ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”

นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”

2 มกราคม 2020


ชงครม.เห็นชอบ เปิดจุดส่งมอบสินค้าฯทั้ง 2 แนวทาง “AOT ทำเอง – ให้เอกชนบริหาร” ภายใต้เงื่อนไข “ดิวตี้ฟรีในเมือง” ทุกรายใช้ร่วมกัน

ในที่สุดที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรณีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยร้องเรียนให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ นางนฤมล ภิญโญสินวัตร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของของคณะกรรมการ ทอท. กรณีสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาร้องเรียนให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ดังนี้

ภายหลังจากสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และสัญญาเช่าพื้นที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสิ้นสุดในวันที่ 23 กันยายน 2563 และสัญญาอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยทอท.จะเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ 2 รูปแบบ คือ 1. ทอท.เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะด้วยตนเอง และ 2. ทอท.ให้สิทธิเอกชนให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบสาธารณะ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้

นอกจากนี้ในการบริหารสัมปทานประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ครั้งถัดไป จะแบ่งออกเป็น 3 สัญญาใหญ่ คือ 1. สัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 2. สัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ 3. สัญญาสัมปทานให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยให้มีการแข่งขันอย่างเสรี

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 มีมติอนุมัติ ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ติวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการ ส่วนกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร,กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ เช่นกัน

  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี
  • เหตุที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. สืบเนื่องมาจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 33 วรรค 2 ระบุว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ (ทอท.ไม่สามารถเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน) ในผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว” ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ได้ดำเนินการมาแล้ว จึงเข้าข่ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 มาตรา 4 (1) ระบุว่า “การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ให้เสนอได้เฉพาะเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี”ดังนั้น จึงเห็นควรนำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา

    อนึ่ง ความเป็นมาของเรื่องนี้ เริ่มต้นช่วงปลายปี 2557 บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ยื่นคำร้องต่อกรมศุลกากร ขอเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง

    เจ้าหน้าที่ศุลกากร บอกให้ผู้ยื่นคำร้อง ต้องระบุพื้นที่ในการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) ในสนามบินนานาชาติด้วย บริษัท ล็อตเต้ ฯ จึงทำหนังสือไปถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขอเช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ท่าอากาศยานดอนเมืองอ้างพื้นที่แออัดมาก จึงตอบปฏิเสธ ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ตอบกลับ จึงมาร้องเรียนนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

    ช่วงปี 2558 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงเดินสายชี้แจงหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันเสรี

    ปรากฏเรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด วันที่ 25 เมษายน 2559 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงยื่นหนังสือถึงนายศรีวราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกระบวนการขออนุญาตเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจบางรายหรือไม่ รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

    ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงเกือบ 1 ปี วันที่ 27 มีนาคม 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งผลการวินิจฉัยต่อสมาคมการค้าร้นค้าปลอดอากรว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ เป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน , จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน

    ช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม 2560 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง ขอให้พิจารณาสั่งการ ทอท.จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 12 ตุลาคม 2560 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม และทอท. พิจารณา แต่ก็ไม่ผลคืบหน้าแต่ประการใด

    วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ให้จัดทำรายงานเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นวาระเร่งด่วน ตามาตรา 12 , มาตรา 33 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ 2552หลังจากที่ได้รับแจ้งจากทอท.ไม่สามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้

    หลังผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานเรื่องร้องเรียนไปถึงสนช.แล้ว ปรากฎเรื่องเงียบหาย วันที่ 26 มกราคม 2561 สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงไปยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ขณะนั้น ขอให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ นำเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณา เป็นวาระเร่งด่วน

    วันที่ 26 มีนาคม 2561 สนช.ส่งเรื่องคืนผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับใหม่

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน เชิญกระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม และทอท. มาประชุม โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นควรให้ทอท. ให้พิจารณาดำเนินการ 2 ทางเลือก คือ 1. ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแก่ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถประกอบกิจการได้ หรือ 2. ให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (คู่สัญญา) จัดหาพื้นที่เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เวลาทอท.พิจารณาภายใน 30 วัน

    วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ทอท.ทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินว่าได้ดำเนินการตามข้อที่ 2 โดยทอท.ได้ทำหนังสือถึงบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ขอความร่วมมือ จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ร่วมกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย
  • วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับแจ้งจากทอท. ทางบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้ เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงรายเดียว จึงย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของบริษัทที่จะบริหารจัดการใด ๆ ภายใต้สิทธิ และข้อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ตามกำหนดไว้ในสัญญา หากให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเปิดบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับประมาณการต่างๆ ตามที่บริษัทได้ยื่นเสนอค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบริษัท และเป็นการละเมิดเงื่อนไขสัญญา หากมีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสัญญา หรือข้อตกลงดังกล่าว ขอสงวนสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการใช้สิทธิทางศาล เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิโดยชอบของบริษัท”

    ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้ ทอท. ประสานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้ ส่วนบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ ก็จะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม และค่าบริการจากผู้ประกอบการรายอื่น เป็นผลดีกับบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น มิได้เกิดผลกระทบหรือละเมิดเงื่อนไขสัญญาตามที่บริษัทได้กล่าวอ้าง

    ส่วน ทอท. ก็จะมีรายได้จากผลประกอบกิจการดังกล่าว และเป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้เข้มแข็ง ป้องกันการผูกขาดธุรกิจสินค้าปลอดอากร เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

    การที่ ทอท. ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยไม่มีเหตุผลอันควร จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 กำหนดให้นำความในมาตรา 33 วรรค 2 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

    ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 33 วรรค 2 โดยลงนามอนุมัติให้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ