ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “วิษณุ เครืองาม” สั่ง AOT แจงผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ “เลือกปฏิบัติ” จุดส่งมอบสินค้า ผูกขาด “ดิวตี้ฟรีในเมือง”

“วิษณุ เครืองาม” สั่ง AOT แจงผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ “เลือกปฏิบัติ” จุดส่งมอบสินค้า ผูกขาด “ดิวตี้ฟรีในเมือง”

25 เมษายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หารือภาคเอกชนเกาหลีใต้ ระหว่างร่วมประชุม ASEAN-ROK CEO Summit ที่นครปูซาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557
ที่มาภาพ: prachatai.com/journal/2014/12/56948

หลังจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ ผผ 08/373 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจ้งผลการวินิจฉัย กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียวตั้งจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ในอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ปิดกั้นเสรีทางการค้า ไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0401.7/3939 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 เรื่อง แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยขอให้ ทอท. จัดทำรายงานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป

ต่อกรณีดังกล่าว ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ติดต่อนายนิตินัยเพื่อขอสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงรับสายแทน แจ้งว่าท่านกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ติดภารกิจ ขอให้แจ้งประเด็นที่ต้องการสอบถาม พร้อมชื่อ เพื่อติดต่อกลับไปภายหลัง

ขณะที่นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ทอท. ให้สัมภาษณ์ TNN24 ว่า “ก่อนเปิดประมูลพื้นที่สัมปทานในสนามบิน ผู้ร่วมประมูลก็ทราบกันดีว่าใน TOR กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้เดียวที่มีกรรมสิทธิในพื้นที่นั้น ส่วนพื้นที่อื่นที่เหลือไม่สามารถอนุญาตให้รายอื่นได้ เนื่องจากการให้สัมปทานนี้เป็นการให้สิทธิอนุญาตในการบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพราะฉะนั้น กิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นจะมาขอใช้พื้นที่ ถ้าอยู่ในขอบเขตของงาน ทอท. ให้ไม่ได้ เพราะติดสัญญาอยู่ มิฉะนั้น บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ก็จะฟ้อง ทอท. เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยพิพาทกันเมื่อปี 2550”

อนึ่ง ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทล็อตเต้ฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามคำเชิญของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงที่เดินทางไปเยือนประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 19 ธันวาคม 2557 บริษัทล็อตเต้ฯ ทำหนังสือถึง ทอท. ขอเช่าพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า ปรากฏว่าท่าอากาศยานดอนเมือง ทำหนังสือแจ้งบริษัทล็อตเต้ฯ ว่าไม่สามารถจัดหาพื้นที่ให้ได้ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้แจ้งผลการพิจารณา ทางบริษัทล็อตเต้ฯ จึงร้องเรียนผ่านสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยกรณี ทอท.ให้สัมปทานแก่เอกชนรายเดียวกันได้รับสัมปทาน โดยวิธีการประมูลไปแล้ว ทั้งที่ ทสภ. และ ทดม. เป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายดังกล่าว ผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง เป็นการเลือกปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ผู้บริหารของ ทอท. และกรมศุลกากร มาไต่สวนประเด็นที่เป็นปัญหาข้อพิพาท ภายหลังการประชุมครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า ใน TOR โครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์มีข้อยกเว้นไม่รวมถึงการดำเนินงานร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ซึ่งกรมศุลกากรให้ความเห็นว่า “จุดส่งมอบสินค้าถือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรที่ ทอท. สามารถดำเนินการได้เองบริเวณพื้นที่ที่เป็นของ ทอท. ดังนั้น จึงขอให้ ทอท. กลับไปศึกษาว่าจะสามารถกำหนดจุดส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นบริการสาธารณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นสามารถส่งมอบสินค้า ณ จุดที่ ทอท. กำหนดได้หรือไม่ เพราะการมีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะจะเป็นประโยชน์ต่อ ทอท. ประชาชน และประเทศในภาพรวม” จากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 08/1867 แจ้งผลมติที่ประชุมส่งให้ ทอท. รับทราบอีกครั้ง ปรากฏว่า ทอท. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

จนกระทั่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 08/370 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ถึงนายกรัฐมนตรี, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย แจ้งผลการวินิจฉัยว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน, จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน”

ผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้ นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงที่มาของสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่บริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และโครงสร้างการประกอบธุรกิจของดิวตี้ฟรีของสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งแล้ว ยังตรวจพบว่า ที่ผ่านมา ทอท. เคยอนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง มาเช่าพื้นที่กับ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าบริเวณห้องรับรองผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศของบริษัทการบินกรุงเทพ ชั้น 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีความเห็นว่า ในกรณี ทอท. กล่าวอ้างว่าได้ให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้ตั้งจุดส่งมอบสินค้า มีลักษณะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า