ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำไม!! จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ไม่มีใครอยากเข้าประมูล

ทำไม!! จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ไม่มีใครอยากเข้าประมูล

3 มกราคม 2020


เมื่อเร็วๆนี้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ประกาศประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยกำหนดขายเอกสารการยื่นข้อเสนอการดำเนินงานงานดังกล่าวในวันที่ 28 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2562 ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้าประมูลเพียงรายเดียว

คำถาม…ทำไม?และทำไม?

เงื่อนไข-รูปแบบการประมูล เคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร

การเปิดประมูลดังกล่าว กำหนดให้การบริหารเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร(Duty Free Pick-up Counter) จะต้องให้บริการแบบคู่ขนานใน 2 รูปแบบ ที่

    1.จะเปิดให้ผู้ประกอบการนำสินค้าปลอดอากรฟรีที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง มาส่งมอบในสนามบินได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

    2.โดยทอท.จะดำเนินการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วยตัวเอง คู่ขนานไปกับการให้สิทธิเอกชนให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว เพื่อให้บริการสาธารณะ(Common Use ) โดยสามารถให้ผู้ประกอบร้านค้าปลอดอากรในเมืองมาใช้บริการได้ด้วย

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 รูปแบบ AOT จะจัดเก็บค่าบริการในอัตราที่เท่ากัน คือ ไม่เกิน5% ของราคาสินค้า ซึ่งเอกชนต้องส่งรายได้ให้ AOT 3% อีก 2% เป็นต้นทุนค่าบริหารจัดการและกำไร

“Public Pick-up Counter” หรือ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ”

“Pick-up Counter” หรือ “จุดส่งมอบสินค้า” ถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 ได้กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองเอาไว้ที่อยู่บริเวณภายในสนามบิน ดังนั้น ในการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากร Duty Free โดยสากลปฎิบัติ เขาจะกำหนดจุดส่งมอบสินค้าที่เป็นกลางและเพียงจุดเดียวซึ่งเรียกขานกันว่า “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” “Public Pick-up Counter” และกำหนดให้ third party ให้เป็น Operator เดียวบริหารจัดการ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” “Public Pick-up Counter” ทั้งหมด ไม่นั้น หากมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษี 10 ราย เรามิต้องมีจุดส่งมอบสินค้าถึง 10 แห่ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองและอยากแก่การที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมดูแล

ตามหลักการดังกล่าวนี้ AOT ควรผู้ที่รับผิดชอบดูแลบริเวณ จุดส่งมอบสินค้า ภายในสนามบินหรือบริเวณที่กรมศุลกากรกำหนด ทำหน้าที่เป็น Operator และถ้า AOT. ไม่ทำ AOT ก็ควรมอบหมายให้นิติบุคคลเป็นที่กลาง ทำหน้าที่แทน ไม่ควรมอบหมายให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายหนึ่งรายใดทำหน้าที่เป็น Operator อย่าลืมว่าเวลาลูกค้าไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง สินค้าปลอดอากรจะถูกใส่ไว้ในถุงใสๆ ส่งมาวางไว้ที่ Pick-up Counter ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็น Operator ก็จะล่วงรู้ข้อมูลทางธุรกิจของคู่แข่งขันทางการค้าทุกรายที่นำสินค้ามาวางไว้ที่ Pick-up Counter ร้านไหนขายสินค้าอะไรไปบ้าง สินค้าไหนขายดี ราคาเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลทางการตลาด หากคู่แข่งขันล่วงรู้ข้อมูลเหล่านี้ อาจจะทำให้ฝั่งตรงข้ามเสียเปรียบได้”

แล้วทำไมต้องเปิดประมูล คู่ขนานกับ จุดบริการของ AOT ซึ่งเป็นสาธารณะ

การที่ AOT ให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นลักษณะแบบ “Public Pick-up Counter” หรือ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” เป็นเรื่องที่ดีและเป็นกลาง ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองสามรถใช้บริการได้

แต่มีคำถามว่าทำไม AOT ต้องเปิดประมูลให้ผู้ประกอบร้านค้าปลอดอากรมาประมูลให้สิทธิเอกชนให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรเพียงรายเดียวคู่ขนานกับ จุดบริการของ AOT ซึ่งเป็นสาธารณะอยู่แล้ว เพื่ออะไร?

AOT จะอ้างว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบร้านค้าปลอดอากรเพราะอาจมีผู้ประกอบการบางคนที่ไม่อยากให้คนอื่น ทราบข้อมูลทางการค้าของตนเอง ก็มาใช้บริการเคาน์เตอร์ของ AOT ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย ถ้าไม่เปิดประมูลให้สิทธิเพียงรายเดียว แล้วผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย มาใช้บริการกับ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” ที่ AOT จะให้บริการ แล้ว AOT จัดเก็บค่าบริการในอัตราที่เท่ากัน คือ ไม่เกิน5% ของราคาสินค้า ก็เป็นธรรม ทำไมจะต้องให้เอกชนมาประมูลเพียงรายเดียวโดยให้เอกชนต้องส่งรายได้ให้ AOT เพียง 3%

หากมีผู้ประกอบการสนใจใช้บริการ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” ที่ AOT จะให้บริการ เพียงรายได้ นอกเหนือจากให้เอกชนเพียงรายเดียวประมูลไป AOT จะมีรายได้เพียงพอกับการบริหารจัดการหรือไม่

“Public Pick-up Counter” หรือ “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” ควรมีเพียงจุดเดียวที่ AOT เป็นผู้บริหารจัดการ ก็เพียงพอแล้ว ทำไมต้องเปิดประมูลให้เอกชนเพียงรายเดียว คู่ขนานกับ AOT หรือ มีเหตุผลอื่นที่ประชาชนอย่างเราเราไม่รู้

นี่อาจจะเป็นคำตอบว่า ทำไมถึง มีผู้สนใจประมูลเพียงเจ้าเดียว

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน
  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย
  • นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”
  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี