอสพี (GSP) ที่กำลังจะหมดลง สร้างความเสี่ยงให้แก่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยรวมจะลดลง 6.6%
อย่างไรก็ดี ดร.สุทธาภาเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีการลดลงมากกว่าเดิม แม้อาจจะไม่ดีขึ้นก็ตาม
“ถ้าระดับความรุนแรงทางการเมืองเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คิดว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะเราจะเห็นว่าความเชื่อมั่นในภาคของเงินทุน การลงทุน และงบประมาณ มันไม่ได้ดีขึ้น แต่มันไม่ได้ตกลงแล้ว เริ่มทรงตัวระดับเดิม แปลว่าคนเริ่มเข้าใจสถานการณ์แล้ว” ดร.สุทธาภา กล่าว (อ่านฉบับเต็ม)