ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท.แถลงเศรษฐกิจมิ.ย.ชะลอตัวต่อเนื่อง และ “บัญชีเดินสะพัด-เงินทุนเคลื่อนย้าย-ดุลการชำระเงิน” ขาดดุลพร้อมกัน

ธปท.แถลงเศรษฐกิจมิ.ย.ชะลอตัวต่อเนื่อง และ “บัญชีเดินสะพัด-เงินทุนเคลื่อนย้าย-ดุลการชำระเงิน” ขาดดุลพร้อมกัน

1 สิงหาคม 2013


ธปท. ชี้ “ส่งออก” วูบ ฉุดการผลิต การลงทุนเอกชนร่วง กระทบจีดีพีไตรมาสสองโตต่ำกว่า 4% ชะลอตัวตามคาดการณ์ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงิน เดือนมิ.ย. ขาดทุนพร้อมกัน

วันที่ 31 มิ.ย. 2556 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน 2556 และเศรษฐกิจไตรมาส 2 ซึ่งมีทิศทางเดียวกับที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงไปก่อนหน้า คือเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ในไตรมาส 2 จะขยายตัวต่ำกว่า 4% และล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธงว่า ส่งออกที่หดตัวจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส2 ขยายตัวได้เพียง 2-3% แต่จะกลับมาขยายตัวได้ 5% ในไตรมาส3/2556

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. 2556 และเศรษฐกิจไตรมาส 2 ว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.และไตรมาสสองชะลอลงต่อเนื่อง เป็นผลจากการส่งออกลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอง ที่สำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

“การส่งออกที่ลดลงทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกชะลอตาม จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหากดูเฉพาะเดือนมิถุนายนเริ่มทรงตัวจากก่อนหน้านี้ชะลอลงมาก ซึ่งเป็นการพักฐานหลังจากเร่งตัวเพิ่มขึ้นในปีก่อน”

ทั้งนี้เดือนมิ.ย. ส่งออกติดลบ 3.5% นำเข้าขยายตัว 0.9% ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ 3.5% ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 4.1% ส่วนดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 0.8%

นายเมธีกล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในไตรมาส2 เป็นการพักฐาน ซึ่งคาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะไม่ชะลอลงไปมากว่าไตรมาส2 เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว และมีปัจจัยพื้นฐานช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจคือ อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ระดับต่ำ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

“อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่การพักฐานของเศรษฐกิจจะนานกว่าที่คาด หากการส่งออกไม่ปรับตัวดีขึ้น”

ขณะที่ภาคต่างประเทศในเดือนมิ.ย.แม้อัตราการเติบโตของส่งออกจะติดลบมากกว่าการนำเข้า แต่มูลค่าการส่งออกยังสูงกว่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าเกินดุล 588 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 1,252 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักเป็นการส่งกำไรและเงินปันผลกลับบริษัทแม่

ดังนั้น เมื่อรวมดุลการค้ากับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดทุน 664 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบจากเดือนก่อนที่ขาดดุล 1,051 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายเดือนมิ.ย. ไหลออกสุทธิ 817 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าไหลเข้าสุทธิ 106 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นในเดือนมิ.ย. จึงทำให้ดุลการชำระเงิน 3,101 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ถ้าดูทั้งไตรมาส 2/2556 ธปท.รายงานว่าจะขาดดุลการค้า 497 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 4,579 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,076 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิไหลเข้า 4,183 ล้านเหรียญสหรัฐ และดุลการชำระเงินขาดดุล 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดุลบัญชีเดินสะพัด

นายเมธีกล่าวว่า แม้จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปัจจัยที่ทำให้ขาดดุลคือ “ทองคำ” ถ้าหัก ทองคำออกไปจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุล แต่เกินดุลไม่มาก เพราะฉะนั้นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน (การลงทุนเกินตัว หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย) จึงไม่น่ากังวล และคาดว่าไม่น่าจะขาดดุลต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจชะลอ การนำเข้าก็ชะลอตาม

“การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการชำระเงินทำให้เงินบาทในเดือนมิถุนายนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ รวมถึงดัชนีค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลง “

โดยสิ้นเดือนมิ.ย. เงินบาทอยู่ที่ 31.02 บาท/เหรียญสหรัฐ หรืออ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 2.4% ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลง 3.9% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนค่าเงินบาที่แท้จริง (REER) อ่อนค่าลง 0.9% จากเดือนก่อนหน้า

ส่วนข้อมูลระหว่างวันที่ 1-24 ก.ค. 2556 ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดยวันที่ 24 ก.ค. 2556 ปิดตลาดที่ 30.96 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลง 1.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2555

ดาวโหลด รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน 2556 ฉบับสมบูรณ์

ดาวโหลด เอกสารประกอบการแถลงข่าวรายภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมิ.ย. และเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของธปท.

ข้อมูลเพิ่มเติม สุนทรพจน์ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผุู้ว่าการธปท. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก อนาคตประเทศไทย”