ThaiPublica > เกาะกระแส > ปรับเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้” ไม่ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน – ขยายเวลา คาดมีลูกหนี้เข้าเกณฑ์ 50,000 ราย มูลหนี้ 20,000 ล้านบาท

ปรับเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้” ไม่ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน – ขยายเวลา คาดมีลูกหนี้เข้าเกณฑ์ 50,000 ราย มูลหนี้ 20,000 ล้านบาท

23 เมษายน 2018


นางฤชุกร สิริโยธิน (ที่ 2 จากซ้าย) รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด นายปรีดี  ดาวฉาย (ซ้าย)
ประธานสมาคมธนาคารไทย และนายทีบอร์  พานดิ (ขวา) กรรมการสมาคมธนาคารนานาชาติ

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ โดยการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้มีโอกาสแก้ไขภาระหนี้ที่มีกับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งโดยปกติจะทำได้ยากเนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายอาจมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน ควบคู่กับการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ในการนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่จัดการได้และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมา และมีความสำเร็จในการช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ระดับหนึ่ง โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าของโครงการ รวมทั้งพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะช่วยให้โครงการมีความยืดหยุ่นและขยายขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุมมากขึ้น

นางฤชุกรกล่าวว่า แม้ภาวะปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับลดลงจากเกิน 80% ในปี 2558 เหลือ 77.5% ในปี 2560 แต่หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและสัดส่วนของหนี้เอ็นพีแอลก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงและคนไทยก็ยังคงมีหนี้เยอะขึ้น เป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย และเป็นหนี้นานจนเข้าสู่วันเกษียณ ดังนั้น ธปท. จึงมีแนวทางในการดูแลปัญหาดังกล่าวจาก 3 มิติ

    1) ก่อนก่อหนี้ หรือด้านผู้กู้ จะเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงิน (Financial Literacy) ผ่านศูนย์คุ้มครองและการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เข้าใจง่าย
    2) เมื่อก่อหนี้ หรือด้านผู้ให้กู้ จะต้องมีความรับผิดชอบในการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพ
    3)หลังก่อหนี้และชำระหนี้ไม่ได้ โดย ธปท. ได้ตั้งตัวกลางขึ้นมาปรับโครงสร้างและช่วยเจรจาให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันและบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็คือโครงการที่มีการปรับหลักเกณฑ์ในวันนี้

นอกจากนี้ เพื่อขยายขอบเขตของโครงการจากลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-Bank ธปท. อยู่ระหว่างการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 จากเดิมที่อนุญาตให้บริษัทฯ สามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเท่านั้นให้สามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ Non-Bank ได้ด้วย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมกฤษฎีกา

เข้าเกณฑ์ 594 ราย ภาระหนี้รวม 129.65 ล้านบาท

ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ บสส. เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาโครงการมีผู้สมัครเข้ามามากถึง 33,736 ราย แต่คุณสมบัติไม่ผ่านเนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สมัครเข้ามายังสามารถชำระเพียงขั้นต่ำได้อยู่ และอีกส่วนประมาณ 1 ใน 5 ที่เป็นลูกหนี้ของ Non-Bank รวมถึงปัญหาอื่นๆ จึงทำให้มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เพียง 594 ราย มีภาระหนี้รวม 129.65 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 230,000 บาท และจากข้อมูลพบว่าเฉลี่ยจะมีเจ้าหนี้รายละ 3 แห่ง 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี โดยในสิ้นเดือนเมษายนนี้จะมีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระเสร็จสิ้นเป็นรายแรก อย่างไรก็ตาม ประมาณ 5% ของผู้เข้าร่วมโครงการหรือประมาณ 30 ราย ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากได้รับเงินชดเชยภายหลังออกจากงานและนำมาชำระหนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดหรือเกิดตกงาน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลง ซึ่ง บสส. ได้เปิดช่องให้คนกลุ่มนี้ เมื่อสามารถบริหารจัดการรายได้ได้ดีขึ้นให้สามารถกลับเข้าร่วมโครงการต่อได้

นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้แล้ว บสส. ได้จัดอบรมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกราย ช่วยให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งบรรยายให้แก่พนักงานขององค์กรต่างๆ เพื่อเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนในสังคม ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม

“จากที่ได้สัมผัสผู้เข้าร่วมโครงการพบว่าโครงการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ได้ มีสมาธิทำงาน ลดความเครียด ความกังวลต่างๆ ลง เป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการและเป็นตัวอย่างที่ควรขยายให้ครอบคลุมลูกหนี้ในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้คลินิกแก้หนี้ก็ได้เริ่มสร้างความตระหนักแก่สังคมและปลูกฝังค่านิยมเรื่องการใช้จ่ายเงินอีกด้วย” นางผ่องเพ็ญกล่าว

ปรับเกณฑ์จากมนุษย์เงินเดือนเป็นแค่มีรายได้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้เป็นโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย, บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในไทย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาได้เห็นผลสำเร็จในการเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้ประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีลูกหนี้บางส่วนที่ติดขัดเรื่องคุณสมบัติบางประการที่ทำให้เสียโอกาสเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนมากขึ้น จึงได้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง มีความเหมาะสมกับสภาพของลูกหนี้เพิ่มขึ้น

เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ปรับคุณสมบัติจากเดิมที่จะต้องเป็นบุคคลธรรมดามีเงินเดือนประจำมาเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จะปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น ขยายไปยังกลุ่มที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ยังไม่มีคำพิพากษาสิ้นสุดจากเดิมที่ต้องยังไม่ถูกฟ้อง มีการขยายระยะเวลาของการเป็นหนี้เอ็นพีแอลจากที่ต้องเป็นก่อน 1 พฤษภาคม 2560 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 ขณะที่ประเภทหนี้ ยอดค้างชำระยังคงเดิม และเงื่อนไขต่างๆ คงเดิม คือต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และมียอดหนี้เงินต้นคงค้างไม่เกิน 2 ล้านบาท มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มในระยะเวลา 5 ปีและพร้อมเรียนรู้อบรมเกี่ยวกับความรู้และวินัยทางการเงิน ทั้งนี้ คาดว่าการขยายเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์อีกประมาณ 50,000 ราย เฉลี่ยรายละ 400,000 บาท หรือรวมแล้วเป็นมูลหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะขยายขอบเขตโครงการมาที่ลูกหนี้ที่ชำระขั้นต่ำหรือไม่ นายปรีดีกล่าวว่า เป็นปัญหาคนละช่วง เพราะการชำระขั้นต่ำเป็นการผ่อนปรนของธนาคารให้ลูกหนี้มีทางเลือก หากมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด เพื่อลูกหนี้ไม่ต้องเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาอีกรูปแบบ และหากลูกหนี้ยังไม่สามารถชำระหนี้ขั้นต่ำได้จนต้องเข้ามาเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล หลังจากนั้นโครงการนี้ก็จะเข้ามาข่วยดูว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งโครงการก็ไม่ได้ผ่อนปรนหรือให้ประโยชน์อย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าร่วมต่างๆ อีก เช่น ห้ามก่อหนี้อีกในระยะเวลา 5 ปีและต้องเข้าอบรมต่างๆ อีก ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำให้คนอยากมาเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเพื่อรับประโยชน์จากโครงการนี้

นายทีบอร์ พานดิ กรรมการสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบสำคัญของสถาบันการเงินที่จะต้องก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบและครบวงจร ควบคู่กับการให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคารยังต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยเสริมสร้างการกู้ยืมที่รับผิดชอบมากขึ้น ในขณะที่ลูกหนี้เองก็จะต้องเพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการเงินของตนเอง ไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนของหนี้สินอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (SAM) โทรศัพท์ 0-2610-2266 หรือสมัครที่เว็บไซต์ www.debtclinicbysam.com หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com

คลินิกแก้หนี้

หากคุณเป็นพนักงานบริษัท ที่มีบัตรเครดิตหลายใบเพื่อใช้หมุนเงิน และมีหนี้หลายแสนบาท เครียดกับการถูกทวงหนี้ทุกวัน…จะทำยังไงให้ชีวิตดีขึ้น?“คลินิกแก้หนี้” เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยคุณได้ ลูกหนี้สามารถปลดภาระหนี้สินที่มีกับเจ้าหนี้หลายรายอย่างครบวงจรและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมี SAM หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ทำหน้าที่ตัวแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับชำระหนี้ ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกหนี้ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสม เพื่อที่จะไม่ก่อภาระหนี้สินเกินตัวอีกในอนาคตหนี้บัตร หนี้บุคคล จบที่เดียว ที่คลินิกแก้หนี้หากต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ 0-2610-2266 หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com#แบงก์ชาติ #สมาคมธนาคารไทย #สมาคมธนาคารนานาชาติ #SAM #คลินิกแก้หนี้ #หนี้ครัวเรือน #หนี้เสีย #หนี้บัตรเครดิต

Posted by ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand on Thursday, November 9, 2017