
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.”
หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหาจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ (pick–up Counter) ของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “บอร์ด ทอท.” ที่ให้ ทอท.เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะด้วยตนเอง คู่ขนานกับการคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวมาให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ โดยทั้ง 2 รูปแบบมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย ได้ใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมกัน
การเปิดขายซองประมูลจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2562 ปรากฏว่าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีผู้มายื่นซองเข้าร่วมมูลรายเดียว จึงเกิดคำถามตามมาว่า ทำไม ทอท.ต้องเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวมาทำจุดส่งมอบสินค้า ทั้งๆ ที่ ทอท.ก็เปิดให้บริการอยู่แล้ว ทอท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อยเพียงใดจากนโยบายเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรคู่ขนาน 2 รูปแบบ แล้ว ทอท.ให้บริการเองโดยไม่ต้องเปิดประมูลไม่ได้หรือ?
ต่อเรื่องนี้ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้กล่าวถึงที่มาของบริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ทอท.ไม่เคยเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่เป็นสาธารณะ เนื่องจากบริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ถูกจับรวมเข้าไปอยู่ในสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปที่ต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าที่นี่ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับสัมปทานก่อนถึงจะทำได้
ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ทอท.ได้แยกบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรออกมาเปิดประมูลร่วมกับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรเมื่อปี 2555 ผู้ชนะการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีตอนนั้นจึงได้รับสิทธิในบริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรไปด้วย ดังนั้น บริการจุดส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จึงมีลักษณะเป็น “single use” กล่าวคือ เป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปจะมาขอใช้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรก็ทำไม่ได้อีก
ต่อมา ในปี 2557 ทอท.ก็ได้แยกบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานภูเก็ตออกมาประมูลต่างหาก โดยมีเงื่อนไขผู้ที่ชนะการประมูล ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นๆ มาใช้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้ด้วย หรือที่เรียกว่า“common use” ปัจจุบันมีร้านค้าปลอดอากรในเมืองมาใช้บริการประมาณ 10 ราย แต่อย่างไรก็ตาม โมเดลจุดส่งมอบสินค้าสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง โดยกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองบางรายมองว่า การให้ผู้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานภูเก็ตทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วย อาจจะทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปที่มาใช้บริการส่งมอบสินค้าฯ เสียเปรียบ โดยมองว่า ผู้รับสัมปทานหรือผู้บริการจุดส่งมอบสินค้าฯ อาจจะล่วงรู้ข้อมูลทางการค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันทางการค้ากัน
จากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเปิดจุดส่งมอบสินค้าตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าบริการส่งมอบสินค้าลอดอากรมีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือมีทั้งรูปแบบ single use และ common use ที่ยังติดปัญหาเจ้าของสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าอาจล่วงรู้ข้อมูลความลับทางการค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่มาใช้บริการ
ช่วงต้นปี 2562 คณะกรรมการ ทอท.มีมติเห็นชอบ แนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานของ ทอท. โดยให้แยกเป็น 3 สัญญาใหญ่ คือ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (retail, f&b, service และ bank) และกิจการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) ออกจากกัน โดยเน้นให้เปิดกว้าง มีการแข่งขันกันอย่างเสรี
“หลังจากบอร์ด ทอท.มีนโยบายเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เราจะถอยหลังลงคลองหรือกลับไปทำเหมือนเดิมคงไม่ได้แล้ว แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของข้อมูลทางการค้า แล้วจะทำอย่างไร ทอท.จึงตัดสินใจเปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรทั้ง 2 รูปแบบคู่ขนานกันไป ถ้าผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายใดไม่อยากให้ใครล่วงรู้ข้อมูลทางการค้าก็มาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะของ ทอท.” ดร.นิตินัยกล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า ทอท.จะได้ประโยชน์จากการเปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าทั้ง 2 รูปแบบมากน้อยแค่ไหน ดร.นิตินัยกล่าวว่า หาก ทอท.ไม่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะเอง โดยเลือกใช้วิธีเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวมาให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ แน่นอน ทอท.ย่อมได้รับผลตอบแทนสูง แต่จะได้รับผลตอบแทนจากผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเลือกทำทั้ง 2 รูปแบบคู่ขนานกันไป ทอท.จะมีรายได้ 2 ช่องทาง คือ
ช่องทางที่ 1 ได้รับผลตอบแทนจากผู้ที่ชนะการประมูลจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในอัตราไม่เกิน 5% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ซึ่ง ทอท.อาจจะเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ชนะประมูลต่ำกว่า 5% เล็กน้อย โดยผู้ประมูลจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้กับ ทอท.ด้วย ทั้งนี้ ทอท.จะอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนกับร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปที่มาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าของผู้ชนะการประมูลได้ไม่เกิน 5% ยกตัวอย่าง ทอท.เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทาน 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ผู้รับสัมปทานจะไปเก็บค่าบริการต่อจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่มาใช้บริการได้ไม่เกิน 5%
ช่องทางที่ 2 ทอท.เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วยตนเอง ช่องทางนี้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทั่วไปที่ไม่ต้องการให้ใครล่วงรู้ข้อมูลทางการค้า โดย ทอท.จะเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่ายในอัตรา 5% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่มาส่งมอบ
“สรุปการเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรคู่ขนานทั้ง 2 รูปแบบ จะทำให้ ทอท.มีช่องทางในการหารายได้จากบริการดังกล่าว 2 ช่องทาง ช่องทางแรก ทอท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทานไม่เกิน 5% ช่องทางที่ 2 ทอท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่มาใช้บริการส่งมอบสินค้า 5% ซึ่งช่องทางที่ 2 นี้เปรียบเสมือนน้ำซึมบ่อทราย ทอท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน 5% ของมูลค่าสินค้า ทุกครั้งที่ผู้ประกอบการร้านการปลอดอากรในเมืองทั่วไปมาใช้บริการส่งมอบสินค้าที่นี่” ดร.นิตินัยกล่าว

ดร.นิตินัยกล่าวต่อว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการหารือกันในบอร์ด ทอท.แล้ว ถ้า ทอท.ไม่เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าฯ เอง เลือกใช้วิธีการเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียว แน่นอนการแข่งขันก็ต้องดุเดือด เพราะมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง หากไม่มีบริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแล้ว ก็ไม่รู้จะไปส่งมอบสินค้ากันที่ไหน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการให้ใครล่วงรู้ข้อมูลทางการค้า ดังนั้น ทอท.จึงเปิดให้บริการทั้ง 2 รูปแบบคู่ขนานไป แต่พอเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ผลปรากฏรอบแรกมีผู้มาซื้อซองประมูลเพียง 1 ราย ขณะนี้ ทอท.กำลังเปิดประมูลใหม่อีกรอบ
“หากผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายใดที่มีฐานะการเงินดีหน่อย ไม่อยากจะเสียค่าบริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้กับ ทอท.ครั้งละ 5% ของมูลค่าสินค้า ก็เข้ามาลงประมูลแข่งขันกัน แต่จะต้องการันตี โดยยื่นข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่จะจ่ายให้กับ ทอท.ปีละเท่าไหร่ ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายย่อยๆ ที่ส่งมอบสินค้าปลอดอากรมูลค่า 10,000-20,000 บาทต่อครั้ง เข้ามาประมูลแข่งขัน คงไม่คุ้ม ทอท.ก็เปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถมาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าฯ ของ ทอท.ได้ เสียค่าบริหารแบบเหมาจ่ายครั้งละ 5% การเปิดทั้ง 2 ออปชันให้เลือกแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการรายย่อยสู้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ ร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายย่อยๆ ก็ไม่เกิด ขณะนี้ก็มีผู้สนใจเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองเป็นจำนวนมาก ทอท.คาดว่าการเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรคู่ขนาน 2 รูปแบบจะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้น” ดร.นิตินัยกล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า ทอท.เลือกเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วยตนเองอย่างเดียวได้หรือไม่ ทำไมต้องเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการรายเดียวมาให้บริการจุดส่งมอบสินค้าฯ ด้วย ดร.นิตินัยกล่าวว่า ประเด็นนี้ก็เคยมีการหารือกันในบอร์ด แต่ถ้ามีข้อโต้แย้งว่าถ้าระบบของ ทอท.ล่มขึ้นมาจะทำอย่างไร แต่ตนก็เชื่อว่า ทอท.มีศักยภาพที่จะทำเองได้ ถ้าระบบของ ทอท.ล่ม ทอท.ก็ยังมีออปชันที่ 2 โดยผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองก็ยังสามารถไปใช้บริการส่งมอบสินค้ากับผู้รับสัมปทานส่งมอบสินค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง
และคำถามที่ว่าผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองบางรายยังมีความกังวลเรื่องสถานที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ ทอท.ทำเองนั้นจะอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดีและมีความสะดวกสบายเช่นเดียวกับจุดส่งมอบสินค้าฯ ของผู้รับสัมปทานหรือไม่ ดร.นิตินัยยืนยันว่า “จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรของ ทอท.จะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้รับสัมปทาน”