ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย

“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย

12 ธันวาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยพร้อมข้อเสนอแนะส่งถึงบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ให้พิจารณาดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1. ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแก่ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถประกอบกิจการได้ หรือ 2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (คู่สัญญา) จัดหาพื้นที่เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินยืนคำวินิจฉัย ชง “บิ๊กตู่” สั่ง AOT จัดพื้นที่สนามบิน เปิด “จุดส่งมอบสินค้ากลาง”
  • กลุ่มธุรกิจ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” 17 บริษัท สินทรัพย์รวม 8.9 หมื่นล้าน รายได้ 1.1 แสนล้าน/ปี กำไรกว่าหมื่นล้าน
  • ต่อมา ทอท. ได้ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 โดยแจ้งว่า ทอท. ได้ทำเรื่องขอความร่วมมือเรื่องการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ปรากฏว่าระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร แต่ ทอท. ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินงานให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับทราบ ทางสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินจึงออกหนังสือเร่งรัดให้ ทอท. แจ้งผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 15 วัน นับจากได้รับหนังสือ

    ล่าสุด พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ ผผ 10/1745 ลงวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ถึงนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เพื่อแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากที่ได้รับการชี้แจงจาก ทอท. ว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ไม่สามารถให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาประกอบกิจการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามที่ ทอท. ขอความร่วมมือได้ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ได้รับสิทธิในโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามสัญญาที่ ทสภ. 1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งปัจจุบันสัญญายังมีผลบังคับใช้อยู่ และเงื่อนไขของสัญญา ข้อ 2 กำหนดให้บริษัทเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้บริหารโครงการแต่เพียงรายเดียว ดังนั้น จึงย่อมเป็นสิทธิโดบชอบของบริษัทที่จะบริหารจัดการใดๆ ภายใต้สิทธิ และข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่สัญญากำหนดไว้ การยินยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาดำเนินการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ส่งผลกระทบโดยตรงกับประมาณการต่างๆ ที่บริษัทได้ยื่นเสนอค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. บนพื้นฐานของการได้รับสิทธิในการเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบริษัท และเป็นการละเมิดเงื่อนไขสัญญา หากมีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าว ขอสงวนสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการใช้สิทธิทางศาล เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิโดยชอบของบริษัท”

    พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
    ที่มาภาพ: www.ombudsman.go.th/

    จากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอแนะให้ ทอท. ดำเนินการตามผลการประชุมหารือข้างต้น เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดธุรกิจสินค้าปลอดอากร กรณีที่ ทอท. แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยแล้วว่า การซื้อขายสินค้าจากร้านค้าปลอดอากร เมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคา ณ ร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในเมืองแล้ว ถือว่าการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เหลือเพียงการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น โดยต้องส่งมอบสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าที่ตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานหรือสนามบินหลังการตรวจประทับตราหนังสือเดินทางตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469

    ดังนั้น จุดส่งมอบสินค้าจึงเป็นเรื่องของการให้บริการส่งมอบสินค้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าแต่อย่างใด กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้ ทอท. ประสานกับบริษัท เพื่อให้บริการจุดส่งมอบสินค้าแก่ผู้ประกอบการรายอื่นที่ประสงค์จะใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าของบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยบริษัทก็จะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการจากผู้ประกอบการรายอื่นที่มาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าของบริษัท เป็นผลดีกับบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น มิได้เกิดผลกระทบหรือละเมิดเงื่อนไขสัญญาตามที่บริษัทกล่าวอ้าง

    ขณะเดียวกัน ทอท. ก็จะมีรายได้จากผลประกอบการของบริษัทตามเงื่อนไขของสัญญาที่บริษัทกล่าวอ้าง กรณีดังกล่าวเป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้เข้มแข็ง ป้องกันการผูกขาดธุรกิจสินค้าปลอดอากร เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

    การที่ ทอท. ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยไม่มีเหตุผลอันควร จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 กำหนดให้นำความในมาตรา 33 วรรค 2 กำหนดว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

    ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร ตามบทบัญญัติดังกล่าวต่อไปแล้ว

    ด้านนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย กล่าวว่า “หลังจากที่ตนได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำวินิจฉัย กรณีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ขณะนี้คงต้องขอดูท่าทีของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก่อนว่าจะพิจารณาสั่งการอย่างไรต่อไป”