ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สศค. แนะรัฐรีบยิง “กระสุน” เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

สศค. แนะรัฐรีบยิง “กระสุน” เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

30 กรกฎาคม 2013


สศค. ประเมินจีดีพีไตรมาส 2 โตต่ำกว่า 4% ชะลอลงกว่าที่คาด ระบุเป็นผลจากส่งออกหดตัว การใช้จ่ายและลงทุนภาคเอกชนชะลอลง แนะรัฐบาลรีบ “ยิงกระสุน” เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ระบุ “งบกลางปี” ยังไม่จำเป็น หากสถานการณ์ไม่เลวร้ายกว่าที่คาด ขณะที่ธปท. ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีแรกชะลอเป็นเพียงการพักฐาน

วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนมิถุนายน 2556 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจมีสัญญาณบ่งชี้การชะลอตัวลงชัดเจนจากช่วงก่อนหน้า

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือน มิ.ย. และไตรมาส 2 ชะลอลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รวมถึง สศค. ซึ่งเดิมคาดกว่า การขยายขัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 จะโตได้ 4% แต่จากเครื่องชี้เศรษฐกิจขณะนี้บ่งชี้ว่า จีดีพีไตรมาส 2 จะโตต่ำกว่า 4%

ทั้งปี 2556 สศค. ยังคงประมาณการจีดีพีไว้คงเดิมคือ 4.5% หรืออยู่ระหว่าง 4-5% แต่ขณะนี้จีดีพีมีแนวโน้มจะเอียงมาด้านต่ำใกล้ๆ 4% อย่างไรก็ตาม สศค. จะทบทวนประมาณการจีดีพีอีกครั้งในเดือนกันยายน คือหลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขจริงจีดีพีในเดือนสิงหาคมนี้

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาจาก 3 ปัจจัยหลัก

ปัจจัยแรก การส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ทำให้การส่งออกไป อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และที่สำคัญคือจีนชะลอลงมาก

ปัจจัยรองลงมาคือ การใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่สูงในปีที่แล้ว โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ เป็นต้น เมื่อมาตรการรถยนต์คันแรกหมดลง ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ชะลอลง แต่เป็นการปรับไปสู่ระดับปกติ

ปัจจัยสุดท้ายคือ การลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องจักรชะลอลง เนื่องจากปีที่แล้วมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรจำนวนมาก ในปีนี้การนำเข้าจึงชะลอลง แต่การลงทุนภาคก่อสร้างยังขยายตัวดีจึงช่วยพยุงการลงทุนโดยรวมไม่ให้ชะลอลงมาก

ดร.เอกนิติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเมื่อเครื่องยนต์หดตัว และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศอาจทำไม่ได้ต่อเนื่อง เพราะอาจเกิดปัญหาระยะยาว และปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นผลมาจากภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จังหวะในการบริหารเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ คือใช้งบประมาณประจำปี ซึ่งล่าสุดเบิกจ่ายได้ 69.3% ดีกว่าที่คาดไว้ และงบประมาณปี 57 คงไม่ล่าช้า ก็จะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาเสริมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

“ตอนนี้กระทรวงการคลังยังมีกระสุน และถ้าได้เม็ดเงินจาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท ถ้าได้ออกมาก็จะเป็นกระสุนเพิ่มออกมา ซึ่งจำเป็นอย่างมากในไตรมาส 4 เพราะถ้าผลักดันรายจ่ายภาครัฐออกมาได้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่เอกชนชะลอตัว”

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัว แต่ก็มีวีแววของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า “green shoots” คือ เริ่มมีหน่อสีเขียวโผล่แซมขึ้นมาท่ามกลางหญ้าสีเหลือง สีแดง ซึ่งมีอยู่ 4 ปัจจัยที่เห็น คือ

1. การส่งออกไปกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ที่เพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่ไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง คือขยายตัวได้ 10% ต่อเนื่องทั้ง 2 ไตรมาส และขนาดของการส่งออกของไทยไป 4 ประเทศนี้เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ชองการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าการส่งออกไปยูโรโซนหรือเฉพาะประเทศที่ใช้เงินยูโรที่มีสัดส่วนอยู่ที่กว่า 6% แต่หากดูสภาพยุโรปทั้งหมดสัดส่วนจะอยู่ที่ 8.5% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอาเซียนยังเติบโตได้ดีโดยเฉพาะไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ดังนั้น แม้การส่งออกไปจีน ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะชะลอลง แต่การส่งออกในกลุ่ม CLMV เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

2. การท่องเที่ยว เป็นพระเอกมาตลอด และเดือน มิ.ย. 2556 ขยายตัวได้ถึง 25% และไตรมาส 2 อยู่ที่ 21.3% จึงคาดว่าปัจจัยนี้จะเป็นพระเอกต่อไปได้

3. ภาคเกษตร โดยเฉพาะเรื่องยาง ซึ่งราคามีทิศทางสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น และผลผลิตยางของไทยมีปริมาณมาก นั่นหมายความว่า จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ

4. การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งยังมีเม็ดเงินเป็น “กระสุน” ให้ใช้จ่ายได้ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณล่าสุดแม้จะสูงกว่าที่คาด คืออยู่ที่ 69.3% แต่ทั้งปีตั้งเป้าเบิกจ่ายได้ 94% เพราะฉะนั้น ช่วงที่เหลือหากผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่ภาคเอกชนชะลอตัว และหาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท กับ พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท เร่งดำเนินการได้ก็จะเป็นกระสุนเพิ่มเติมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ประเด็นเรื่องเรื่องงบกลาง ณ วันนี้ภาครัฐยังมีกระสุนเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้ แต่จำเป็นจะต้องทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ถ้าหดมากกว่าที่คาด และกระสุนที่มีอยู่ไม่พอ ก็อาจจำเป็น และยังเป็นเรื่องนโยบายทางการเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายส่งมา อย่างไรก็ตาม การทำงบกลางปีสำหรับปี 2556 ไม่น่าจะทันแล้ว เพราะเหลืออีกหนึ่งไตรมาสก็จบปีงบประมาณ56 แล้ว”

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหาร ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการประชุมตามปกติทุกไตรมาสว่า ธปท. ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจที่ กนง. ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ชะลอตัวลงเป็นการพักฐานหลังจากที่ขยายตัวค่อนข้างสูงช่วงปลายปีที่แล้ว และคิดว่าเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้จากปัจจัยพื้นฐานทีี้ี่่ดี เช่น การจ้างงานยังอยู่เกณฑ์ดี ตลาดการเงินยังผ่อนคลาย ภาครัฐมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และภาคต่างประเทศมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป กระเตื้องขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกันไม่ได้พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐมนตรีคลังฝากให้ ธปท. ดูแลทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินเรื่องสภาพคล่อง เนื่องจากภาครัฐมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ จึงเกรงว่าภาคเอกชนจะออกมาแข่งขันระดมเงินด้วย ทำให้มีปัญหาสภาพคล่่อง ซึ่ง ธปท. ชี้แจงว่าสภาพคล่องในระบบมีค่อนข้างมาก และการระดมทุนของภาคเอกชนสามารถระดมจากช่องทางอื่นๆ ได้นอกเหนือจากกำไรสะสม คือ ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้

โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาพบว่า ภาคเอกชนได้ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และระดมทุนผ่านตราสารหนี้ประมาณ 10% ขณะเดียวกัน สินเชื่อขยายตัวสูง 12% ดังนั้นเรื่องสภาพคล่องไม่น่าเป็นห่วง

“รัฐมนตรีคลังจึงฝากให้ ธปท. ไปทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินว่าไม่ต้องแข่งขันกันมากไป”

ดร.ประสารกล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันระดมสภาพคล่องและรักษาฐานลูกค้า เพราะมีแผนขยายสินเชื่อระดับสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา