ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “หนี้ครัวเรือน” ประมาทไม่ได้

“หนี้ครัวเรือน” ประมาทไม่ได้

27 สิงหาคม 2013


ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยมีข้อมูล 2 แหล่ง คือ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจทุก 2 ปี กับ ข้อมูลขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมาจากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะที่รับฝากเงิน และอื่นๆ

ข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติ ล่าสุดคือปี 2554 ระบุว่ามีหนี้ครัวเรือนจำนวน 134,900 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของธปท. ข้อมูล ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1/2556 จำนวน 8.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 77.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

แต่ข้อมูลที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้คือ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของธปท. ซึ่งก่อนหน้านี้ธปท. ส่งสัญญาณความเป็นห่วงมาตลอด แต่ข้อมูลล่าสุดเริ่มมีการถกเถียงในหลายมุมมอง บ้างก็บอกน่าเป็นห่วง บ้างก็บอกไม่น่ากลัว ต่างก็มีเหตุผลในการอธิบาย ซึ่งหน่วยงานหลักที่ออกมาวิเคราะห์เรื่องนี้และมีความเห็นตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง คือ ธปท. กับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง

ตารางหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “หนี้ครัวเรือนสำคัญไฉน?” ขณะที่ สศค. จัดสัมมนาเรื่อง “หนี้ครัวเรือนน่ากลัวจริงหรือ?” นอกจาก 2 หน่วยงานนี้แล้วนักวิชาการหลายๆคนแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือน

โดยข้อสังเกตในมุมมองนักวิชาการที่แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากที่มาของหนี้ครัวเรือนมาจากนโยบายประชาชนนิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีรถคันแรกที่ส่งผลให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% แม้ข้อมูลล่าสุดจะลดลงเหลือ 19.5% ณ สิ้นไตรมาส2/2556 แต่ยังถือว่าอยู่ระดับสูงต้องติดตามดูแนวโน้มต่อไปว่าจะชะลอลงต่อเนื่องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นตัวหลักทำให้สินเชื่ออุปโปคบริโภคเพิ่มขึ้น เริ่มชะลอลงจากที่ขยายตัว 38.7% ในไตรมาสแรกปี 2556 เป็น 30.2% ณ สิ้นไตรมาส 2/2556

นักวิชาการรายหนึ่งเปรียบเปรยปัญหาหนี้ครัวเรือนเหมือนสุภาษิตที่ว่า “น้ำลดตอผุด” คือ รัฐบาลทำนโยบายประชานิยม เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตในระยะสั้น แต่เมื่อมาตรการสิ้นสุดลง สิ่งที่ปรากฏคือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งน่าเป็นห่วง

ขณะที่ ธปท. และ สศค. ใช้เครื่องชี้ 3-4 ตัวเพื่อบ่งชี้ว่าหนี้ครัวเรือนน่าห่วงหรือไม่ ได้แก่ บทเรียนจากต่างประเทศ สัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Debt service ratio) ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (เอ็นพีแอล) และองค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนเป็นต้น

เริ่มจากบทเรียนในต่างประเทศ จากการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ( Bank for International Settlements: BIS) ในปี 2554 ได้ศึกษากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วช่วงปี 2523 – 2553 จํานวน 18 ประเทศ คือ

สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีซ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน พบว่า ระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจก่อให้เกิดผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ 85% ของ GDP

สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีแยกตามประเทศ
สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีแยกตามประเทศ

ธปท. กับ สศค. เห็นตรงกันว่าข้อมูลของ BIS อาจเป็นเพียงตัวเลขอ้างอิง ไม่ได้บ่งชี้ว่าหากหนี้ครัวเรือนของทุกประเทศเข้าใกล้ระดับ 85% ของจีดีพีจะเกิดวิกฤติทั้งหมด

แต่ธปท. ก็เตือนว่าควรระมัดระวัง เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 77.5% เป็นการเร่งตัวขึ้นจาก 63.02% ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% ขณะที่ สศค. มองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยยังห่างไกลวิกฤติ โดยดูจากบทเรียนของสหรัฐ และยุโรป ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนที่ก่อให้เกิดวิกฤติรอบปีที่ผ่านมาอยู่สูงกว่า 100% ของจีดีพี หรือเฉลี่ยที่ระดับ 110-130% ของจีดีพี และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนกว่าจะสูงถึงระดับเกิดวิกฤติต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

ดังนั้น ในมุมของ สศค. เชื่อว่า หนี้ครัวเรือนของไทยที่ระดับ 77.8% เป็นระดับที่ไม่น่ากลัวและระดับหนี้ที่จะก่อให้เกิดวิกฤติเหมือนสหรัฐ กับยุโรป ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

สำหรับตัวเลขสัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Debt service ratio) จากข้อมูลโครงการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไตรมาสที่ 1/2556 พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระในการชําระหนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.34 เท่า หมายความว่า หากครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือน 100 บาท ต้องนำเงิน 34 บาทไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในประเด็นนี้ สศค. และ ธปท. เห็นตรงกันว่า ความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ระดับพอรับได้ เพียงแต่ธปท. อาจมีความกังวลมากกว่าเพราะภาระการจ่ายชำระหนี้ที่ระดับ 0.34 เท่า เป็นระดับที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2554 ที่อยู่ระดับ 0.30 เท่า และ 2552 ที่อยู่ระดับ 0.29 เท่า

ส่วนตัวเลขการขยายสินเชื่ออุปโภคบริโภค ข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 อยู่ที่ 19.5% ชะลอลงจาก 20.3% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประเด็นนี้ทำให้ ธปท. และ สศค. สบายใจขึ้นได้ระดับหนึ่ง และประเมินตรงกันว่า แนวโน้มสินเชื่ออุปโภคบริโภคน่าจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการปรับตัวชะลอลงสู่ภาวะปกติ

ขณะที่ตัวเลขเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 อยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งธปท. และสศค. ถือว่าเอ็นพีแอลอยู่ระดับต่ำไม่น่ากังวล เพราะสะท้อนถึงคุณภาพสินเชื่อว่าลูกหนี้ยังมีความสามารชำระหนี้ได้มากกว่าจะผิดชำระหนี้

เอ็นพีแอล

ทั้งนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เป็นเอ็นพีแอลมากที่สุด คือ สินเชื่อบัตรเครดิต รองลงมาคือสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ แต่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ((Special Mention Loan : SM) ปรากฏว่าสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ประเด็นนี้ธปท. อธิบายว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่สินเชื่อรถยนต์จะค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ก็จะมีติดตามทวงหนี้ หรือไม่ก็ยึดหลักประกันขายทอดตลาด ก่อนที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล ทำให้เอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคไม่ถูกกระทบ

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงค่อนข้างมากคือ องค์ประกอบของหนี้ครัวเรือน 8.97 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 77% ของจีดีพี แบ่งเป็นการกู้ยืมเพื่อการบริโภค 65.03% และเป็นการกู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจ 12.8% ทั้ง ธปท. และ สศค. เห็นเหมือนกันว่า หนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจ เป็นการกู้ยืมที่ทำให้มีรายได้กลับคืนมาชำระหนี้ จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ที่ต้องจับตามองคือหนี้ครัวเรือนเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตาม ธปท. แสดงความเป็นห่วงมากกว่า สศค. เพราะหนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่า จากระดับ 55% ของจีดีพีในปี 2010 เป็น 65% ในปีไตรมาสแรกปีนี้

มุมมองที่แตกต่างของปัญหาหนี้ครัวเรือน อาจสรุปยาก ว่าหนี้ครัวเรือนน่าห่วงหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน หรืออัตราการวางงานต่ำ ถ้าปัจจัยเหล่านี้ไม่แย่ลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็คงไม่น่าเป็นห่วงมาก

แต่สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งมีความเป็นได้สูงขึ้น เพราะจากข้อมูลภาวะสังคมไตรมาส 2/2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อ 25 ส.ค. 2556 ปรากฏว่า ผู้มีงานเพิ่มขึ้น 0.7% ชะลอลงจาก 1.5% ในช่วงระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลของฐานปีที่แล้วที่มีการจ้างงานสูง โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง เนื่องจากภาวะน้ำท่วมทำให้มีการซ่อมแซมบ้านจำนวนมาก

แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การจ้างงานลดลง 1.1% ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัว(จีดีพี) ไตรมาส 2/2556 ชะลอลง อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำคือ 0.73% ชะลอลงจาก 0.86% ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนต่อสัปดาห์ลดลง โดยแรงงานที่ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปลดลง 6.8% เทียบกับที่ลดลง 0.4% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สาเหตุเพราะการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท และเศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้สถานประกอบการปรับช่วงเวลาทำงานให้อยู่ในภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งปกติแรงงานจะทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถือว่า เป็นการทำงานล่วงเวลามีการปรับลดลง

นอกจากนี้ จากนโยบายรัฐบาลที่มีมาตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวมีความพิถีถันมากขึ้นในการจ้างแรงงาน คือ การจ้างงานแต่ละคนจะดูคุณสมบัติของแรงงานให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น ดูได้จากอัตราการบรรจุงานกับตำแหน่งงานว่างเท่ากับ 0.7% ลดลงจาก 0.9% ในช่วงเดียวกันปีก่อน หมายความว่า ถ้ารับ 10 คน จะจ้างเพียง 7 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อนจะจ้าง 9 คน เนื่องจากผู้ประกอบการจะรับเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตรงเท่านั้น

หรือดูในแง่อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัครงานเท่ากับ 0.5 เท่า ลดลงจาก 0.8 เท่าในช่วงเดียวกันปีก่อน พูดง่ายๆ คือ มีผู้สมัครงาน 10 คน ได้บรรจุแค่ 5 คน จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วสูงกว่าคือผู้สมัคร 10 คน บรรจุ 8 คน

ขณะเดียวกันรายได้ที่แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์อื่นๆไตรมาส 2/3556 เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 13.9% เป็นผลจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อหักราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 2.3% แรงงานมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 4.5% แต่เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงทำให้กำลังซื้อไตรมาสที่สองก็ดีกว่าปีที่แล้ว

จากข้อมูลภาวะสังคมด้านการจ้างงานที่ชะลอ ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า รายได้ที่แรงงานเคยได้รับเริ่มลดลงจากก่อนหน้านี้ แต่ภาระหนี้ยังคงอยู่ หรือลดลงไม่เร็วเท่ารายได้ที่ลดลง อาจส่งผลต่อความสามารถชำระคืนหนี้ หรือต้องลดการบริโภคลงเพื่อรักษาวินัยการเงิน

นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัว 1.48% ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.8% และส่งออก 7 เดือนแรกขยายตัวเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดังนั้น หากการส่งออกไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่เหลือ 5 เดือนของปีนี้ อาจฉุดให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 4% หรือต่ำกว่าที่หลายๆ หน่วยงานประมาณการณ์ไว้

อีกปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป กำลังค่อยๆ ฟื้น และจีนแม้จะชะลอลงแต่ก็ยังขยายตัวสูง ทำให้เงินไหลออกจากเอเชีย รวมถึงไทย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาเงินอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี แตะที่ระดับ 32.05/06 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทที่กลับทิศอ่อนค่าลงตรงข้ามกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มทำให้กังวลว่า ถ้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง อาจมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น และราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ลดลง โดยเฉพาะยางพารา ปาล์ม และข้าวโพด ทำให้รายได้เกษตรลดลง และหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดการบริโภคลดลง ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐจะหวังได้หรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปน่าเป็นห่วง