ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เป้าหมายของจีนที่ต้องลงมาเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้งบางส่วน ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา คือเรื่อง “เศรษฐกิจ”
เนื่องจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเมียนมา อยู่ในจุดสำคัญของข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative(BRI) เป็นปลายทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่ใกล้ที่สุดของจีน ตามแนว “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา”
กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่จีนกำลังเจรจาพูดคุยอยู่นั้น ล้วนเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นทางผ่านของระเบียงเศรษฐกิจเส้นนี้ ที่จีนได้เริ่มต้นเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2564
……

วันที่ 1-3 เมษายน 2566 หวังหนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ประจำมณฑลยูนนาน ได้นำคณะ เดินทางมาเยือนเมียนมา มีการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวของในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการค้าขาย การลงทุน การเดินทางและขนส่งสินค้าข้ามแดน วางแผนเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างมณฑลยูนนานกับเมียนมา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านอื่นๆ
หวังหนิง ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐของเมียนมาและมณฑลยูนนาน หลายฉบับ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมฮอริซอน เลค วิว ในกรุงเนปิดอ
ก่อนเดินทางกลับ ในวันที่ 3 เมษายน 2566 หวังหนิงได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่ห้องรับรองในทำเนียบประธาน SAC เพื่อตอกย้ำบทสรุปของเรื่องราวต่างๆที่เขาเพิ่งพูดคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมา เมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น
วันที่ 30 มีนาคม 2566 ก่อนเดินทางมาถึงเมียนมา หวังหนิงเพิ่งนำคณะไปเยือน สปป.ลาว มีผลการพูดคุยระหว่างมณฑลยูนนานกับลาวที่เป็นรูปธรรม คือกำหนดวันเปิดเดินรถไฟลาว-จีน ข้ามประเทศ เที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างนครคุนหมิงกับนครหลวงเวียงจันทน์ ที่จะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน 2566
จากเดิม ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2564 รถไฟลาว-จีน วิ่งให้บริการเฉพาะในประเทศลาว ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เท่านั้น เพราะติดข้อจำกัดเรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 ของจีน…
1 สัปดาห์ ก่อนหน้าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำยูนนาน เดินทางมาเยือนเมียนมา
ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตู้ เจี้ยนฮุย นายกเทศมนตรีเมืองหลินชาง นำคณะเดินทางไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา(Myanmar Federation of Chamber of Commerce and Industry : UMFCCI) ที่นำโดย อู เอวิน ประธาน UMFCCI


จากนั้น คณะของนายกเทศมนตรีเมืองหลินชาง ได้จัดประชุมในหัวข้อ Lincang Municipal Investment Promotion ขึ้น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง โดยเชิญตัวแทนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางด้านการค้าและธุรกิจ จากทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายเมียนมา ประมาณ 60 คน เข้าร่วม
รายชื่อผู้เข้าประชุมที่สำคัญ เช่น อู ไอ่ทูน ประธานหอการค้าเมียนมา-จีน ถาน ซูฟู่ ทูตเศรษฐกิจ สถานทูตจีนประจำเมียนมา ซึ่งเคยเป็นรองประธานคณะทำงานร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าหลิงชาง-เมียนมา มาก่อน
ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยสถานทูตจีนประจำเมียนมา และ UMFCCI การนำคณะเดินทางมาเยือนเมียนมาของทีมนายกเทศมนตรีเมืองหลินชางครั้งนี้ นอกจากได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจจากหลินชางและเมียนมาแล้ว ยังมีการพูดคุยเรื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 พื้นที่ ในหลายประเด็น เช่น การเปิดประตูการค้าที่ช่องทาง “ชิงส่วยเหอ” อย่างเต็มรูปแบบ การสร้างเขตการค้าเสรีขึ้นที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ
ที่สำคัญ มีการคาดหมายว่า จะเริ่มต้นสร้างทางรถไฟ เชื่อมจากตัวเมืองหลินชางมายังด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ในปีนี้…
หลินชางเป็นจังหวัดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉานเหนือ มีด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ที่เป็นประตูการค้าระหว่างจีนและเมียนมา ที่สำคัญเป็นลำดับสอง รองจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ประตูการค้าชายแดน “เมียนมา-จีน” ที่ใหญ่ที่สุด
จีนเริ่มเดินหน้า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” อย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ด้วยการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ จากท่าบก(dry port) ในเมืองหลินชาง เพื่อนำสินค้าขึ้นไปส่งยังเมืองเฉิงตู เมืองหลักของมณฑลเสฉวน ระยะทาง 1,170 กิโลเมตร
สินค้าที่ถูกขนไปพร้อมกับรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ขบวนนี้ ถูกส่งมาทางเรือในมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นบกที่ท่าเรือย่างกุ้ง จากนั้นถูกลำเลียงโดยรถบรรทุกไปตามทางหลวงหมายเลข 1 และ 3 จากกรุงย่างกุ้งขึ้นไปถึงด่านชายแดนชิงส่วยเหอ และข้ามชายแดนไปยังเมืองหลินชาง เพื่อส่งต่อไปถึงเฉิงตูโดยทางรถไฟ
“ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ใช้การขนส่งสินค้าแบบผสมผสาน“เรือ-รถ-รถไฟ” มีเมืองหลินชางเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นชุมทางหลัก
จากจุดเริ่มต้นที่เมืองหลินชาง มีเส้นทางมุ่งหน้าลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า พื้นที่ชายแดนที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉาน(โปรดดูแผนที่ประกอบ)

เมื่อข้ามพรมแดนจีน-เมียนมาที่ช่องทางชิงส่วยเหอ ในเขตปกครองตนเองโกก้าง มีถนนหมายเลข 34 ที่จะนำไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3(ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์) ที่เมืองแสนหวี
จากนั้นก็เข้าสู่โครงข่ายเส้นทางคมนาคมหลักของเมียนมา ที่มีเส้นทางต่อไปถึงมัณฑะเลย์ กรุงเนปิดอ กรุงย่างกุ้ง ชายแดนเมียนมา-อินเดีย ในภาคสะกาย และริมชายหาดของมหาสมุทรอินเดีย ที่รัฐยะไข่…
ที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ เมื่อลงมาตามถนนหมายเลข 34 เพื่อไปยังเมืองแสนหวี ยานพาหนะทุกคัน ต้องข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงเสียก่อน
สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่กุ๋นโหลงเป็นสะพานเก่าแก่ และยังได้รับความเสียหายจากเหตุไม่สงบเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อกองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพตะอั้ง(TNLA) กองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน(AA) ซึ่งรวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่าต่อเนื่องเกือบ 1 เดือนเต็ม ในหลายพื้นที่ของรัฐฉาน รวมถึงที่เมืองกุ๋นโหลงและแสนหวี
สะพานแห่งนี้ จึงเป็นเหมือนคอขวดในการขนส่งสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ระหว่างชายแดนชิงส่วนเหอ กับกรุงย่างกุ้ง หรือรัฐยะไข่


เดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลจีนได้ช่วยเหลือสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงให้ใหม่ ด้านข้างเกือบคู่ขนานไปกับสะพานเก่า
สะพานใหม่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 137 ล้านหยวน หรือประมาณ 685 ล้านบาท เป็นสะพานคอนกรีต เฉพาะตัวสะพานยาว 286 เมตร กว้าง 12 เมตร รองรับน้ำหนักรถบรรทุกสูงสุด 75 ตันต่อคัน เมื่อรวมกับถนนที่สร้างขึ้นใหม่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ระยะทางสำหรับก่อสร้างสะพานใหม่แห่งนี้ ยาวรวม 4.2 กิโลเมตร
เมื่อเริ่มต้นก่อสร้าง รัฐบาลจีนประเมินไว้ว่าสะพานแห่งใหม่ต้องใช้เวลาสร้าง 36 เดือน หรือประมาณปลายปี 2566 จึงจะเสร็จสมบูรณ์
วันที่ 7 มีนาคม 2566 ถาน ซูฟู่ ทูตเศรษฐกิจ สถานทูตจีนประจำเมียนมา อดีตรองประธานคณะทำงานร่วมด้านเศรษฐกิจการค้าหลิงชาง-เมียนมา นำคณะเดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินแห่งใหม่ ที่เมืองกุ๋นโหลง

วันที่ 14 มีนาคม 2566 สถานทูตจีนประจำเมียนมา เผยแพร่ข่าวของสะพานแห่งนี้ว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 87% คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้…
“ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ไม่ได้มีเฉพาะเส้นทางคมนาคม “หลินชาง-ชิงส่วยเหอ-กุ๋นโหลง-แสนหวี-มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง” ที่เป็นรูปแบบการคมนาคมผสมผสาน “เรือ-รถ-รถไฟ” เส้นนี้สายเดียวเท่านั้น
โครงการหลักที่ถูกวางไว้ก่อนหน้านั้นนานแล้ว คือการสร้างทางรถไฟ ที่เชื่อมจากเมืองหมู่เจ้ ประตูการค้าที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและเมียนมา ในรัฐฉานเหนือ ผ่านมัณฑะเลย์ ลงไปสู่ปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่
โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก “หมู่เจ้-มัณฑะเลย์” ยาว 431 กิโลเมตร กระทรวงขนส่งทางราง เมียนมา เซ็นบันทึกความเข้าใจ(MOU) ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีนเป็นผู้ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561 ถัดมา ปี 2562 เริ่มมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ สำรวจ เก็บข้อมูล ประชุมชี้แจงต่อชาวบ้าน เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวลล้อมและสังคม
โครงการช่วงที่ 2 “มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว” กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เซ็น MOU ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เข้ามาสำรวจความเป็นไปได้เพื่อสร้างทางรถไฟช่วงนี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารไม่ถึงเดือน
จากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับทางรถไฟสายนี้ ก็เงียบไป

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 Frontier Myanmarมีรายงานว่า หลังการรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่าได้เริ่มเดินหน้าโครงการรถไฟ“หมู่เจ้-มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว” ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ขึ้นแล้วอย่างเงียบ ๆ
ตามข่าวของ Frontier Myanmar รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ของโครงการรถไฟช่วง “หมู่เจ้-มัณฑะเลย์” ได้รับอนุมัติแล้วในปี 2565
มีการเสนอภาพการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ของการรถไฟเมียนมา กับเจ้าหน้าที่ China Railway Eryuan Engineering Group เกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดย Frontier Myanmar ระบุว่าเป็นภาพที่ปรากฏอยู่ในชุมชนออนไลน์ของจีน
รวมถึงมีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากการรถไฟเมียนมารายหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา และบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อพิจารณาแนวเส้นทางช่วงมัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว และกำหนดว่าทางรถไฟช่วงนี้ ต้องผ่านเมืองใดบ้าง

Frontier Myanmar ได้ทำแผนที่คร่าวๆระบุพื้นที่ต่างๆที่ทางรถไฟต้องผ่าน ตั้งแต่ต้นทางที่หมู่เจ้ ลงมาถึงปลายทางที่เจ้าก์ผิ่ว โดยรายชื่อเมืองที่เส้นทางรถไฟผ่าน มีดังนี้(ดูแผนที่ประกอบ)
-หมู่เจ้ ชายแดนเมียนมา-จีน ในรัฐฉานเหนือ
-เมืองน้ำผักกา อำเภอก๊ตขาย จังหวัดหมู่เจ้ รัฐฉาน
-เมืองแสนหวี จังหวัดล่าเสี้ยว รัฐฉาน
-เมืองล่าเสี้ยว จังหวัดล่าเสี้ยว รัฐฉาน
-เมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน
-เมืองมัณฑะเลย์ ภาคมัณฑะเลย์
-เมืองหญ่องอู ภาคมัณฑะเลย์ ที่ตั้งของอาณาจักรโบราณพุกาม
-เมืองมะกวย ภาคมะกวย
-เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่
……
จากไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อผลักดันเดินหน้า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ในช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กับกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มในเมียนมา ของเติ้ง ซีจุน ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อปลายปี 2565
ทั้ง 2 เรื่องนี้ มีความสอดคล้องกัน…