ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สศค. ห่วง “วิกฤติการเมือง” ส่อสัญญาณ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ติงข้าราชการต้องไม่เกียร์ว่างและระวังเดดล็อก”ภาษี”

สศค. ห่วง “วิกฤติการเมือง” ส่อสัญญาณ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ติงข้าราชการต้องไม่เกียร์ว่างและระวังเดดล็อก”ภาษี”

28 มีนาคม 2014


ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. (ซ้าย) ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. (ขาว) แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2557 ณ เดือนมีนาคม 2557 ณ ห้องประชุม 301 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. (ซ้าย) ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. (ขาว) แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2557 ณ เดือนมีนาคม 2557 ณ ห้องประชุม 301 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557

สศค. ชี้ปัญหาการเมืองเริ่มกระทบเศรษฐกิจจริง สะท้อนจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงทุกตัว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน พร้อมปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปี 57 โต 2.6% จาก 4% ภายใต้เงื่อนไขต้องมีรัฐบาลใหม่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ถ้าล่าช้ากว่านี้หวั่นถูกหั่นเครดิตเรตติ้ง และวิกฤติการเมืองอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ และเตือนหน่วยงานราชการ “อย่าเกียร์ว่าง”

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบันเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง โดยข้อมูลรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ สศค. เก็บรวบรวมพบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจชะลอลงทุกตัวทั้งการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว ยกเว้น ภาคการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีความแข็งแกร่ง

จับตา “VAT” อาจลดลงถึงขั้นติดลบ

ดร.สมชัยกล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 59.7 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี

ขณะที่เครื่องชี้ที่สะท้อนการพฤติกรรมการบริโภคภายในประเทศมากที่สุดคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งการจัดเก็บ VAT ณ ราคาคงที่เดือนกุมภาพันธ์กลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 2 เดือน อยู่ที่ -2.4% จากที่เป็นบวกมาพอสมควรหลังติดลบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ -8.3% แม้เดือนกุมภาพันธ์จะติดลบน้อยลง แต่ถือเป็นสัญญาณไม่ดี

ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดของ VAT พบว่า VAT ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังเพิ่มขึ้น 2.2% แต่ VAT ที่เก็บบนฐานการนำเข้าหดตัวลงอยู่ที่ -8.1% เป็นการหดตัวค่อนข้างมากเพราะเกี่ยวเนื่องกับภาษีศุลกากร และการส่งออกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การนำเข้าน้อยลงตามไปด้วย

ดร.สมชัยระบุว่า VAT ที่จับเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศไม่เคยติดลบ แต่การขยายตัวในอัตราต่ำ 2.2% ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณไม่ดี เพราะปกติ VAT ที่เก็บในประเทศเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลัก เพราะฉะนั้นต้องจับตามมอง VAT กันต่อไป ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้อยู่ก็อาจทำให้ VAT ตัวนี้ลดลงเรื่อยๆ และอาจติดลบได้

“ถ้า VAT ติดลบถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐทั้งปี เพราะเป็นฐานภาษีที่ใหญ่ที่สุด และเป็นฐานรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐ” ดร.สมชัยกล่าว

นักลงทุนไม่เชื่อมั่น การลงทุนซบเซา

ดร.สมชัยกล่าวว่า การลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศมีความชัดเจนว่าไม่กล้าลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนใหม่ไม่มีเข้ามา ส่วนคนที่ลงทุนอยู่แล้วก็ไม่ลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม สศค. ได้ลงพื้นที่สอบถามนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น พบว่า เขายังยืนยันไม่หนีประเทศไทย แต่ไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็อนุมัติโครงการใหม่ไม่ได้ทั้งที่มีวงเงินค้างอยู่ 500,000 ล้านบาท เพราะแต่งตั้งกรรมการไม่ได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ

จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวในรอบ 27 เดือน

เครื่องชี้ด้านท่องเที่ยว

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นายสมชัยระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 2.17 ล้านคน หรือติดลบ 8.1% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงมากได้แก่ นักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นหลัก แต่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จุดเด่นเศรษฐกิจไทยที่เป็นบวก

นายสมชัยกล่าวว่า การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ขยายตัว 2.4% เป็นการปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าปีนี้การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ 2.6% ตามที่ สศค. คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สศค. ประมาณการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 5% เท่ากับประมาณการของกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจก็เป็นจุดเด่นที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ดูแลได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็เอื้อต่อการลงทุนและเอื้อต่อการลดภาระหนี้ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีช่องว่างที่จะลดดอกเบี้ยลงได้อีก

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาของ กนง. 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% อาจเป็นการปรับลดลงที่เสียของ เหมือนที่กรรมการเสียงข้างน้อยของ กนง. มีความเห็นไว้ คือแทนที่จะรอสักพักแล้วลดลงทีเดียว 0.5% น่าจะดีกว่า หรือน่าจะได้ผลมากกว่าที่ผ่านมา” ดร.สมชัยกล่าว

ส่วนเงินสำรองทางที่อยู่ระดับประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ดร.สมชัยกล่าวว่า มีสัดส่วนถึง 2.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปีที่แล้วมีกำไรเป็น 100,000 ล้านบาท รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ก็มีผลประกอบการที่ดีเช่นเดียวกัน

“เอสเอ็มอี” – “หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ” น่าเป็นห่วง

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจจุลภาคยังมีปัญหาน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (สสว.) ในเดือนมีนาคมพบว่า มีเอสเอ็มอีขอเลิกกิจการเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้เมื่อดูตัวเลขชั่วโมงการทำงานพบว่า หลายบริษัทเริ่มลดชั่วโมงการทำงาน และลดการทำโอที ยังไม่ถึงไล่พนักงานออก ตรงนี้จะดูแลอย่างไรไม่ให้นำไปสู่การไล่คนงานออก และอาจปิดกิจการในที่สุด

“หากการปิดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน การบริโภค และกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคในที่สุด” ดร.สมชัยกล่าว

นอกจากนี้ สศค. ยังเป็นห่วงเรื่อง หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(special mention: SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน เริ่มส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตราที่เท่ากันคือเพิ่มจาก 2.3% ในเดือนธันวาคม 2556 เป็น 2.4% ในเดือน ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุดของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.5% และเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่ที่ 5.3%

ดร.สมชัยกล่าวว่า หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจคงเข้าไปติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ให้นโยบายไปแล้วว่า นอกจากดูแลลูกค้าตัวเองแล้ว จะต้องเข้าไปช่วยปิดช่องว่างช่วยเหลือเงินทุนให้ลูกค้าที่ไม่ใช่เป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ด้วย

“โดยสรุปเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัวลงตามลำดับ ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็กลัว และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจจุลภาค” ดร.สมชัยกล่าว

คาดจีดีพีปีนี้โต 2.6% เงื่อนไขมีรัฐบาลไตรมาส 3

จีดีพี

ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า สศค. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2557 ลดลงจาก 4% เป็น 2.6% หรือมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 2.1-3.1% โดยมีสมมติฐานที่สำคัญคือ เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 3.9% ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราดอกเบี้ยคาดว่า กนง. จะคงไว้ที่อัตรา 2% จนถึงสิ้นปีนี้ และการใช้จ่ายภาคสาธารณะปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 90% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.56% ทั้งนี้ไม่รวมเงินลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2558 คงต้องใช้งบพลางไปก่อน

ดร.สมชัยกล่าวว่า การปรับลดจีดีพีปี 2557 ลงเป็น 2.6% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปีตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 2556 ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การคาดการณ์จีดีพีขยายตัว 2.6% ดร.สมชัยย้ำว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือต้องมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และคาดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่การจัดทำงบประมาณปี 2558 จะล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน หรือเริ่มงบประมาณปี 2558 ได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2558 แต่ถ้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ตามที่คาดการณ์ จีดีพีปีนี้ก็จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เพราะฉะนั้น ปัจจัยการเมืองถือเป็นปัจจัย “ชี้ขาด” เศรษฐกิจปีนี้

“การมีรัฐบาลรักษาการมีจุดบอดคือ ทำให้ไม่สามารถจัดทำงบประมาณปี 2558 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ นอกจากนี้รัฐบาลรักษาการยังไม่สามารถทำนโยบายเศรษฐกิจ และทำมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจไม่ได้ ” ดร.สมชัยกล่าว

ห่วงการเมืองลุกลามจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ดร.สมชัยระบุว่า จากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจย้อนหลังไปในอดีต ไม่เคยปรากฏว่าวิกฤติการเมืองทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจมีปัญหาเอง หรือเกิดจากเศรษฐกิจอเมริกามีปัญหา เกิดจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี และวิกฤติเศรษฐกิจไทยเกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไม่มีสักครั้งเดียวที่วิกฤติการเมืองทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ถ้าสถานการณ์เมืองยังเป็นแบบนี้จนทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิกฤติการเมืองก็อาจเป็นต้นเหตุวิกฤติเศรษฐกิจได้

“ถ้าไม่มีรัฐบาลภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และหากเหตุการณ์การเมืองลุกลามและทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่วิกฤติการเมืองจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ” ดร.สมชัยกล่าว

นอกจากรัฐบาลรักษาการจะมีจุดบอดแล้ว ดร.สมชัยกล่าวว่ายังทำให้เกิด “เดดล็อก” ในอีก 2 จุดสำคัญ คือ หนึ่ง ภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดเหลือ 20% จะหมดกำหนดระยะเวลาสิ้นปีนี้ และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีขอผ่อนปรนเหลือ 7% จาก 10% ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นกันยายนนี้ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ทราบแน่ว่าทาง กกต. จะสามารถพิจารณาอนุมัติได้หรือไม่ หากไม่ได้จะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก เพราะต้องกลับไปใช้ภาษีนิติบุคคลในอัตรา 30% และผู้บริโภคเองต้องรับภาระ VAT เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 10%

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรระบุว่า ในกรณีภาษีนิติบุคคลจำเป็นต้องมีคณะรัฐมนตรีอนุมัติออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับลดภาษีนิติบุคคลให้มีผลต่อไป เนื่องจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และปรับลดจาก 23% เป็น 20% ในปี 2556 และ 2557 นั้น มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาไว้ ณ สิ้นปี 2557 ดังนั้น ถ้าพ้นปี 2557 แล้วไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาต่ออายุออกไปอีก จะทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมาเสียภาษีนิติบุคคลในอัตราเดิมคือ 30% ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่สามารถจัดตั้งได้ภายในปีนี้ จะมีความเสี่ยงในกรณีนี้

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แหล่งข่าวกรมสรรรพากรกล่าวว่า รัฐบาลรักษาการสามารถยื่น กกต. ขอผ่อนปรนในอัตรา 7% ได้ต่อไป เพราะทำต่อเนื่องมาทุกรัฐบาลเหมือนกรณีภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เก็บในอัตรา 0.005% ที่รัฐบาลรักษามีมติคณะรัฐมนตรีขยายเวลาออกไปอีกและให้ กกต. พิจารณาและอนุมัติให้ดำเนินการได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ดร.สมชัยกล่าวว่า นอกจากปัจจัยการเมืองที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นที่ต้องติดตามคือ 1. การลดทอนมาตรการคิวอี ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน 2. เศรษฐกิจจีน ถ้ามีปัญหาจะกระทบเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะสามารถแก้ปัญหาได้เพราะสามารถทำมาตรการเชิงรุกได้ดี และการดำเนินการจะคิดถึงความแข็งแกร่งในอนาคต 3. ภัยแล้งและโรคระบาด เพราะอาจกระทบจีดีพีภาคเกษตรอย่างมาก 4. ต้องติดตามการเมืองระหว่างประเทศกรณียูเครน ไครเมียร์ และ 5. การถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง ล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 รายคือ มูดีส์และฟิทช์ ส่งสัญญาณมาแล้ว ซึ่งกรณีแบบนี้ปกติจะปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือ(outlook) ของประเทศก่อน จากนั้นจะปรับลดเครดิตประเทศตามมา ซึ่งอาจจะเห็นภาพนี้ในช่วงต้นปีหน้า

“ถ้าเครดิตประเทศถูกปรับลดลงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่เราต้องการเงินลงทุนมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เราจะโดนหนักเป็น 2 เท่า คือ ต้นทุนระดมทุนต่างประเทศจะสูงขึ้นทั้งของรัฐบาลและเอกชนที่ต้องออกไปกู้ต่างประเทศ” ดร.สมชัยกล่าว

หน่วยงานราชการต้อง “ไม่เกียร์ว่าง”

ภายใต้รัฐบาลรักษาการจะดูแลเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไรนั้น ดร.สมชัยกล่าวว่า หน่วยงานราชการต้อไม่เกียร์ว่าง โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งเป็น “แขนซ้าย” ของรัฐบาลต้องทำหน้าที่ปกติ โดยพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งเป็น “แขนขวา” ของรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่าย โดยหน่วยงานราชการต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้เต็มที่ซึ่งงบลงทุนในปีงบประมาณปี 2557 มีจำนวน 420,000 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายได้ 350,000 ล้านบาท ในส่วนนี้สามารถเร่งเบิกจ่ายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และที่เหลืออีก 70,000 ล้านบาท ต้องรอเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจซึ่งมีงบลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท ก็ต้องเร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ ที่มีเงินงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินการได้ต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

“ตัวเลขจีดีพีที่ 2.6% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีรัฐบาลในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ตามที่คาดไว้ จีดีพีก็คงต่ำกว่า 2.6% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่ถึงขึ้นติดลบ” ดร.สมชัยกล่าว

ดาวน์โหลด ข่าวกระทรวงการคลัง รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2557, เอกสารประกอบการแถลงข่าวรายงานประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2557