ThaiPublica > คนในข่าว > “ นิตินัย ศิริสมรรถการ ” ผอ.ทอท. ไขปม”แดนสนธยา” – ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร “เปิดเสรี” หรือ “ผูกขาด”

“ นิตินัย ศิริสมรรถการ ” ผอ.ทอท. ไขปม”แดนสนธยา” – ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร “เปิดเสรี” หรือ “ผูกขาด”

22 มกราคม 2016


หลังจากที่นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า “กรณีการเช่าพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรจาก ทอท. ไม่ใช่สัมปทานผูกขาด และการขออนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมือง รัฐบาลเปิดเสรีมานานแล้ว”

ขณะที่นางรวิฐา พงศ์นุชิตนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ตัวแทนผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และร้านค้าปลอดอากรจากเกาหลีใต้ บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ ฟรี (ไทยแลนด์) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรที่อยู่นอกสนามบิน แต่ติดปัญหาไม่มีพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้า หรือที่เรียกว่า “Pick Up Counter” เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวต้องอยู่ในเขตพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (Duty Free Zone) ภายในสนามบินนานาชาติเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ความครอบครองของบริษัท คิง เพาเวอร์ โดยเฉพาะพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ

ท่ามกลางข้อถกเถียงข้างต้น สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สัมภาษณ์ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตลูกหม้อกระทรวงการคลัง เคยนั่งเก้าอี้รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” ก่อนจะกลับมาใหม่ในเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ดร.นิตินัยเล่าว่า การท่าฯ ทำสัญญาให้เช่าพื้นที่ในสนามบินกับร้านค้าต่างๆ ประมาณ 4,000-5,000 คู่สัญญา รวมทั้งของบริษัท คิง เพาเวอร์ ก็เป็นคู่สัญญาของ AOT รายหนึ่งที่มียอดขายมากที่สุด แต่ไม่ว่าจะมีวอลุ่มใหญ่หรือเล็ก ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาทุกราย ซึ่งตนบอกไม่ได้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก แต่ในฐานะที่เป็น Operator เป็นผู้ปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญา

ไทยพับลิก้า: คิง เพาเวอร์ เช่าพื้นที่กับ ทอท. ทั้งหมดเท่าไหร่

ถ้าเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 20,000 ตารางเมตร บวกลบเล็กน้อย เพราะบางครั้งบริษัทก็มาขออนุญาตตกแต่งพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรี เช่น ปูกระเบื้อง จึงต้องขออนุญาตเปิดร้านค้าชั่วคราวจนกว่าจะตกแต่งพื้นที่เดิมเสร็จเรียบร้อย ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการใช้พื้นที่ร้านค้าปลอดอากรของบริษัท คิง เพาเวอร์ ทาง สตง. ตรวจสอบแล้วพบว่าถูกต้องตามเงื่อนไขของสัญญา

นอกจากนี้บางกรณีก็มีหน่วยงานภายนอกทำเรื่องถึง ทอท. ขอจัดนิทรรศการหรือจัดงานศิลปาชีพต่างๆ ทาง ทอท. ต้องประสานงานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ การติดตั้งป้ายโฆษณา เช่น J-flag ขนาด 1 ตารางเมตร ก็ต้องเข้าคณะกรรมการรายได้ อะไรก็ตามที่ไม่เคยมีอยู่ในพื้นที่เดิมแล้วมาขอใช้พื้นที่ใหม่เพิ่มเติม ต้องขออนุญาต ทอท. ทุกกรณี แต่สุดท้ายแล้ว พื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรต้องเท่าเดิม บางครั้ง ทอท. ขอให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ย้ายออกจากพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร เพื่อปรับปรุงห้องน้ำ เป็นต้น

หลักในการบริหารจัดการพื้นที่ในสนามบิน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือเรื่องความปลอดภัย ยกตัวอย่าง ห้ามวางเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมดในบริเวณพื้นที่ที่ไม่มีสปริงเกอร์ดับเพลิง อันดับ 2 เป็นเรื่องทัศนียภาพ บรรยากาศ ความสวยงาม

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมามีลักษณะการย้ายร้านเพื่อปรับปรุงพื้นที่แล้วไม่ย้ายกลับที่เดิม

ย้ายมาแล้วไม่ย้ายกลับ ประการแรก ต้องดูว่าส่งผลกระทบในเรื่องของความปลอดภัยหรือเปล่า เช่น บังทางหนีไฟ ประการที่สอง ย้ายแล้วไปบดบังทัศนียภาพ ความสวยงามหรือไม่ และประการสุดท้าย จำนวนพื้นที่ที่ใช้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา อย่างที่เรียนให้ทราบ สตง. ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ถ้าไม่ถูกต้องตามสัญญาก็คงเป็นเรื่องไปแล้ว

ถ้าเข้ามาแล้วไม่ออกไป ต้องมีคำขยายความต่อ เพราะบังทางเดิน เข้ามาแล้วไม่ออกไปเลยไม่สวยงาม เข้ามาไม่ออกไปเลยบังทางหนีไฟ ถึงต้องพิจารณาได้ เขาสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ อยู่ในกรอบในสัญญา ไม่เกินพื้นที่เท่าไหร่ก็ว่าไป

ไทยพับลิก้า: สัญญาหมดปี 2558 ทอท. ต่อสัญญาให้ คิง เพาเวอร์ มาแล้ว 2 ครั้งใช่ไหม

ทอท. มี 4,000 กว่าสัญญา ทุกสัญญาทำเหมือนกันหมด ไม่ว่าสัญญาเล็ก ใหญ่ ทอท. ต่อสัญญาให้ผู้เช่าทุกรายเหมือนกันทั้งหมด 2 ครั้ง เป็นนโยบายรัฐบาลเยียวยาตอนเสื้อเหลืองเสื้อแดง เป็นมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน โดยต่อให้ทุกราย จะสิ้นสุดในปี 2563

ไทยพับลิก้า: ผลตอบแทนที่คิง เพาเวอร์ จ่ายให้การท่าฯ จ่ายอย่างไร

มันมีมินิมัมการันตีว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ อย่างกรณีสุวรรณภูมิ เป็นมินิมันการันตีที่แปลกกว่าที่อื่น คือจ่ายค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ…คือเงินเฟ้อคูณกับจำนวนผู้โดยสาร หลักการตามภาษาเศรษฐศาสตร์คือ Price and Quantity หรือ P คูณ Q กล่าวคือ ปรับค่าตอบแทนขั้นต่ำตามเงินเฟ้อบวกปริมาณที่ขาย ซึ่งต่างจากที่อื่น สูตรที่อื่นจะปรับขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป แต่ที่นี่เราแคปไม่ให้เขาขึ้นราคาสินค้า แต่ว่าเราไปเอาค่าตอบแทนขั้นต่ำเพิ่มตามเงินเฟ้อ 10 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อขึ้น เราไม่ให้เขาขึ้นราคาสินค้า แต่เราขึ้นค่าตอบแทนขั้นต่ำ

ไทยพับลิก้า: ตัวเลขที่คุณวิชัยบอกว่า 18% อีก 2 ปีข้างหน้า 20%

ใช่ครับ จ่ายตามยอดขายกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป แต่ถ้ายอดขายไม่ได้ ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำ

ไทยพับลิก้า: ยอดขายที่คิง เพาเวอร์ ขายได้ กับตัวเลขที่แท้จริงที่ส่งให้การท่าฯ ตรวจสอบอย่างไร

ในส่วนนี้คิง เพาเวอร์ เขามีระบบ Point of Sale หรือ POS มีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจ เราตรวจเอง หากมีหน่วยงานภายนอกสงสัย เช่น สตง. ก็เข้ามาตรวจสอบด้วย ไปตรวจสอบในระบบของเขา ทางคิง เพาเวอร์ เขามีระบบของเขา แต่ของการท่าฯ ยังไม่มีระบบ POS ไปลิงค์กับของคิง เพาเวอร์

ไทยพับลิก้า: ทำไม ทอท. ไม่เชื่อมโยงระบบ POS กับบริษัท คิง เพาเวอร์ เพื่อตรวจสอบยอดขายได้เลย

ระบบคอมพิวเตอร์ของการท่าฯ ยังไม่ได้ทำ ต้องลงทุน ในเชิงเทคนิค เราอยากจะลิงค์ แต่ตอนนี้ซอฟต์แวร์ยังไม่อัปเกรด เรื่องการลงทุนซอฟต์แวร์ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการรายได้ของ ทอท. แล้วว่าให้ลงทุน เพิ่งมีมติเห็นชอบแผนการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ หากถามว่าทำไมก่อนหน้าไม่ลิงค์ ก็คงต้องไปถามซีอีโอท่านเก่า ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารที่ ทอท. 8 เดือน ก็เสนอผ่านคณะกรรมการรายได้เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

ไทยพับลิก้า: POS เป็นระบบสำคัญที่จะตรวจสอบยอดขาย

ระบบมันลิงค์ แต่ถ้าสงสัยก็มีการตรวจเป็นครั้งๆ มี สตง. ตรวจเป็นระยะๆ ประเด็นอย่างที่เรียนว่า การไม่มี POS ไม่ได้เป็นเครื่องมือเดียวที่จะตรวจ ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มี POS ตายแล้ว…เราตรวจอะไรคิง เพาเวอร์ ไม่ได้ ไม่ใช่ มันเป็นแค่เทคโนโลยีที่ทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้น ดังนั้น การมี POS หรือไม่มี POS ก็มีการตรวจโดย Manual หรือมีคนมาตรวจเป็นระยะอยู่แล้ว เพียงแต่ POS เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการตรวจ ส่วนความถี่ก็ว่ากันไป บางทีก็ตรวจเป็นรายปีก่อนปิดงบ

ผมว่า POS ไม่ได้ตอบทุกอย่าง ผมเชื่อว่าความโปร่งใสชนะทุกอย่าง ถ้ามันโปร่งใส คุณอยากดูก็เข้ามาดูเลย

ไทยพับลิก้า: ในสัญญาบอกว่าให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการติดตั้งระบบตรวจสอบ

คิง เพาเวอร์ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ POS เสร็จเรียบร้อยมานานแล้ว แต่ ทอท. ไม่ได้ลิงค์เอง แต่เราจะไปว่าเขาผิดสัญญาเพราะการท่าฯ ไม่รู้จะไปทำอะไรได้ ก็ต้องทบทวนตัวเองว่าทำหรือยัง ไม่ถือว่าคิง เพาเวอร์ ผิดสัญญา

ไทยพับลิก้า: ทอท. ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ POS กับบริษัท คิง เพาเวอร์ แล้วตรวจสอบยอดขายกันอย่างไร

เจ้าหน้าที่ ทอท. รายงานหลักการทำงานของระบบ POS ของ ทอท. ทำงานอย่างไร คือ เปิดลิ้นชักนานกี่นาที แล้วไม่มีการเอาเงินออก การไม่มีเงินเข้า-ออก ถือว่าผิดปกติ ก็จะเตือนให้ไปดูกล้องวงจรปิดว่ามีการขายหรือไม่ เพราะการเปิดลิ้นชักมันต้องทอน ถ้าเปิดแล้วต้องมีการทำธุรกรรม ว่ามีการรูดการ์ด มีการทอนเงินกันในช่วงนั้น ถ้าทางซ้ายมีการเตือนว่ามีการเปิดลิ้นชัก ทางขวามาดูว่าไม่มีการทำธุรกรรม ก็ไปดูกล้องวงจรปิด นี่เป็นระบบ POS ของ ทอท. ก็เรียนว่ายังไม่ค่อยเข้าใจไอทีมาก แต่ POS ไม่ใช่สูตรสำเร็จ

ไทยพับลิก้า: ที่คุณวิชัยบอกว่ารายได้ 26 ปี 56,000 ล้านบาท เฉลี่ย 2,000 กว่าล้านต่อปีที่นำส่งให้การท่าฯ

มันขึ้นเป็นสเต็ป ปีแรกๆ อาจจะน้อยหน่อย ปีหลังๆ อาจจะเยอะ

ไทยพับลิก้า: ผลตอบแทนที่การท่าฯ ได้ถือว่าเหมาะสมแล้ว

อย่างที่เรียนว่า ถ้าคิดว่าตัวเลขมากกว่านี้ ก็เข้ามาตรวจสอบ ก็มีการเข้าตรวจสอบกันอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องไปถามคนตรวจสอบว่า เขาตรวจสอบแล้วว่าอย่างไร สตง. ก็เข้ามาสอบแล้ว ต้องไปถามท่านว่าสอบแล้วท่านว่าอย่างไร คนไม่เห็นตัวเลขก็สงสัย น่าจะอย่างนั้นน่าจะอย่างนี้ ก็อย่าน่าจะ เข้ามาดูเลย ผมว่าต้อง good governance เป็นหลัก

ไทยพับลิก้า: ในแง่รายได้ของ ทอท. มาจากไหนบ้าง

ทอท. มีรายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) กับรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues) มีสัดส่วน 60 ต่อ 40

รายได้จากกิจการการบิน 60% ของรายได้ทั้งหมด หรือ Aero เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมสนามบิน, รายได้ค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) หรือที่เรียกว่าภาษีสนามบิน และรายได้จากค่าเครื่องอำนวยความสะดวก

รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 40% ของรายได้ทั้งหมด หรือ Non-Aero ประกอบด้วย ตัวใหญ่ๆก็มาจากคิง เพาเวอร์ ค่าตอบแทนขั้นต่ำ และอีก 4,000 สัญญาที่เหลือ ก็เป็นขายในเทอร์มินัล ซึ่งจะเหวี่ยงตามนักท่องเที่ยว

ส่วนการขายที่เป็น Pure Non-Aero จริงๆ ที่สนามบินอื่นเขาทำกัน เช่น ศูนย์ประชุม สวนสนุก เรากำลังพัฒนา เรามีน้อยสัดส่วนแค่ 6-7%

แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ Non-Aero ที่เป็น Pure Non-Aero ซึ่งไม่เกาะกับกระแสการท่องเที่ยว เช่น โครงการแอร์พอร์ตซิตี้ ศูนย์ประชุม โรงแรม สวนสนุก สวนน้ำ เป็นพื้นที่ให้คนแถวนี้มาจับจ่ายใช้สอย พวกนี้ถึงวันที่นักท่องเที่ยวลดลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไร ตัว Pure Non-Aero จะเป็นตัวที่ค้ำยันรายได้ ทอท. แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า Non-Aero 40% โดย 80-90% ใน 40% นี้ยังเกาะกับนักท่องเที่ยวอยู่ดี

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ที่เป็น Pure Non-Aero ทำไปถึงไหน

จริงๆ มันต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ขอเรียกว่าแม่น้ำ 3 สาย คือ ต้องมีผู้ซื้อ ผู้ขาย และต้องมีตลาด

ในอดีตผู้ซื้อคือนักท่องเที่ยว อาจจะยังไม่เยอะ การที่ไปชวนนาย ก. นาย ข. นาย ค. มาทำห้าง เขามาดูแล้ว ก็อาจจะคิดว่าไม่คุ้ม เพราะนักท่องเที่ยวไม่เยอะ แต่ปัจจุบันองค์ประกอบนี้ครบ นักท่องเที่ยวเยอะมาก ผู้ขายคือ ทอท. เอง และก่อนหน้านี้ ทอท. มีที่ดินเยอะแยะ แต่ไม่เปิดไว้ขาย ผมมาเป็นรอง ผอ. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2553) เอาเข้าบอร์ด ให้ที่ดินว่างเปล่ามีอัตราการเข้าใช้พื้นที่ เช่น ที่เชียงราย 70 สตางค์ต่อตารางเมตร เพราะอยู่ในป่า ในเมืองอาจจะแพงหน่อย 2-3 บาทต่อตารางเมตร อันนั้นทำไว้เมื่อ 5 ปีก่อนในฝั่งผู้ขาย แต่ผู้ซื้อยังไม่มี คนยังไม่เยอะ ต่อมาก็ทำโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ แต่ขาดเรื่องตลาดที่ทำให้ผู้ขายผู้ซื้อมาเจอกัน ซึ่งไม่เจอกันเสียที เพราะส่วนใหญ่ติดเรื่องกฎหมาย

ยกตัวอย่าง ที่สนามบินดอนเมือง มีโรงแรมอมารีอยู่ตรงข้ามสนามบิน ห่างแค่สะพานลอยคนข้ามถนนประมาณ 100 เมตร เมื่อเทียบกับสุวรรณภูมิที่มีโรงแรมโนโวเทล ห่างจากสนามบินเยอะ มีที่จอดรถคั่น แต่ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรมธนารักษ์ถือว่าเป็น Non-Aero เพราะไม่ได้อยู่ในสนามบิน แต่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ ถือว่าเป็น Aero เพราะอยู่ในสนามบิน ทั้งที่อยู่ไกลกว่า

“Non-Aero กรมธนารักษ์คิดส่วนแบ่งรายได้จากเรา 50% แต่ส่วนที่เป็น Aero ธนารักษ์คิดแค่ 5% จะเห็นได้ว่า ตัวกฎเกณฑ์มีคำถามมากมายว่าทำไมโรงแรมที่เหมือนกัน ที่หนึ่งส่วนแบ่งรายได้ต่างกัน หลายคนบอกว่า ที่ตรงนี้เวนคืนมาให้ทำสนามบิน คุณมาทำโรงแรมผิดวัตถุประสงค์หรือเปล่า บางคนเปรียบเทียบกับกรณี ทางด่วน เวนคืนมาทำทางด่วนแล้ว ข้างล่างให้คนมาเตะบอล มาทำที่จอดรถ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็มีคำถามที่ถามอยู่ว่า โรงแรมเหมือนกันอยู่ตรงข้ามสนามบินดอนเมืองถูกชาร์จรายได้ 50% โรงแรมเหมือนกันแต่อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไกลกว่า ถูกชาร์ต 5% กฎเกณฑ์เหล่านี้ ต่อให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกันแล้ว ตลาดก็ไม่เอื้ออำนวยให้มีการซื้อให้มีการขาย เพราะมันยังเคลียร์ไม่ได้ว่าส่วนแบ่งรายได้จะเป็นเท่าไหร่ หลังจากที่ผมเข้ามาก็พยายามเคลียร์เรื่องกับกระทรวงการคลัง ก็มีการประชุมกันไปรอบหนึ่ง ก็มีการจ้างที่ปรึกษามาทำอยู่ พอผลการศึกษาออกมาว่าพื้นที่ไหนทำอะไรได้ อัตราที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ ถึงวันนั้นเราก็เอาผู้ซื้อผู้ขายลงได้เลย โครงการที่เคยจะทำ อย่างแอร์พอร์ตซิตี้ ทำไม่ได้ก็ติดข้อกฎหมาย ถ้าเคลียร์ได้ ต่อไปก็น่าจะเดินหน้าได้”

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ

นอกจากนี้ ในส่วนรายได้ที่มาจากกิจการการบิน หรือ Aero อย่างสนามบินเชียงรายเป็นสนามบินแห่งเดียวที่ยังขาดทุน ผมจึงจัดให้เจ้าของบริษัททัวร์จากประเทศจีนประมาณ 30 คน มาประชุมร่วมกับเจ้าของกิจการโรงแรม เจ้าของกิจการสปา ประชุมกัน 2-3 วัน ก็รู้ว่าคนจีนอยากไปท่องเที่ยวที่ไหน ฝั่งผู้ขายหรือเจ้าของร้านค้า สปา โรงแรมจะให้ส่วนลดแก่เจ้าของทัวร์จีนได้เท่าไหร่ จนได้แพ็กเกจทัวร์ที่ดีนำไปขายที่ประเทศจีน ปัจจุบันที่สนามบินเชียงรายก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาที่เชียงราย แต่ก็ยังไม่มากนัก

อันนี้เป็นหลักการที่ ทอท. ทำในสิ่งที่เรียกว่า must have เช่น ความปลอดภัย ความมั่นคง ตามหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กฎตลาดหลักทรัพย์ สตง. เป็นพื้นฐานที่ต้องทำ ถ้ายังทำแล้วยังไม่โปร่งใสก็ต้องพัฒนากันไป เพราะเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำ แต่ส่วนอื่นเราก็เอื้ออำนวยความสะดวก เช่น ดูแลเรื่องแท็กซี่ รปภ. ตอนนี้ที่เร่งทำคือกฎเกณฑ์ พอกฎชัดเจนก็ปล่อยให้ตลาดเขาเล่นกัน

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ภาพของ ทอท. มันเหมือนมัวๆอยู่ ทุกคนมองว่าเหมือนแดนสนธยา

ผมว่ามี 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นแดนสนธยาจริง และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องการไม่ประชาสัมพันธ์ การไม่ประชาสัมพันธ์อาจจะเพราะมีความเป็นแดนสนธยามันจึงไม่ประชาสัมพันธ์ หรืออาจเป็นเพราะว่ามีความโปร่งใสแต่ไม่มีคนทำประชาสัมพันธ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังเชื่อว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ผมก็พยายามทำให้โปร่งใสขึ้นเรื่อยๆ อย่างสุภาษิตจีนที่ว่า โกหกคนคนหนึ่งอาจจะโกหกได้ตลอดชีวิต แต่โกหกสาธารณะโกหกไม่ได้แม้แต่วันเดียวเดือนเดียว ส่วนตัวผมนั้นบางทีพนักงานเสนอขึ้นมา เราก็ไม่รู้ หน้าที่อย่างเดียวที่ต้องทำคือต้องทำทั้งระบบให้โปร่งใส และต้องช่วยกันดู มีอะไรร้องเรียน มันไม่ถูก เรานั่งเบอร์หนึ่ง เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องรับผิดชอบ ยังดีกว่าที่จะปล่อยไปโดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูก ก็ฝากสื่อด้วย ผมยินดีมาก ประโคมข่าวที่ไม่ถูกต้อง เป็นการช่วยในการตรวจสอบ

ไทยพับลิก้า: โดยส่วนตัวก็รู้สึกได้ ว่าจริงๆ แล้ว มันก็ยังมีอะไรอึมครึมอยู่

ทุกเรื่อง พอไล่ไป เขาก็มีเหตุผลของเขาหมด ถามว่ารู้สึกได้ไหม บางเรื่องไล่ไปก็มาเข้าใจเขาทีหลัง บางเรื่องไล่ไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งการไม่เข้าใจเราก็ไม่แน่ใจว่ามันถูกหรือผิด มีบางกรณีที่ไล่ไปแล้วชัดเจน ก็มีการตั้งกรรมการสอบสวนไปหลายคณะ ถามว่าเกรย์ๆ เราไม่รู้ว่าเขาผิดหรือเราไม่ค่อยเข้าใจระบบ บางทีก็ต้องยอมรับว่ากลไกการปฏิบัติต่างๆ มอบอำนาจให้คนนี้ คนนี้รับมอบอำนาจแล้วมีอำนาจเซ็นหรือไม่ ก็ต้องมานั่งสอบว่ากรณีนี้ถือว่ามีอำนาจไหม ผมเข้ามาตั้งกรรมการสอบสวนไป 4 ชุด ไล่พนักงานออกไป 8 คน บอร์ดชุดนี้โชคดีไม่มีการเมืองแทรกแซง

ถามว่ายังรู้สึกไหม องค์กรที่มีพนักงานประจำมีประมาณ 5,000-6,000 คน จ้างบริษัทภายนอก (Outsource) มาช่วยทำงานกว่า 10,000 คน รวมแล้วเกือบ 20,000 คน… เหมือนไสยศาสตร์ อะไรที่เราพิสูจน์ไม่ได้อย่าไปบอกว่าไม่มี อันนี้ก็เหมือนกัน บางส่วนก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ค่อยๆ ไล่พิสูจน์ไป

ไทยพับลิก้า: ต้องมาวางระบบ

ใช่ มันก็เวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง บางระบบเป็นเรื่องปกติที่มีการต่อต้านบ้าง ก็อย่างที่บอก กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ก็โชคดีที่รัฐบาลชุดนี้ไม่แทรกแซง ผมพูดได้เต็มปากว่าไม่แทรกแซงเลย มีจ้ำจี้จ้ำไชผมมากเรื่องสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง ทำไมไม่ลงทุนเสียที เรื่องดอนเมืองทำไมแออัด เรื่องอื่นไม่มี

ไทยพับลิก้า: เฟส 2 กำลังทำอยู่ใช่ไหม

กำลังยกร่าง TOR คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ตอนนี้ไปที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เฟส 2 นี้มี 7 สัญญา ค่อยๆ ทะยอยมา 2 สัญญาแรกน่าจะผ่านความเห็นชอบบอร์ดหลังจากกลับมาจาก คตร. ถ้าไม่แก้เยอะ ประชุมบอร์ดเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะออก 2 สัญญา ก็เปิดประมูลได้เลยเดือนมีนาคม 2559 พอผู้ประกอบการได้ TOR ก็ให้เวลาเขา 2 เดือน หลังจากนั้นก็เข้าบอร์ดเคาะ คาดว่าไตรมาส 2 น่าจะได้ตอกเสาเข็ม คาดว่าจะเสร็จปี 2562

7 โครงการนี้มูลค่าโครงการเดิม 62,000 ล้านบาท เป็นกรอบจาก ครม. แต่เราปรับลดลงได้ 7,000 ล้านบาท ไม่ได้ลดสเปก แต่ค่าวัสดุก่อสร้างมันถูกลงตามราคาน้ำมัน คงเหลือวงเงินค่าก่อสร้างจริงประมาณ 55,700 ล้านบาท

ไทยพับลิก้า: สัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากรที่สุวรรณภูมิครบปี 2563 และสนามบินเฟส 2 เสร็จใกล้กัน ทอท. จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่

ต้องเปิดประมูล รอบที่แล้วที่ต่อสัญญาออกไปนั้นเพราะนโยบายรัฐบาล มันเป็นปัจจัยภายนอก แต่ถ้าถามผมในฐานะผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ก็มีหน้าที่ทำตามสัญญา สัญญาหมดก็ต้องเปิดประมูล

ก็เชื่อว่าการประมูลก็ต้องเปิดก่อน เพราะการจัดหารายใหญ่ขนาดนี้ ก็จะร้องเรียนกัน ก็คงเปิดประมูลปี 2562 อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมาการจัดซื้อมีปัญหา TOR จะปิดประตูอย่างไร

TOR ของ ทอท. จะเป็น TOR มาตรฐานที่ส่งให้อัยการ จะมีงานบางงานเชิงเทคนิคมาก ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจาก TOR มาตรฐาน พอเปลี่ยนก็เป็นกระบวนการภายใน พอเปิด TOR ก็มีคนร้อง ก็เป็นกระบวนการภายนอกที่ช่วยกันดู ใครเสียผลประโยชน์ก็มีการร้อง เป็นกฎแห่งกรรม ผมเชื่อว่าพอเปิดออกไป อะไรที่ไม่โปร่งใสเขาก็ร้องเอง ผมว่ามันก็ดีไปอีกแบบ แย่ไปอีกแบบคือช้า

ไทยพับลิก้า: รอบหน้าสัมปทานร้านค้าปลอดอากรสนามบินสุวรรณภูมิเปิดประมูลแน่ๆ

ต้องเปิดประมูลแน่นอน ก็ต้องช่วยกันดูเงื่อนไข ทุกคนต้องช่วยกันดูว่าเกมที่เล่นกันอยู่มันแฟร์หรือยัง ถ้ามันใช่ ผลที่ออกมาก็ออกตามเกม พวก TOR ก็ต้องช่วยกันดูเรายินดีเปิดเผยอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: จุดรับสินค้าต้องผูกในสัญญาเดียวกัสัมปทานร้านค้าปลอดอากรหรือไม่

กิจกรรมทางการค้าใดๆ ก็ตาม (commercial activity) ทุกอย่างที่อยู่ข้างในเทอร์มินัล สัญญาเป็นของคิง เพาเวอร์ และ pick up counter ก็เป็นธุรกรรมหนึ่งในนั้น

commercial activity มีได้หลายรูปแบบ จะเรียกว่าอะไร มันรวมในสัญญา แต่กิจกรรมพวกนี้เพิ่งมี ผมชื่อนิตินัยแต่ไม่ใช่นักกฎหมาย (หัวเราะ) แต่ผมเชื่อว่าสัญญาถัดไปก็ต้องเขียนให้ชัด ไม่อย่างนั้นต้องมาตีความว่า commercial activity ไหนละเว้น ไม่ละเว้น เพราะในเชิงธุรกิจ วิธีการดำเนินงานธุรกิจ มีรูปแบบ แตกต่างและเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ ผมเชื่อว่าต่อให้ทำสัญญาใหม่ก็ต้องเขียนให้คลุมไว้ คงไม่มีการละเว้นในรูปแบบ A รูปแบบ B

การประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร การได้อนุญาตจากกรมศุลกากรก็เรื่องหนึ่ง พอได้แล้วการจะมีเคาน์เตอร์ในพื้นที่ดิวตี้ฟรี กลับกลายเป็นว่าพื้นที่นี้เป็นของคิง เพาเวอร์ ประเด็นการได้มาซึ่งกิจการดิวตี้ฟรีก็ส่วนหนึ่ง แต่การจะเข้ามาในพื้นที่ มันติดปัญหาว่าพื้นที่ที่จะมีจุดรับสินค้านั้นมีเจ้าของแล้ว

ที่มาภาพ : http://www.kingpower.com
ที่มาภาพ : http://www.kingpower.com

ไทยพับลิก้า: ทอท. สามารถจัดพื้นที่เพื่อรองรับใบอนุญาตที่ได้จากกรมศุลได้ไหม

ตอนที่ประมูลร้านค้าเชิงพาณิชย์ ไม่มีระบุว่าจะเป็นรูปแบบไหน ในอนาคตรูปแบบธุรกิจก็เปลี่ยน ดังนั้น การเขียนสัญญา (ผมไม่ได้เขียนนะ) ว่า any commercial activity เพราะคุณไม่รู้ว่ากิจกรรมจะเป็นอะไร

เมื่อคิง เพาเวอร์ คุมหัวหาด ห้ามขึ้นที่หาด ก็จบ

ดังนั้น การขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร โดยผู้ขอใบอนุญาตต้องมีพื้นที่ที่ใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า “Pick up Counter” แต่ปัญหาคือ พื้นที่ทั้งหมดที่จะใช้ทำจุดส่งมอบสินค้านั้นมีเจ้าของ ถ้าอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิก็มีบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนสนามบินดอนเมืองในเขตพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรเป็นของบริษัท คิง เพาเวอร์ ส่วนในเขตพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก็เป็นของเดอะมอลล์กรุ๊ป

สำหรับพื้นที่ที่ใช้ทำ Pick up Counter ตามหลักการต้องอยู่ใน Duty Free Zone หากไปอยู่นอกพื้นที่ เช่น ไปตั้งอยู่ในซอยรางน้ำหรือสีลม กรมจัดเก็บภาษีคงไม่ยอม เพราะตรวจสอบและควบคุมยาก ผมเคยซื้อสุราต่างประเทศที่ร้านค้าปลอดอากรในดอนกิโฮเต้ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ศุลกากรห้ามแกะวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มกล่องจนกว่าจะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าปลอดภาษีเหล่านี้ออกนอกประเทศไปแล้ว”

ไทยพับลิก้า: ต่างประเทศมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีหลายราย ประเทศไทยมีรายเดียว ทอท. เคยศึกษาเปรียบเทียบกับของไทยไหม

เคย ประเด็นนี้ อย่างที่ผมกล่าวในข้างต้น คือ ต้องมีคนซื้อ คนขาย และตลาด สนามบินในต่างประเทศ ถ้ามีผู้โดยสารน้อย ฝั่งคนขายของก็ไม่อยากขาย บริษัทท่าอากาศยานส่วนใหญ่เปิดร้านขายของเอง ข้อดี คือ การท่าอากาศยานได้เงินโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ข้อเสีย คือ ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินเวลา 4 ทุ่ม มีร้านค้าเปิดอยู่ 1 ร้าน ปิด 4 ร้าน ผู้โดยสารไม่มีอาหารกิน ร้านกาแฟก็ปิด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับสนามบินเล็กๆ ทำตามอัตภาพ

แต่ถ้าเป็นสนามบินขนาดใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานก็ไม่มีปัญญาไปติดต่อหาสินค้าแบรนด์ดังๆ อย่าง Samsonite หรือ Ferragamo มาขาย ไม่มีคลังสินค้าเก็บน้ำหอม สุรา ยาสูบ ดังนั้น สนามบินขนาดใหญ่จะใช้ระบบสัมปทานหมด (Master Concessionaire)

สำหรับ ทอท. ก็ต้องมาทบทวนว่า สนามบินแห่งไหน ทอท. ควรจะเปิดให้บริการเองหรือเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน อย่างที่สนามบินดอนเมือง ที่อาคาร 2 หลังจากเปิดให้บริการมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4,000 ตารางเมตร ในส่วนนี้ ทอท. ดำเนินการเอง โดยจัดสรรพื้นที่ทั้งหมด 408 ร้านค้า เปิดให้เอกชนเข้ามายื่นซองประมูลเช่าร้านค้าเป็นรายๆ ไป แต่ละร้านจะมีราคากลาง ค่าเช่าจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ใครเสนอราคาสูงกว่าราคากลางก็ได้รับสิทธิการเช่าไป ล่าสุดมีผู้มายื่นซองประมูลร้านค้าแล้ว 110 ราย ถามว่า ทอท. จะมีรายได้จากการประมูลเท่าไหร่ ยังบอกไม่ได้ ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ก่อน แต่ถ้าจะให้ประมาณการรายได้ คงไม่ต่ำกว่าราคากลาง ซึ่งทาง ทอท. ประเมินไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

บางส่วน ทอท. ก็ทำเอง บางส่วนก็เปิดประมูลให้เอกชนมาเช่าพื้นที่ ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าเป็นรูปแบบที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะสนามบินดอนเมืองมีอัตราการเติบโตสูงมาก

ส่วนสนามบินภูเก็ต ตอนนี้ผู้โดยสารมีกำลังซื้อมากพอสมควร ทอท. ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ก็ช่วยกันดูสัญญาว่า TOR โอเค ทำตามกติกา แฟร์เกมไหม รายไหนประมูลไม่ได้ก็อย่าต่อว่ากัน ต้องเล่นกันในเกมกติกาที่กำหนดไว้

เรื่องการเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากร สุดท้าย ทอท. ก็ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเปิดร้านค้าปลอดอากรเอง หรือเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาทำ เหมือนกับการประมูลใบอนุญาต 3G ตอนนั้นยังไม่ถือว่าเป็นใบอนุญาตที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แต่พอเปิดประมูล 4G ปรากฏว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของไทยแพงที่สุดในโลก

ไทยพับลิก้า: ทำไม ทอท. เก็บภาษีสนามบิน (PSC) แพง

การจัดเก็บภาษีสนามบิน จริงๆ ทอท. มีต้นทุนเฉลี่ย 500 บาทต่อหัว แต่นโยบายของรัฐบาลในอดีตให้ ทอท. อุดหนุนคนไทย ภายในประเทศเก็บ PSC หัวละ 100 บาท ระหว่างประเทศเก็บ PSC หัวละ 700 บาท ดังนั้น สนามบินแห่งใดเปิดเที่ยวบินภายในประเทศมาก ก็ขาดทุน เช่น สนามบินหาดใหญ่บินเข้ากรุงเทพฯ ก็มีชาวมาเลเซียนั่งรถยนต์มาหาดใหญ่เพื่อขึ้นเครื่องบินมากรุงเทพฯ เหมือนกับคนกรุงเทพฯ ขึ้นเครื่องบินไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อเดินทางข้ามไปประเทศลาว กรณีนี้เก็บค่า PSC ได้หัวละ 100 บาท แต่ที่สนามบินเชียงใหม่กำไรเพิ่มขึ้น 50% เพราะมีทัวร์จีนพานักท่องเที่ยวเดินทางเข้าที่เชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ

“นักวิชาการหลายคนมองว่า ทอท. เปรียบเสมือนเสือนอนกิน แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นหมูออมสินมากกว่า”

ช่วงที่ผมเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เคยคำนวณหาค่า PSC โดยใช้กรณีศึกษาของเครื่องบิน A-380 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนัก 54,000 ตัน ลงจอดในสนามบินกระแทกพื้นสนามบินกี่ครั้งต้องซ่อม เอาจำนวนครั้งที่กระแทกและต้องซ่อมมาเป็นฐานในการกำหนดอัตราภาษีสนามบิน เครื่องบินลงมาแล้วจอดนานเท่าไหร่ เอามาหารด้วยจำนวนผู้โดยสารช่วงปี 2553 สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารสูงสุด 45 ล้านคน แต่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกจริง 42 ล้านคน คำนวณต้นทุนเฉลี่ยต่อหัว 500 บาท แต่นโยบายรัฐบาลให้อุดหนุนคนไทย

ดังนั้น ถ้าขึ้นเครื่องบินเดินทางภายในประเทศ คิดค่า PSC หัวละ 100 บาท ถ้าบินระหว่างประเทศ 700 บาท ผมกลับมาเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ปีที่แล้ว ยอดผู้โดยสารปี 2558 เพิ่มเป็น 52 ล้านคน เกินความสามารถที่สนามบินจะรองรับได้ไป 7 ล้านคน ผลกระทบที่ตามมาคือ ทำให้ผู้โดยสารต้องลำบาก ไม่สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น เพื่อความยุติธรรม ทอท. จะไม่ปรับขึ้นค่า PSC เพื่อนำเงินมาสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 แต่จะใช้เงินที่เคยเก็บมาจากผู้โดยสารมียอดสะสมอยู่ที่ 51,000 ล้านบาท มาใช้ในการก่อสร้างสนามบิน เพื่อชดเชยให้ผู้โดยสารที่ยอมสละความไม่สะดวกสบายช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีงบประมาณ 2558 สนามบินทั้ง 6 แห่งมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 106 ล้านคน ถ้าคิดแค่สนามบินสุวรรณภูมิมีคนเดินทาง 52 ล้านคน ถามว่ามีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ไหนภายใน 1 ปี มีคนมาเดิน 52 ล้านคน ใช้เวลาเดินเพียง 10-20 นาที ยอมจ่ายเงินซื้อของแทบจะหมดกระเป๋าก่อนขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ทอท. ต้องเร่งทำคือต้องยืนด้วยลำแข้งของตนเองให้ได้ พยายามพัฒนาพื้นที่เพิ่มรายได้ Non-Aero เร่งเคลียร์กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน สร้างศูนย์ประชุม โรงแรม พัฒนาที่ดินที่มีอยู่ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาประเทศไทย ทอท. จะมีรายได้จาก Non-Aero มาทดแทน”

สรุป ทอท. ต้องทำทั้งกิจกรรมเชิงพาณิชย์และรัฐวิสาหกิจควบคู่กันไป เมื่อปี 2558 ทอท. ได้รับการจัดอันดับเข้าไปอยู่ Dow Jones Sustainability Index หรือ “DJSI” ถือเป็นท่าอากาศยานแห่งแรกของเอเชีย (ยกเว้นท่าอากาศยานที่อยู่ในเอเชียแต่ถือหุ้นโดยต่างชาติ)