ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > จีดีพีไตรมาส 2/2556 โต 2.8% จับตา “หนี้ครัวเรือนสูง-ส่งออกชะลอ” ฉุดเศรษฐกิจทั้งปีต่ำกว่า 4%

จีดีพีไตรมาส 2/2556 โต 2.8% จับตา “หนี้ครัวเรือนสูง-ส่งออกชะลอ” ฉุดเศรษฐกิจทั้งปีต่ำกว่า 4%

20 สิงหาคม 2013


สศช. แถลงจีดีพีไตรมาส 2/2556 วูบโตเพียง 2.8% จาก 5.4% ในไตรมาสก่อน ผลจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญชะลอลงทุกเซกเตอร์ ขณะที่นักวิชาการประเมินทั้งปีมีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 4% สะท้อนนโยบายประชานิยมทำเศรษฐกิจผันผวน แต่ยังไม่น่าห่วง ตราบที่อัตราการว่างงานต่ำ ด้านนักวิเคราะห์ฟันธง กนง. คงดอกเบี้ย

จีดีพีไตรมาส 2/2556 โต 2.8% ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์

การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2556 ปรากฎว่าขยายตัวเพียง 2.8% ชะลอลงจาก 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดลบ 0.3% ลดลงจากไตรมาส 1/2556 ที่ติดลบ 1.7% และครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัวได้ 4.1% ขณะเดียวกันก็ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 2556 จาก 4.2-5.2% ลดลงเหลือ 3.8-4.3% หรือเติบโตเฉลี่ยทั้งปี 4% ตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2556 ที่ขยายตัว 2.8%

แม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2556 จะเป็นไปตามคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จีดีพีไตรมาส 2/2556 จะโตต่ำกว่า 4% แต่ในมุมมองขยาดตลาดถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ระบุว่า ตลาดคาดการณ์จีดีพีไตรมาส 2/2556 ขยายตัว 3.3% จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งกดดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดิ่งลงเกือบ 30 จุด ในช่วงเช้าของวันนั้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ธปท. นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2556 ที่ สศช. ประกาศไม่เหนือความคาดหมาย เพราะใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ในการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2556 ครั้งล่าสุดจาก 5.1% ลดลงเป็น 4.2% ส่วนจะมีการทบทวนจีดีพีหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง ธปท. จะนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดให้ กนง. พิจารณา

“ส่งออก” กระทบจีดีพีมากที่สุด คาดทั้งปีโต 5%

ทั้งนี้ ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2/2556 ชะลอตัวลงทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การบริโภค การส่งออก และการนำเข้า ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ (ดูกราฟด้านล่างประกอบ)

กราฟประมาณการจีดีพี 2556

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขา สศช. กล่าวว่า ไตรมาส 2/2556 แม้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เป็นเพราะฐานที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นยังเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุดเพราะมีสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี

โดยการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตั้งแต่วิกฤติยุโรปช่วงต้นปี และการแข่งค่าของเงินบาทในช่วงเดือน เม.ย. 2556 ที่แข็งค่าแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัว 1.2% และทั้งปีนี้ สศช. ปรับประมาณการลดลงจาก 7.6% เหลือ 5% หรือต้องมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ช่วงครึ่งปีหลังภาคการส่งออกคงต้องทำงานหนัก

“การส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภายนอกค่อนข้างมาก และการส่งออกที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่กระทบประเทศในภูมิภาคด้วย เช่น อินโดนีเซียส่งออกติดลบ 5 ไตรมาสต่อเนื่อง ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ส่งออกติดลบ 4 ไตรมาสต่อเนื่อง ของไทยเพิ่งติดลบไตรมาส 2 เท่านั้น”

“การใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว” พยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ขณะที่การปรับลดประมาณการทั้งปี 2556 อยู่ที่ 3.8-4.3% หรือขยายตัวเฉลี่ย 4% นายคมระบุว่า มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอลงค่อนข้างมาก การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ล่าช้า และ การส่งออก

แต่จีดีพีทั้งปีนี้ก็มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4.3% หากรัฐบาลเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2556 ช่วงไตรมาสสุดท้าย และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของงบประมาณ โดยเฉพาะงบจัดสัมมนาทั้งหลายของภาครัฐ หากดำเนินการได้จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในเอเชีย

ทำให้กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยทั้งปีนี้จาก 20 ล้านคน เป็น 26 ล้านคน โดยไตรมาส 2/2556 รัฐมีรายรับจากการท่องเที่ยว 2.78 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศเป็นความเสียงหนึ่งที่เลขา สศช. ระบุว่า เป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องพึ่งพิงการขยายตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

“อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจดังกล่าว”

จีดีพีทั้งปี 2556 เสี่ยงโตต่ำกว่า 4%

แม้ สศช. จะประมาณการจีดีพีทั้งปีนี้ขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 4% ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท. ก็ประมาณการจีดีพีทั้งปีขยายตัว 4.5% และ สศค. ประมาณการไว้ที่ 4-5% แต่จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2556 ที่ออกมาค่อนข้างต่ำโตเพียง 2.8% และทำให้จีดีพีครึ่งปีแรกโต 4.1% ทางด้านนักวิชาการจึงประเมินว่า มีโอกาสที่จีดีพีจะโตต่ำกว่า 4%

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า หากวิเคราะห์จากตัวเลขจีดีพีครึ่งปีแรกขยายตัว 4.1% หากจะทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ในครึ่งปีหลังจีดีพีต้องขยายตัวประมาณ 4% เช่นกัน ซึ่งไม่ง่าย เพราะฐานของครึ่งปีหลังค่อนข้างสูง โดยจีดีพีครึ่งปีหลังของปี 2555 ขยายตัวสูงถึง 10.9%

นอกจากนี้จะหวังพึ่งการส่งออกก็คงยาก เพราะเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า จะหวังได้มากแค่ไหน ขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนก็เจอปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวได้ไม่มาก เนื่องจากต้องนำรายได้ไปชำระคืนหนี้ เพราะฉะนั้นต้องดูว่ารัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนกับผู้บริโภคได้อย่างไร

“เศรษฐกิจในไตรมาส 2/2556 ที่ขยายตัวต่ำ สะท้อนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ใช้นโยบายประชานิยมกระตุ้นในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องยอมรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ” ดร.สมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 4% แต่ ดร.สมชัยระบุุว่า รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยก็ได้นอกเหนือจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้ได้ตามเป้าหมาย ที่สำคัญ แม้เศรษฐกิจไตรมาส 2/2556 และทั้งปีนี้จะขยายตัวต่ำลง แต่ยังไม่น่าเป็นกังวลมากนักเพราะ ตัวเลขการจ้างงานของไทยยังเป็นการจ้างงานเต็มที่ หรือมีอัตราการว่างงานต่ำ แต่ในระยะยาว หากเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องจนกระทบให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดแรงงาน จะเป็นจุดที่น่าเป็นห่วง

“อาจยอมรับได้หากเศรษฐกิจโตช้าแต่การจ้างงานไม่ถูกกระทบอะไร และถ้าเศรษฐกิจโต 3% แต่ไม่มีคนตกงาน หรือตราบใดไม่มีคนตกงานก็ไม่เป็นไร” ดร.สมชัยกล่าว

ด้าน ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีทั้งปี 2556 จะขยายตัวต่ำกว่า 4% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นข้อจำกัดทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และหากดูทิศทางเศรษฐกิจโลกภาคการส่งออกไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่คงไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอ่อนๆ

ดร.ตีรณกล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2/2556 ที่ขยายตัว 2.8% ถือว่าต่ำมาก และการที่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส คือ ไตรมาสแรกติดลบ 1.7% และไตรมาสสองติดลบ 0.3% หากดูตามมาตรฐานของสหรัฐฯ ถือว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

แต่ในประเทศกำลังพัฒนาตัวเลขจีดีพีจะแกว่งค่อนข้างสูง เช่น ไทย เพราะมีความผันผวนของสินค้าเกษตรสูง ดังนั้นจะดูอัตราการขยายตัวเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนมากกว่าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาส 2/2556 ที่ขยายตัวต่ำ และมีอัตราติดลบสองไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงชัดเจน

“แม้เศรษฐกิจชะลอตัว และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง แต่ไม่มีปัญหาน่ากังวลมากนั้น เพราะอัตราการว่างงานต่ำ ทำให้ประชาชนยังมีรายได้เพื่อผ่อนชำระหนี้ ชำระดอกเบี้ย จึงเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจ ไม่เหมือนต่างประเทศเศรษฐกิจชะลอ จะมีปัญหาคนตกงานเยอะมาก”

ประชานิยมออกฤทธิ์ทำเศรษฐกิจไทยผันผวน

ที่สำคัญเป็นการชะลอตัวจากภายในประเทศมากกว่าด้านต่างประเทศ โดยปกติการใช้จ่ายภายในประเทศจะไม่ชะลอตัวลงมากขนาดนี้ แต่จากนโยบายรัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายระยะสั้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน อาทิ มาตรการคืนภาษีรถคันแรก ส่งผลให้ตัวเลขการบริโภคบางช่วงดีผิดปกติ แต่เมื่อมาตรการหมดไปตัวเลขก็ชะลอลง

ที่สำคัญ มาตรการของรัฐบาลกระตุ้นให้ประชาชนเร่งใช้จ่ายมากโดยอาศัยรายได้ในอนาคตมาใช้ หรือการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น การบริโภคภาคเอกชนที่ลด เป็นเพราะประชาชนมีภาระหนี้สูง จำเป็นต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ ทำให้กำลังซื้อลดลง

“การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลเป็นการกระตุ้นที่ผิด เน้นกระตุ้นระยะสั้นเกินไปและใช้เม็ดเงินจำนวนมาก แต่ความสำเร็จไม่มี คือ แทนที่จะกระตุ้นแล้วทำให้เศรษฐกิจโตอย่างมีเสถียรภาพ ก็ทำให้เศรษฐกิจโป่งบางช่วง และฟุบบางช่วง” ดร.ตีรณกล่าว

ในภาวะเกิดการแกว่งตัวของเศรษฐกิจ ดร.ตีรณกล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้น ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงิน แต่่อยู่ที่การใช้จ่ายเงินต้องมีประสิทธิภาพ และเท่าทันสถานการณ์ที่ผันผวน และที่สำคัญ รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นการก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายสินค้าคงทน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

แต่ถ้ารัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจกำลังต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนเข้าไปอีก ดร.ตีรณกล่าวว่า จะเป็นการซ้ำเติมปัญหา และการใช้จ่ายอาจไม่เพิ่มขึ้น เพราะประชาชนมีการใช้จ่ายเยอะแล้ว มีภาระหนี้สูงจนกระทั่งต้องตัดรายจ่าย

“ประชานิยมกำลังสร้างปัญหามากขึ้น และถ้าทำต่อไปปัญหาจะสะสมมากขึ้นจนความรุนแรงจะมากขึ้น อาจถึงจุดที่ประชาชนไม่สามารถชำระหนี้ได้ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะซบเซาและมีวิกฤติในที่สุด แต่วันนี้ไม่ถึงจุดนั้น แต่ต้องหาแนวทางการแก้ปัญหา ถ้ายังดำเนินการแบบนี้ก็น่าเป็นห่วง” ดร.ตีรณกล่าว

ธปท. แจงหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอ-แบงก์ระมัดระวังมากขึ้น

ตารางหนี้ครัวเรือน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1/2556 มีจำนวน 8.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี 77.5% โดยแบ่งเป็นหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมมาเพื่อการบริโภค 65.03% และหนี้ครัวเรือนที่กู้มาเพื่อไปทำธุรกิจ 12.8% โดยที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมเพื่อการบริโภคมีทิศทางเพิ่มขึ้นสูงกว่ากู้ยืมไปทำธุรกิิจ

“หนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมเพื่อไปทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บริษัทเล็กๆ ที่กู้ยืมส่วนบุคคลแต่นำมาลงทุนในกิจการ หรือซื้อสินค้าเข้าร้าน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มาก ดูได้จากปี 2010 มีสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 12.8% ในไตรมาสแรกปี 2556 ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าจาก 55% ของจีดีพีในปี 2010 เป็น 65% ในปีไตรมาสแรกปีนี้” นายเมธีกล่าว

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 77.5% ถือว่าสูง แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงบ้างตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และด้านผู้ให้กู้ยืมเงินมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์พบว่ามีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2556 สามารถแบ่งประเภทแหล่งที่มาของหนี้ครัวเรือน ที่สำคัญได้ดังนี้

1. ธนาคารพาณิชย์จำนวน 3.76 ล้านล้านบาท หรือ 32.5% ของจีดีพี
2. สถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 2.72 ล้านล้านบาท หรือ 23.5% ของจีดีพี
3. สหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 1.35 ล้านล้านบาท หรือ 11.7% ของจีดีพี
4. สถาบันการเงินอื่นๆ จำนวน 1.13 ล้านล้านบาท หรือ 9.8% ของจีดีพี (เช่น บัตรเครดิต ลีสซิ่ง ประกันภัยและประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น)

คาดประชุมกนง. 21 ส.ค. นี้ คงดอกเบี้ย 2.5%

แม้เศรษฐกิจไตรมาส 2/2555 จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และทั้งมีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 4% แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 ส.ค. นี้ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า กนง. จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะมีความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือน ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้น

“ถ้า กนง. เป็นห่วงหนี้ครัวเรือนคงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอาจทำให้หนี้ครัวเรือนแย่ลงแทนที่จะปรับตัวดีขึ้น” ดร.สมชัยกล่าว

ด้าน ศุูนย์วิจัยกสิกรไทย และ ศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทย ต่างฟันธงว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. นี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ กนง. ยังคงดอกเบี้ย แต่อาจปรับลดลงช่วงปลายปีนี้