กนง. คงดอกเบี้ย 2.5% ตามคาด จับตาเพดานหนี้สหรัฐและคิวอี ห่วงกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง มั่นใจเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงได้ เผยปรับจีดีพีลงต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 4.2% ผลจากการเบิกจ่ายภาครัฐไม่เป็นตามคาด ส่วนส่งออกคาดโตต่ำกว่า 4% แนะภาครัฐเร่งเบิกจ่ายลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. รอบนี้ มีกรรมการเข้าประชุม 6 คน จากทั้งหมด 7 คน ขาด “ดร.อำพน กิตติอำพน” ซึ่งขอลาไม่เข้าร่วมการประชุม โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อความเหมาะสม”
แหลงข่าวจาก กนง. กล่าวว่า ที่ ดร.อำพนขอลาไม่เข้าประชุม อาจเป็นเพราะไม่ต้องการถูกข้อครหาว่านั่งควบสองตำแหน่ง ทั้งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ กนง. ซึ่งตามกฎหมายสามารถนั่งควบได้สองตำแหน่ง แต่เพื่อความปลอดภัยและความเหมาะสม จึงงดไม่ร่วมประชุม รวมทั้งมีเจตนาจะลาออกจากการเป็นกรรมการ กนง. อยู่แล้้ว เพียงแต่ต้องการให้แน่ใจว่า จะมีกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลเศรษฐกิจที่ กนง. พิจารณารายงานให้คณะกรรมการ ธปท. ทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการ ธปท. ล่าสุด ดร.อำพนได้สั่งให้ ธปท. ทำรายงานเศรษฐกิจรายเดือนให้คณะกรรมการ ธปท. ทราบ จากที่ปกติจะรายงานภาวะเศรษฐกิจเป็นรายไตรมาส เว้นแต่กรณีผิดปกติ
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจโลกว่ามีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แม้มีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะสหรัฐในแง่ธุรกิจเอกชน คิดว่าความต้องการ หรืออุปสงค์ในประเทศเขาไปได้ และเรื่อง Government shutdown ประเมินว่ากระทบน้อย แต่ความเสี่ยงที่สำคัญอยู่ที่ภาคการคลัง คือปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐที่ยังยืดเยื้อไม่สัมฤทธิ์ผล
โดยคณะกรรมการฯ และตลาดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะถ้ามีปัญหาตกลงกันไม่ได้ มีการผิดชำระหนี้เกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยสร้างความไม่มีเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินโลกเป็นอันมาก
เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในที่ประชุม กนง. คิดว่า หากสหรัฐมีปัญหาตกลงกันไม่ได้เรื่องเพดานหนี้สาธารณะ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นประเมินได้ยากมาก แม้แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐก็คิดว่าสหรัฐเองคงประเมินได้ไม่ชัดเจน เพราะว่าผลที่เกิดขึ้นมีการเคลื่อนไหวส่งทอดจากตลาดการเงินไปสู่เศรษฐกิจจริง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเงินก็สลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันหมด เพราะพันธบัตรสหรัฐเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในหลายภาคส่วนของตลาดการเงิน อาทิ ตลาดซื้อคืนพันธบัตร (ตลาด repo) มีการกู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงินในตลาดนี้ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเครื่องมือเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติย่อมส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงิน และเกิดภาวะการเงินตึงตัวทันที ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงิน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงต่อไป แต่ขนาดของผลกระทบจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของตลาดที่จะเกิดขึ้น
“ทั้งหมดนี้เป็นการคาดเดา แต่ในแง่การประเมินภาวะเศรษฐกิจในกรณีฐานของ ธปท. และของตลาดโดยรวม คิดว่า ในที่สุดจนนาทีสุดท้ายก็น่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ เพราะผลกระทบของการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ยิ่งใหญ่มาก” นายไพบูลย์กล่าว
เลขานุการ กนง. กล่าวว่า กรรมการฯ ให้ความสำคัญกับความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยืดหยุ่นการปรับเปลี่ยนโยบาย ความพร้อมที่จะดูแลสภาพคล่องตลาดเงินบาท ตลาดเงินดอลลาร์ ตลอดจนความพร้อมในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรองรับความผันผวนนั้น ไม่ใช่เฉพาะกรณีตกลงเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐไม่ได้ แม้จะตกลงได้ด้วยการเลื่อนไปสิ้นปี แต่ความไม่แน่นอนก็ยังอยู่ เพราะความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดก็คาดการณ์ต่างๆ ในอนาคต ประกอบกับความไม่แน่นอนของคิวอี (Quantitative Easing: QE) ว่าจะเริ่มประกาศลดเมื่อไร ดังนั้น ทั้งสองปัจจัยมีความไม่แน่นอนต่อนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลก ภาวะการเงินโลกในระยะข้างหน้า
“สิ่งเหล่านี้กรรมการฯ หารือกัน และมีความมั่นใจว่าเราเตรียมความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ได้ ในฐานะที่เราเป็นประเทศเล็ก และมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ก็ต้องเตรียมพร้อมทุกลักษณะที่จะเกิดขึ้น เครื่องมือที่เตรียมไว้ก็ต้องเหมาะสมกับทุกสถานการณ์” เลขานุการ กนง. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ และยุติการปิดหน่วยงานรัฐบาลกลางแล้ว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย นายไพบูลย์กล่าวว่า กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวช้ากว่าที่คาด แต่เริ่มทรงตัวและเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบางภาค อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ กนง. พิจารณาปรับลดลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2556 ลดลงจากประมาณการเดิมครั้งก่อนซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 4.2% โดยสาเหตุการปรับลดจีดีพีครั้งนี้มีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญสุดคือการเบิกจ่ายด้านการคลัง ตัวเลขท่ผ่านเบิกจ่ายต่ำกว่าที่คาดไว้ และการประมาณการไปข้างหน้าก็ปรับลดเล็กน้อยในความสามารถเบิกจ่ายในระยะข้างหน้า
ส่วนปัจจัยภายนอกก็เป็นความเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ กนง. มองว่าส่งออกจะทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี และต่อเนื่องไปปีหน้า เนื่องจากครั้งนี้ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับที่องค์การเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ ) มองว่า ประเทศจี 3 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แม้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์เฉพาะในสหรัฐจะเป็นเมฆดำทำให้แนวโน้มในอนาคตไม่สดใสนัก แต่ในแง่ของการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยูโร ญี่ปุ่น ก็ค่อนข้างจะดีขึ้น
“รายละเอียดการปรับประมาณการจีดีพีจะแถลง วันที่ 25 ตุลาคมนี้ แต่ทิศทางชะลอลงจากเดิมทั้งจีดีพีและส่งออก” นายไพบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ ประมาณการจีดีพีครั้งก่อนในรายงานนโยบายการเงิน เดือนกรกฎาคม 2556 ธปท. คาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 4.2% และประมาณการส่งออกขยายตัว 4% หาก ธปท. ปรับลดจีดีพีอีกครั้งจะเป็นปรับครั้งที่ 4 โดยก่อนหน้านี้ปรับมาแล้ว 3 ครั้ง (ดูภาพประกอบข้างล่าง)
แหล่งข่าวจาก ธปท. กล่าวว่า กนง. ปรับประมาณการจีดีพีลงเหลือต่ำกว่า 4% และส่งออกก็ปรับลดประมาณการต่ำกว่า 4% เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยหลักที่ปรับลดจีดีพีลงเพราะการเบิกจ่ายของภาครัฐต่ำมาก ทำให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐหายไปจากระบบจำนวนมากเมื่อเทียบกับที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้
โดยการประเมินจีดีพีที่ 4.2% ในปี 2556 ธปท. ประมาณการว่าจะมีเงินลงทุนภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 14,000 ล้านบาท และในปี 2557 มีเม็ดเงินจำนวน 48,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก ธปท. อธิบายสาเหตุที่ ธปท. ต้องปรับประมาณการลงจากครั้งก่อน เพราะตอนนั้นรัฐบาลบอกว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนออกมาใช้ แต่พอถึงเวลาไม่มีเม็ดเงินออกมา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ก็คงไม่มีแรงต้านช่วยพยุงเศรษฐกิจ ส่วนทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินต้องใช้เวลาในการส่งต่อเศรษฐกิจจริง จึงไม่ทันกาลหรือรวดเร็วเหมือนการใช้จ่ายของภาครัฐ
“ความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและภายในมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยพอๆ กัน โดยความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเราควบคุมไม่ได้ ทำได้แค่เตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ปัจจัยภายในประเทศต้องหวังพึ่งการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาครัฐคงต้องออกแรงเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น รวมทั้งเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายลงทุนอย่างเต็มที่” แหล่งข่าว ธปท. กล่าว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธรุกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้สรุปแถลงการณ์ของ ธปท. ในการประชุมครั้งนี้ เปรียบเทียบกับการประชุม กนง. ครั้งก่อน ดังนี้