ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ความท้าทายการทำนโยบายและวางแผนธุรกิจ เมื่อประมาณการจีดีพี “แม่นยำ” น้อยลง

ความท้าทายการทำนโยบายและวางแผนธุรกิจ เมื่อประมาณการจีดีพี “แม่นยำ” น้อยลง

30 ธันวาคม 2013


ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผนวกเข้ากับความไม่แน่นอนหลายๆ ปัจจัยภายในประเทศ กลายเป็น “ความเสี่ยง” ของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินยากขึ้นเรื่อยๆ และการคาดการณ์มี “ความแม่นยำ” ต่ำลง

สะท้อนได้จากการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2556 ปรากฏว่า ทุกสำนักมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและตัวเลขจีดีพีกันตลอดทั้งปี

โดยเฉพาะการคาดการณ์ของหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสามแห่งประมาณการจีดีพีปี 2556 ครั้งแรกช่วงปลายปี 2555 ในตอนนั้นฟันธงตรงกันว่าจีดีพีปี 2556 จะเติบโตได้ค่อนข้างสูงอยู่ในช่วง 4.5-5% แต่การทบทวนครั้งสุดท้ายช่วงปลายปีได้ปรับลดประมาณการลงเหลือเพียง 2.8-3%

จะเห็นว่าตัวเลขประมาณการจีดีพีช่วงแรกกับช่วงสุดท้าย “แตกต่าง” กันมาก และที่น่าสนใจคือ การปรับประมาณการของ ธปท. สศช. และ สศค. ในปี 2556 มี “ความถี่” สูงมาก โดยเกือบทุกครั้งที่มีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจก็จะปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีด้วย

จีดีพีปี 2556

ปกติการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจของทั้ง ธปท. สศช. และ สศค. จะทำทุก 3 เดือน ต่างกันที่จังหวะเวลาซึ่งมีการตกลงร่วมกันไว้เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนของข้อมูล โดย ธปท. จะประกาศก่อน ตามด้วย สศช. และสุดท้ายคือ สศค. เพราะฉะนั้น หากย้อนดูจังหวะเวลาการทบทวนของแต่ละแห่งตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงปลายปี 2556 จะมีการทบทวนเศรษฐกิจทั้งหมด 5 ครั้ง

แต่ปรากฏว่า ธปท. ปรับประมาณการมากที่สุด คือ 6 ครั้ง เป็นการปรับตามปกติของการทบทวนเศรษฐกิจ 5 ครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้ายของปีคือเดือนตุลาคม แต่ในเดือนพฤศจิกายนมีประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยหลังการประชุม ธปท. ได้ประกาศปรับจีดีพีลงเหลือ 3% จาก 3.7% ที่เพิ่งปรับไปเมื่อเดือนตุลาคม จึงถือว่าการประกาศปรับจีดีพีในเดือนพฤศจิกายนเป็น “ครั้งพิเศษ” เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติ

ส่วน สศช. ปรับไป 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายของปีคือเดือนพฤศจิกายน โดยปรับจีดีพีลงอยู่ที่ 3% จากครั้งก่อนหน้า 4 % และ สศค. ปรับทั้ง 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเดือนธันวาคม ปรับจีดีพีลงอยู่ที่ 2.8% จาก 3.7% ในครั้งก่อน

ปรับประมาณการ GDP

แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และนักวิเคราะห์ในตลาด ก็ประมาณการจีดีพีไทยพลาดไปเยอะ โดยในช่วงตุลาคม 2555 ไอเอ็มเอฟคาดการณ์จีดีพีไทยอยู่ที่ 6% แต่ช่วงเมษายน 2556 ปรับลดเล็กน้อยอยู่ที่ 5.9% จนครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน 2556 ปรับลดลงแรงเหลือเพียง 3.1% ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดขยับปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีแทบทุกเดือน

สำหรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2557 โค้งสุดท้ายทั้ง ธปท. และ สศค. คาดการณ์จะเติบโต 4% ส่วน สศช. คาดการณ์ที่ 4-5% และไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ที่ 5%

แต่ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ และสถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลาย โอกาสที่จะเห็นตัวเลขจีดีพีต่ำกว่าที่ทุกสำนักคาดการณ์ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นต้อง “ทำใจ” ไว้บ้าง

ส่วน “ความถี่” และ “ความแม่นยำ” จะบ่อยครั้งและเปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนปี 2556 หรือไม่ เป็นความท้าทายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประมาณการเศรษฐกิจ เพราะความแม่นยำที่น้อยลง อาจจะกระทบความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนั้น ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลต่อการทำนโยบายหรือวางแผนธุรกิจที่ผิดพลาดได้

อ่านเพิ่มเติม “ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เปรียบการประมาณการจีดีพี เหมือนการทำ “ข้อสอบยาก”